6 ทิปส์สำหรับสตาร์ทอัพมือใหม่ ปั้นองค์กรมัดใจชาวมิลเลนเนียล

6 ทิปส์สำหรับสตาร์ทอัพมือใหม่ ปั้นองค์กรมัดใจชาวมิลเลนเนียล

“สตาร์ทอัพ” หรือ บริษัทตั้งใหม่ที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจและมีแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีน้อยหรือยังไม่มีในตลาด โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานเพื่อความคล่องตัว และสนับสนุนไอเดียแปลกๆใหม่ๆ เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจอย่างสร้างสรรค์

แน่นอนว่าหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจสตาร์ทอัพให้ประสบความสำเร็จคือ กำลังคน หรือ ทีมงาน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนกลุ่มมิลเลนเนียล ดังนั้นการมัดใจให้พนักงานชาวมิลเลนเนียลที่มีไลฟ์สไตล์ต่างจากพนักงานรุ่นเก่า เพียงแค่สวัสดิการและเงินเดือนเห็นจะเพียงพอจำเป็นต้องมีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อให้บริษัทกลายเป็นองค์กรที่คนเจเนอเรชั่นนี้หมายปอง

ดังนั้น บิสิเนสพลัสจึงขอหยิบทิปดีดีจาก ช้อปปี้ (Shopee) สตาร์ทอัพดาวรุ่งที่มีทีมงานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่มาแชร์เทคนิคการทำงานร่วมกับชาวมิลเลนเนียล เผื่อท่านผู้อ่านสนใจนำไปประยุกต์และปรับใช้เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับชาวมิลเลนเนียลได้อย่างราบรื่น

มิเลนเนียล

เทเรนซ์ แพง ประธานฝ่ายปฏิบัติการช้อปปี้ เปิดเผยว่า “ช้อปปี้ เป็นสตาร์ทอัพดาวรุ่ง และเป็นออนไลน์ช้อปปิ้งแพลทฟอร์มที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วแม้ว่าจะเพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคมปี 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งการที่ช้อปปี้เติบโตอย่างรวดเร็วนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเรามีทีมงานที่มีประสิทธิภาพและมีศักยภาพ ซึ่งปัจจุบันเรามีพนักงานจำนวนกว่า 250 คนในประเทศไทย โดยเรามีกลุ่มชาวมิลเลนเนียลเป็นกำลังหลักของทีม

ด้วยเหตุนี้ เราจึงมีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ มาประยุกต์ใช้จนสามารถมัดใจพนักงานชาวมิลเลนเนียล ต่อไปนี้

· ปรับตัวให้ไว ตามให้ทัน

ชาวมิลเลนเนียลเป็นกลุ่มคนที่เปิดกว้างทั้งในเรื่องของแนวคิดและวิธีการ พวกเขาจึงพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ เพราะฉะนั้น บริษัทฯ จึงควรมองว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ดี อีกทั้งควรเปิดกว้างรับสิ่งใหม่ๆ และพร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและเหตุการณ์อยู่เสมอ

· สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ยืดหยุ่น

การทำงานของคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนด้วยเป้าหมายเป็นหลัก เมื่อตั้งเป้าหมายไว้แล้วก็อยากบรรลุเป้าหมายให้ได้เร็วที่สุด ดังนั้นชาวมิลเลนเนียลจึงมีความยืดหยุ่นเรื่องเวลาเพื่อให้การทำงานบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะฉะนั้นสตาร์ทอัพควรปรับวิธีการทำงานให้ยืดหยุ่น และสนับสนุนให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายนั้นให้ได้ นอกจากนี้ พวกเขายังมองว่าสภาพแวดล้อมในการทำงานควรให้ความรู้สึกผ่อนคลายและยืดหยุ่น

ดังนั้นสตาร์ทอัพจึงควรคำนึงถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานรวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในสถานที่ทำงาน เช่น ระบบโต๊ะทำงานแบบฮอทเดสก์ (Hot Desk) และพื้นที่สำหรับการพักผ่อน เป็นต้น จากแนวคิดนี้ ช้อปปี้ จึงได้ออกแบบและตกแต่งออฟฟิศให้ตรงกับลักษณะนิสัยและความต้องการชาว มิลเลนเนียล

· ทุกเสียงมีความสำคัญ

การได้พูดคุยอย่างตรงไปตรงมากับเพื่อนร่วมงานรวมไปถึงผู้บริหาร คือ สิ่งที่ชาวมิลเลนเนียลต้องการเช่นกัน เพราะพวกเขามองว่าการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาจะช่วยประหยัดเวลาและทำให้งานเสร็จลุล่วงได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ชาวมิลเลนเนียลจะชอบแสดงความคิดเห็นรวมถึงเสนอไอเดียแปลกใหม่อยู่เสมอ

ดังนั้น การรับฟังความคิดเห็น ตลอดจนเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่ในการแสดงศักยภาพและความสามารถผ่านความคิดและข้อคิดเห็นต่างๆ อย่างเต็มที่ก็เป็นอีกเรื่องที่บริษัทไม่ควรมองข้าม

· ถามมา-ตอบกลับ ให้ฟีดแบ็คอย่างรวดเร็ว

ชาวมิลเลนเนียลเกิดมาในยุคที่เทคโนโลยีล้ำสมัย ที่ช่วยให้การสื่อสารโต้ตอบกันได้อย่างรวดเร็วเพียงปลายนิ้วสัมผัส คนกลุ่มนี้จึงคาดหวังที่จะได้รับการตอบรับอย่างรวดเร็วทั้งจากหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน หรือผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อนำไปปรับปรุง พัฒนา หรือสานต่องานนั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว วิธีนี้จะทำให้ทีมงานทุกระดับมีการสื่อสารที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น การตอบกลับอย่างรวดเร็ว รวมถึงความพร้อมในการให้คำแนะนำของหัวหน้า ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการปรึกษาหารือระหว่างผู้ร่วมงานกันเอง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้พวกเขาได้พัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น

· ลดกำแพงระหว่างกัน ตำแหน่งไหนก็คุยกันได้

เรารู้กันดีว่าชาวมิลเลนเนียลเป็นกลุ่มคนที่ชอบการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมากับทั้งเพื่อนร่วมงานและผู้บริหาร ดังนั้นสิ่งที่สตาร์ทอัพควรทำก็คือ การลดระบบตามลำดับขั้น (hierarchy) ภายในสถานที่ทำงานเพื่อลดช่องว่างของคำว่าเจ้านายและลูกน้อง เพื่อให้ทุกคนในบริษัทเกิดความรู้สึกว่าสามารถคุยกับใครก็ได้โดยไม่มีกำแพงของตำแหน่งเป็นข้อจำกัดและกล้าที่จะแสดงออกมากขึ้น

นอกจากนี้ การวางตัวของผู้บริหารนอกจากความเป็นผู้นำแล้ว ก็ควรจะวางตัวให้เข้าถึงง่าย ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นของพวกเขาอย่างตั้งใจ

· เพิ่มสกิล เสริมทักษะให้เป็นประจำ

เพราะชาวมิลเลนเนียลเป็นกลุ่มคนที่กระหายความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ ดังนั้นการจัดเทรนนิ่งเป็นประจำเพื่อฝึกฝนทักษะใหม่ๆ ให้พวกเขาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กัน ช้อปปี้เองก็ให้ความสำคัญกับการให้การฝึกฝนที่เพียงพอกับทีมงานเช่นกัน ดังนั้นจึงได้จัดคลาสเทรนนิ่งให้กับทีมงานคนรุ่นใหม่เป็นประจำทุกเดือนในหัวข้อที่แตกต่างกันไป เพื่อที่จะช่วยพัฒนาและอัพสกิลต่างๆ ที่จำเป็น รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นทักษะทั่วไปในการใช้งานโปรแกรม Microsoft Office ไปจนถึงสกิลเฉพาะทาง เช่น การต่อรอง และการพูดคุยกับลูกค้า เป็นต้น

ซึ่งการเทรนนิ่งเหล่านั้นจะพัฒนาความสามารถ ของชาวมิลเลนเนียลให้ทำงานที่ได้รับมอบหมายได้สำเร็จ นอกจากนี้ สตาร์ทอัพควรให้โอกาสกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ด้วยการลงมือทำด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่สตาร์ทอัพเท่านั้นที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับเจเนอเรชั่นใหม่ แต่ชาวมิลเลนเนียลเองก็ควรปรับตัวและเปลี่ยนแปลงตัวเองเช่นกัน เพื่อให้เป็นบุคลากรตามที่บริษัทคาดหวัง และสามารถทำงานกับสตาร์ทอัพที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วได้อย่างราบรื่น

ซึ่งลักษณะนิสัยที่สตาร์ทอัพส่วนใหญ่มองหาจากกลุ่มคนรุ่นใหม่นั้นคือ มีทัศนคติที่ดีต่องานที่ทำและพร้อมที่จะให้บริการรวมไปถึงรับผิดชอบงานของลูกค้าได้ ยิ่งไปกว่านั้น ชาวมิลเลนเนียลต้องสามารถปรับตัวและปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การรู้จักถ่อมตนเสมอต้นเสมอปลายเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงก็เป็นสิ่งที่ควรมี

สตาร์ทอัพ และองค์กรที่ไม่หยุดนิ่งและเห็น “คน” เป็นทรัพยากรล้ำค่าไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปนานแค่ไหน ก็จะยังคงสามารถทำให้เป้าหมายที่ตั้งไว้ประสบความสำเร็จ เพราะทีมงานที่มีศักยภาพจะช่วยผลักดันให้บริษัทเติบโตได้อย่างรวดเร็ว