การปฏิวัติอุตสาหกรรมด้านเกษตรครั้งที่ 4 นี้มี 1 ในเป้าหมายใหญ่คือการลดอาหารเสียในระบบลง โดยรายงานจากองค์กรสหประชาชาติ เผยว่า อาหารกว่า 931 ล้านตันจะกลายเป็นของเสียในแต่ละปี ซึ่งมีส่วนต่อการสร้างปัญหาโลกร้อนมากถึง 10% เลยทีเดียว ขณะที่ในกระบวนการผลิตอาหารจะสร้างของเสียถึง 17% ในแต่ละปีเลยทีเดียว โดยของเสีย 61% มาจากครัวเรือน 26% มาจากธุรกิจบริการด้านอาหาร และ 13% มาจากกลุ่มอุตสาหกรรมค้าปลีก
อาหารเสียจึงเป็นภาระของระบบจัดการอาหาร ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อความไม่มั่นคงทางอาหาร และสร้างปัญหาโลกร้อน การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และปัญหามลพิษ ซึ่งทางองค์กรสหประชาชาติ ได้มีการพูดคุยและมอบหมายพันธกิจให้กับกลุ่มประเทศสมาชิกหาทางที่จะลดของเสียในระดับครัวเรือนและค้าปลีกลงให้ได้ครึ่งหนึ่งในภายในปี 2030
จากการประเมินคาดว่าของเสียจากอาหารจะสูงกว่าตัวเลขที่แสดงออกมาจริงถึง 2 เท่าเลยทีเดียว ซึ่งจากการศึกษาพบว่าปัญหาการกินเหลือและทานไม่หมดส่วนมากจะเกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนปัญหาอาหารเสียที่อยู่ในขั้นตอนตั้งแต่การผลิต การเก็บรักษา และการขนส่ง เป็นเรื่องสำคัญในประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้รายงานยังพบอีกว่าอาหารเสียจากครัวเรือนจะสัมพันธ์กับรายได้ของพวกเขา หรือพูดง่าย ๆ ก็คือยิ่งมีเงินเยอะก็มีแนวโน้มจะกินทิ้งกินขว้างมากขึ้นนั่นเอง
แรงจูงใจของการเปลี่ยนผ่านระบบอาหาร
องค์กรอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ประเมินว่า มีคนทั่วโลกมากกว่า690 ล้านคนยังคงอดอยาก และตัวเลขน่าจะขยับเพิ่มขึ้นอีกหลังสถานการณ์ COVID-19 สะท้อนถึงผลกระทบของความไม่มั่นคงด้านอาหาร โดยมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไปจากเรื่องนี้ทาง The World Economic Forum คาดการณ์ว่าจะสูงถึง 936,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 28 ล้านล้านบาทโดยประมาณ
โดยภาพรวมแล้วระบบอาหารได้สร้างต้นทุนให้กับสังคมทั้งในมุมสุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมเป็นมูลค่าสูงถึง 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 360 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 20% ของมูลค่าตลาดของระบบอาหาร ทำให้การเปลี่ยนผ่านระบบอาหารจะต้องกลับไปตั้งต้นตั้งแต่ การปรับเปลี่ยนนโยบายเสียใหม่ของผู้กับกำดูแลในด้านนี้
ขณะที่ภาคเอกชนก็จำเป็นต้นปรับรูปแบบการทำธุรกิจใหม่เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านฝั่งนักลงทุนเองก็ต้องตั้งมาตรฐานใหม่ให้กับบริษัททั้งหลาย และพร้อมกับการสนับสนุนให้ผู้บริโภคหันมาสนใจผลิตภัณฑ์ที่รับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ทั้งหมดก็เพื่อบรรลุเป้าหมายการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ลดความอดอยาก กระจายความเจริญและรายได้ พร้อมกับดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน เพื่อเป้าหมายใหญ่คือ การสร้างความยั่งยืนให้กับระบบอาหารโลก
เขียน : เอกพล มงคลพัฒนกุล
#อาหารเสีย #businessplus #อุตสาหกรรมเกษตร #นวัตกรรม #Aquaponics