AI นิยามแห่งการเชื่อมโยงสื่อสารและวัฏจักรการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่

ปัจจุบัน เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ได้ช่วยผลักดันให้นานาประเทศปรับเปลี่ยนกรอบความคิดในการเตรียมตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และอาจช่วยเพิ่มมูลค่าของเศรษฐกิจดิจิทัลทั่วโลกให้เติบโตได้เกือบเท่าตัวหรือประมาณ 23 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 จากมูลค่าราว 12.9 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 17.1 ของจีดีพีทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม รายงานวิจัยชิ้นใหม่ของหัวเว่ยได้ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี AI อาจเป็นอุปสรรคขวางกั้นการเจริญเติบโตครั้งนี้

รายงาน Global Connectivity Index 2018 (GCI) ของหัวเว่ยซึ่งเผยแพร่มาเป็นปีที่ห้า พบว่าหลากหลายอุตสาหกรรมได้นำ AI มาผสมผสานกับเทคโนโลยีสำคัญต่าง ๆ ทั้งบรอดแบนด์, ดาต้าเซ็นเตอร์, คลาวด์, บิ๊กดาต้า และ IoT เพื่อปรับเปลี่ยนการเชื่อมโยงสื่อสารให้มีความอัจฉริยะ (Intelligent Connectivity) และเอื้อให้นวัตกรรมต่าง ๆ ผลักดันให้เกิดคลื่นแห่งการเติบโตทางเศรษฐกิจลูกใหม่

ปัจจุบัน เศรษฐกิจดิจิทัลได้รับแรงขับเคลื่อนจากอินเทอร์เน็ตที่ยึดความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ในขณะเดียวกันก็มีอุตสาหกรรมจำนวนมากขึ้นที่อาศัยการเชื่อมโยงสื่อสารอัจฉริยะแบบใหม่ช่วยสร้างรูปแบบธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ ขั้นตอนการดำเนินธุรกิจ และบริการใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้กราฟคะแนน GCI เติบโตเพิ่มขึ้นอีก พร้อมทั้งเปิดวัฏจักรใหม่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย

รายงานฉบับนี้ยังพบอีกด้วยว่า การจะใช้เทคโนโลยี AI ในสเกลใหญ่ให้ได้ประสิทธิภาพดีนั้น ประเทศทั้งหลายต้องมีความพร้อมในองค์ประกอบ 3 ประการ ได้แก่ ศักยภาพในการประมวลผล ดาต้าที่เป็นหมวดหมู่ และอัลกอริธึ่ม ปัจจุบันประเทศในกลุ่ม Frontrunner หรือประเทศที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดใน 3 กลุ่มประเทศตามรายงาน GCI นั้น พัฒนาแซงหน้าประเทศในกลุ่ม Adopter และกลุ่ม Starter ในทั้งสามองค์ประกอบ เนื่องจากประเทศกลุ่มนี้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีที่ล้ำหน้ามากกว่า

ผลการวิจัยยังแสดงให้เห็นอย่างต่อเนื่องว่า เมื่อคะแนน GCI ของประเทศหนึ่งเพิ่มขึ้นถึง 35 คะแนน จะทำให้ผลตอบแทนการลงทุนด้านไอซีทีเติบโตขึ้นหลายเท่าตัว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดได้แก่ ฟิลิปปินส์ ซึ่งในระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2560 ที่ฟิลิปปินส์มีการใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีการขยายการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตหลัก ๆ ครอบคลุมประชากรเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ คะแนน GCI ของฟิลิปปินส์ได้ขยับขึ้นจาก 34 คะแนน เป็น 35 คะแนน และทำให้ประเทศฟิลิปปินส์ขยับข้ามจากกลุ่มประเทศ Starter ไปอยู่ในกลุ่ม Adopter ได้เป็นผลสำเร็จ

ทว่าปัญหาความท้าทายสำคัญของทั้งสามกลุ่มประเทศในรายงาน GCI ก็คือการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนา AI ซึ่งรัฐบาลประเทศต่าง ๆ จำต้องคิดทบทวนเรื่องระบบการศึกษาเสียใหม่ให้สอดคล้องกับสถานที่ทำงานในอนาคตที่จะถูกกำหนดโดย AI และเริ่มสร้างระบบนิเวศ AI แบบเปิดที่แข็งแกร่งและสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี เพื่อดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถด้าน AI ระดับสูงไว้

เมื่อ AI ได้รับการพัฒนาให้กลายเป็นเทคโนโลยีหลักที่สามารถนำไปใช้ปฏิบัติจริงได้ ส่งผลให้ประเทศในสามกลุ่มข้างต้นมีโอกาสใหม่ ๆ ด้านเศรษฐกิจรออยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างชะงักงันในบางประเทศในกลุ่ม Frontrunner หรือปัญหาทรัพยากรอันจำกัดของประเทศในกลุ่ม Starter ก็ตาม เทคโนโลยี AI กำลังสร้างนิยามใหม่ที่จะระบุว่า “การเชื่อมโยงสื่อสาร (Connectivity)” ควรมีลักษณะเช่นไร และหันเหความสนใจมาที่การเชื่อมโยงสื่อสารอัจฉริยะมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ทุกประเทศไขประตูไปสู่การเติบโตใหม่ๆ ได้

เควิน จาง ประธานบริหาร ฝ่ายการตลาดองค์กร ของหัวเว่ย กล่าวว่า “ตอนนี้เรากำลังรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงกรอบความคิดที่เริ่มขึ้นจากเทคโนโลยี AI โดยรายงานการวิจัย GCI บ่งชี้ว่า ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจก้าวหน้าและเล็งเห็นโอกาสการเติบโตจากการพัฒนาไอซีที ได้ใช้การเชื่อมโยงสื่อสารอัจฉริยะเพื่อเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ ๆ ในขณะเดียวกันประเทศที่กำลังพัฒนาก็กำลังมองหาวิถีทางที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ เพื่อเร่งรัดแผนการเติบโตเชิงกลยุทธ์ของตนเองไปพร้อมกัน”