Digital Education พลิกโฉมหน้าการศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

เปิดเวทีเสวนาระดมสมองครั้งสำคัญ ทั้งภาครัฐ การศึกษา เอกชน แรงงาน ร่วมกำหนดทิศทางระบบการศึกษาแห่งอนาคตของประเทศไทยด้วยระบบดิจิทัล หวังพลิกโฉมห้องเรียนยุคใหม่การเป็นสู่ระบบการศึกษาดิจิทัล ลดช่องว่างทางการศึกษา สร้างความเท่าเทียม เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการศึกษาที่มีคุณภาพ ทันสมัย เพื่อพัฒนาคน พัฒนาชาติเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสู่ระดับสากล

 

บริษัท เจเนซิส มีเดียคอม จำกัด ผู้สร้างสรรค์และผลิตสื่อมัลติมีเดียเพื่อการศึกษามานานกว่า 20 ปี ได้เปิดระดมสมองผ่านเวทีเสวนาวิชาการ หัวข้อ “การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ด้วยระบบดิจิทัล : สร้างคน สร้างชาติ เพื่อศักยภาพไทยสู่สากล” โดย วิทยา มิตรศรัทธา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเนซิส มีเดียคอม จำกัด กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ทำให้เกิดการตื่นตัวในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านสารสนเทศ (ไอซีที) เพื่อการศึกษามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อสังคมทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ

ทำให้แนวความคิดด้านการศึกษาสมัยใหม่จึงต้องเปลี่ยนแปลง โดยต้องมีการใช้ไอซีที และดิจิทัลในกระบวนการสอนและพัฒนาคนมากยิ่งขึ้น ซึ่งนวัตกรรมที่จะตอบสนองแนวคิดดังกล่าว และได้ใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศที่มีความก้าวหน้าก็คือ “โซลูชั่นเพื่อการศึกษา หรือดิจิทัลแพลตฟอร์ม” ที่ใช้ในการแก้ปัญหา พัฒนา และส่งเสริมคุณภาพการศึกษา ซึ่งเจเนซิสฯ ได้มีการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีมาตรฐานและคุณภาพระดับสากล พร้อมทั้งเนื้อหา สื่อและทรัพยากรการสอนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง รวมถึงเครื่องมือการถ่ายทอดความรู้ในทุกมิติที่สามารถตอบสนองได้ทั้งสถาบันการศึกษา สถาบันพัฒนาบุคลากร องค์กรและหน่วยงาน ผู้เชี่ยวชาญทุกสาขา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่ต่ำ และมีความคุ้มค่ามากที่สุด เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ลดช่องว่างทางการศึกษา เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการศึกษาที่มีคุณภาพ และทันสมัย สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล

 

 

“การเสวนาครั้งนี้นอกจากจะเป็นการระดมสมอง แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นในด้านการศึกษาด้วยระบบดิจิทัลแล้ว เรายังจะได้รู้จักระบบแพลตฟอร์มดิจิทัลที่จะใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การเรียนการสอนของระบบการศึกษายุคใหม่ทำได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และเกิดประสิทธิภาพ โดยการสร้างระบบนิเวศน์ทางการเรียนรู้ หรือ Learning Ecosystem ในแบบที่ทำให้เกิด Personalized Learning มีการสอนแบบตัวต่อตัวได้ วิธีนี้ทำให้กระบวนการสอน พัฒนา ถ่ายทอด ทดสอบ ประเมิน วัดความสำเร็จ และผลลัพธ์เป็นแบบรายบุคคลได้ รวมทั้งยังสามารถจัดการกับความแตกต่างในพื้นฐานของนักเรียนแต่ละคนได้ด้วย โดยยังคงเน้นการยึดตัวนักเรียนหรือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student Centered Education) ในขณะเดียวกันเมื่อ Personalized Learning เกิดขึ้นกับนักเรียนจำนวนมากในชั้นเรียน ในโรงเรียน ในเขตการศึกษา ก็จะเกิดคลังข้อมูลด้านต่างๆ จนกระทั่งมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เป็นผลลัพธ์จากกระบวนการดังกล่าว จนกลายเป็น Big Data และใน Educational Big Data นั้น เราสามารถทำการวิเคราะห์ในแง่มุมต่างๆ เกิดเป็น Educational Analytical Information ที่สามารถนำไปกำหนดยุทธศาสตร์ทางการศึกษาระดับมหภาคได้ต่อไป ซึ่งนักบริหารระดับสูงใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายของประเทศได้ เราอยากให้วิสัยทัศน์นี้ได้เป็นจริงในอนาคตอันใกล้”

 

สำหรับแนวคิดของระบบการศึกษาสมัยใหม่ (Modern Education) นั้น จะมีความยืดหยุ่นสูง ไม่ยึดรูปแบบ เน้นผลลัพธ์ความสำเร็จของผู้เรียนเป็นเกณฑ์ มีการใช้ทฤษฎีการเล่นมาใช้ เพราะเด็กๆ ชอบเล่น จึงต้องนำเรื่องเรียนไปใส่ในการเล่น เช่น การใช้ระบบเกมการศึกษา เกมเพื่อการเรียนรู้ (Game Based Learning and Gamification) หรือการสร้างเกมการศึกษาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างง่าย ประหยัดและสะดวก มีความสนุกสนานทำให้ผู้เรียนสามารถรับความรู้ได้เร็วและจดจำได้ดี ที่ผ่านมาบริษัทเจเนซิสฯ ได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันชื่อ ควิซบุ๊ก(QuizBook) เป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ผ่านการถามและตอบ เป็นความรู้รอบตัวต่างๆ เช่น ความรู้ทางวิชาการและนอกวิชาการ สุขภาพ การออกกำลังกาย อาหาร ยารักษาโรค บันเทิง ศิลปะ ประวัติศาสตร์ ความรู้ของโลก ฯลฯ มีคำถามมากกว่า 50,000 คำถาม สามารถเล่นคนเดียวกับบ็อท (Application Based AI-Robot) หรือชวนเพื่อนแข่งตอบคำถามต่างสถานที่กันได้ และอีกระบบหนึ่ง คือ Project Based Learning เป็นการสอนที่สร้างการเรียนรู้ผ่านโครงงาน มีเป้าหมายให้นักเรียนใช้ความคิดร่วมกัน ทำงานเป็นทีม เกิดความสนุกสนาน เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ตัวอย่างของการใช้ระบบการศึกษาสมัยใหม่ (Modern Education) ที่ใช้เกมเป็นเครื่องมืออีกระบบหนึ่ง เช่น การใช้ Location Based Game ที่มีแอปพลิเคชันทำงานร่วมกับ QR Code หรือการเล่าเรื่องผ่านการประพันธ์นิทานหรือนิยายผ่านเครื่องมือดิจิทัล การสร้างไดอารี่ (Digital Diary) บันทึกเรื่องราวประจำวัน เป็นการฝึกให้เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาทักษะการเขียน เป็นต้น จะเห็นว่าการเรียนรู้ยุคใหม่นั้นจะเกิดขึ้นจากการสร้างประสบการณ์ที่ได้ฝึกการคิดวิเคราะห์ แสดงออก สร้างผลงาน แบ่งปัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผ่านระบบนิเวศการศึกษาที่ถูกออกแบบในรูป Social Network Education ซึ่งจะเป็นการพลิกโฉมการเรียนการสอนในแบบเดิมนั่นเอง