5 องค์ประกอบสำคัญในการปลุกพลังนวัตกรรมในองค์กร กรณีศึกษา : บริษัท นิชิได (ประเทศไทย) จำกัด
ท่ามกลางกระแสลมแห่งความไม่แน่นอนที่พัดกระหน่ำธุรกิจในยุคปัจจุบัน หลายองค์กรต่างเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวและแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ บริษัท นิชิได (ประเทศไทย) จำกัด เองก็เป็นหนึ่งในนั้น แม้จะไม่ใช่องค์กรขนาดใหญ่ ไม่มีหน่วยงานวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นของตัวเอง และดำเนินงานอยู่ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ภายใต้ร่มเงาของบริษัทแม่จากญี่ปุ่น
บริษัทตระหนักดีถึงความท้าทายในการรักษาความสำเร็จเดิม และมองเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการ “ปรับเข็มทิศ” นำพาองค์กรเข้าสู่ยุคแห่งนวัตกรรม ผู้บริหารระดับสูงเล็งเห็นว่า “การไม่กล้าเสี่ยง” คือความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่ที่สุด จึงจุดประกาย “การเดินทางแห่งการเปลี่ยนแปลง” โดยมอบหมายภารกิจสำคัญในการบุกเบิกธุรกิจใหม่ให้กับทีมงานคนรุ่นใหม่ขององค์กร ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพที่สดใหม่ และความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่
การเดินทางครั้งนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เต็มไปด้วยความท้าทายและโอกาสในการเรียนรู้ ทว่าด้วยวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนของผู้บริหารและการผนึกกำลังของทีมงานรุ่นใหม่ สร้าง 5 องค์ประกอบสำคัญ ที่นำทางไปสู่เส้นทางแห่งนวัตกรรมอย่างน่าสนใจ และเป็นบทเรียนสำหรับองค์กรอื่น ๆ ที่กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนอยู่เช่นเดียวกัน
กว่า 17 ปีที่ บริษัท นิชิได (ประเทศไทย) จำกัด ได้สร้างรากฐานอันมั่นคงในประเทศไทย เริ่มต้นจากการเป็นฐานการผลิตเทอร์โบชาร์จเจอร์ในปี 2551 และขยายสู่ธุรกิจแม่พิมพ์สำหรับงานขึ้นรูปเย็น รวมถึงชิ้นส่วนสโครลสำหรับเครื่องปรับอากาศรถยนต์ในปี 2555 การเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากแรงขับเคลื่อนของการย้ายฐานการผลิตและฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง กลับกลายเป็น “กับดักแห่งความสำเร็จ” ที่นำไปสู่ความลังเลในการปรับตัวและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ดังที่คุณ “โนะริโอะ มิซุยอิ” ประธานบริษัท ได้อธิบายให้เห็นถึงความท้าทายนี้ว่า “ในช่วงเวลาที่ธุรกิจเติบโตอย่างราบรื่น ความลังเลที่จะปรับตัวและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ได้นำพาองค์กรเข้าสู่ภาวะ ‘Innovator’s Dilemma’ และเมื่อตระหนักได้ ผลประกอบการก็เริ่มถดถอยลงอย่างน่ากังวล
สัญญาณนี้ทำให้ผู้บริหารตระหนักถึง “ความจำเป็นเร่งด่วน” ในการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันระยะยาวให้กับองค์กร โอกาสใหม่จึงเกิดขึ้นเมื่อบริษัทได้เข้าร่วมโปรแกรมการพัฒนาธุรกิจใหม่ของ BCon ซึ่งเปรียบเสมือน “การจุดประกายธุรกิจใหม่” โดยมอบหมายให้บุคลากรชาวไทยในระดับผู้ช่วยผู้จัดการเป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนโครงการ เพื่อเปิดเวทีให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ ควบคู่ไปกับการสร้างทีมข้ามสายงานที่ผสานประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจากหลากหลายแผนก เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองและบูรณาการความรู้ที่หลากหลาย อันเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างสรรค์นวัตกรรม
ในบริบทของการสร้างสรรค์นวัตกรรมนั้น ในหนังสือ “Critical Functions : Needed Roles in the Innovation Process” ของ Edward B. Roberts และ Alan R. Fusfeld ได้ชี้ให้เห็นถึง 5 องค์ประกอบหลักในการเชื่อมโยง “ไอเดีย” ไปสู่นวัตกรรมที่จับต้องได้
- Idea Generating : จุดประกาย “ไอเดีย” ใหม่
เมื่อโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรมถูกเปิดกว้าง ผ่านกระบวนการที่ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ ผลลัพธ์ที่ได้นั้น “น่าประทับใจเกินคาด” ดังเช่นประสบการณ์ของทีมงานที่สามารถระดม “ไอเดีย” ได้มากถึง 635 แนวคิด ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เพียงปริมาณ แต่สะท้อนถึงหลักการสำคัญที่ว่า “จุดเริ่มต้นที่ดี คือการเปิดใจรับฟังและสนับสนุนให้มีการเสนอไอเดียอย่างอิสระ แม้ว่าบางแนวคิดอาจดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ในตอนแรกก็ตาม”
เพราะการเปิดกว้างทางความคิดนี้เอง ที่นำไปสู่การค้นพบศักยภาพใหม่ ๆ และการเติบโตที่ไม่คาดคิด ดังที่ทีมงานได้สัมผัสถึงการเปลี่ยนแปลงทางความคิดสร้างสรรค์ของตนเองว่า “จากที่เคยคิดไอเดียได้แค่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานประจำของตัวเองเท่านั้น แต่พอเรียนไปเรื่อย ๆ ก็ปรับทัศนคติ เริ่มมองสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับเรามากขึ้น มองในมุมกว้างขึ้น หลัง ๆ เริ่มคิดออกนอกกรอบเดิมของตัวเอง” ประสบการณ์นี้ได้ตอกย้ำว่า เมื่อปลดล็อกพลังสร้างสรรค์จากทุกส่วนขององค์กร “ไอเดีย” เหล่านั้นเองที่จะนำไปสู่ขุมทรัพย์แห่งนวัตกรรมที่แท้จริง ซึ่งเป็น “รากฐานสำคัญ” สำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร
- Entrepreneuring or Championing : การบ่มเพาะจิตวิญญาณผู้ประกอบการ
ไอเดียที่ดีเลิศเพียงใด หากปราศจากการยอมรับ การผลักดัน และที่สำคัญที่สุดคือ “การลงมือทำ” ก็ย่อมเป็นเพียงนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ หัวใจสำคัญในการจุดประกายนวัตกรรมอย่างแท้จริง จึงอยู่ที่ความสามารถในการนำเสนอแนวคิดอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการสร้าง “วัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้าง” และการปลูกฝัง “จิตวิญญาณของผู้ประกอบการ” การมอบอำนาจและความรับผิดชอบให้ทีมงานได้ลงมือขับเคลื่อนโครงการตั้งแต่ต้นจนจบ
ดังที่ผู้บริหารเน้นย้ำถึงเป้าหมายหลักของโครงการว่า “การพัฒนาบุคลากรชาวไทย การสร้างทีมที่แข็งแกร่ง และการสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่” จึงเป็นการบ่มเพาะทักษะและความคิดแบบเจ้าของกิจการ ดังที่ผู้เข้าร่วมโครงการได้สะท้อนว่า “กิจกรรมนี้ทำให้ผมรู้สึกเหมือนเป็นเจ้าของธุรกิจจริง ๆ การที่เราได้เรียนรู้เรื่องการประเมินและการวางแผน ทำให้ผมเชื่อว่าทุกคนสามารถเป็นเจ้าของกิจการได้”
แม้ในช่วงแรกจะมีความไม่คุ้นเคยและความท้าทาย แต่ด้วยการเรียนรู้และลงมือทำอย่างเป็นระบบ ในที่สุด ทีมงานก็สามารถนำเสนอ “ไอเดีย” จนได้รับการยอมรับจากผู้บริหารและสร้างความภาคภูมิใจร่วมกันว่า “ไม่ว่าไอเดียไหนจะถูกเลือกไปพัฒนาเป็นธุรกิจใหม่ก็ตาม ก็ถือเป็นความภาคภูมิใจของเราทั้งทีม” ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า การเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และการปลูกฝัง “จิตวิญญาณของผู้ประกอบการ” คือ “กุญแจสำคัญ” ในการเปลี่ยน “ไอเดีย” ที่มีศักยภาพ ให้กลายเป็น “ธุรกิจจริง” ที่สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับองค์กรในระยะยาว
- Project Leading : การนำทีมที่แข็งแกร่ง
การนำทีมในการดำเนินโครงการนวัตกรรมให้ประสบความสำเร็จนั้น หัวใจสำคัญอยู่ที่ “ภาวะความเป็นผู้นำ” ที่มีประสิทธิภาพ ผู้นำโครงการมีบทบาทในการสร้าง “กลไกการดำเนินงานที่เหมาะสม” และ “ผลักดันทุกความคิดสร้างสรรค์” ให้พัฒนาไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ในโครงการนี้ การสร้างทีมข้ามสายงาน (Cross-functional Team) ถือเป็นการ “ปลดล็อกพลัง Synergy” โดยการรวมผู้นำจากหลากหลายสาขาที่มี “ความมุ่งมั่น (Grit)” เป็นแรงขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกัน จนเกิดเป็น “ทีมงานที่แข็งแกร่งและทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น” ดังที่พวกเขาได้สัมผัสด้วยตนเองว่า “แต่ละคนมีจุดเด่นที่แตกต่างกันตามประสบการณ์จากแผนกต่าง ๆ และเมื่อรวมกันแล้วรู้สึกถึงความลงตัว”
พลังของทีมไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการรวมความสามารถเฉพาะบุคคล แต่คือ “การผสานมุมมองที่หลากหลาย” เพื่อแก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างครอบคลุม ดังประสบการณ์ที่พวกเขาได้รับจากกิจกรรมการจำลองสถานการณ์ว่า “ความคิดของคนเพียงคนเดียวมีข้อจำกัด การที่แต่ละคนนำเสนอมุมมองที่แตกต่าง ภายใต้การอภิปรายแบบเปิดกว้าง นำไปสู่ผลลัพธ์ที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น”
- Gatekeeping : การควบคุมและคัดกรองไอเดีย
เมื่อใดที่โครงการต้องเผชิญกับความท้าทาย การเปิดรับข้อมูลจากภายนอกและการมี Gatekeeper “ผู้รักษาประตูข้อมูล” ที่คอยรวบรวมและคัดกรองข้อมูลสำคัญ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร เช่น แนวโน้มตลาด เทคโนโลยีใหม่ จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เช่น กระบวนการคัดเลือกไอเดียที่ทีมร่วมกันสร้างมา 635 ไอเดียให้เหลือเพียง 3 ไอเดียสุดท้าย ต้องอาศัยการเปิดใจรับฟังและสร้างเกณฑ์ร่วมกัน หรือการวางแผนและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ จะช่วยให้มองเห็นโอกาสและวางแผนได้อย่างรอบคอบมากขึ้น “แม้จะไม่สำเร็จ 100% แต่ก็ช่วยให้เกิดการคิดอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การหาไอเดีย การหาความได้เปรียบ ไปจนถึงการวิเคราะห์เรื่องการลงทุน” ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่ได้รับจากการเปิดรับ เรียนรู้ และคัดกรองข้อมูลต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไปในการดำเนินงาน
- Sponsoring or Coaching : พลังสนับสนุนจากผู้นำ
ท้ายที่สุด หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนนวัตกรรมคือ พลังแห่งการสนับสนุน จากผู้มีอำนาจในองค์กร ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการอนุมัติงบประมาณ แต่ยังรวมถึงวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และความเชื่อมั่นในศักยภาพของทีมงาน สำหรับนิชิได (ประเทศไทย) ความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ภายใต้กลยุทธ์ระยะกลาง “CHANGE Nichinovation 2026*” (*Nichinovation = Nichidai + Innovation) ไม่เพียงมุ่งเน้นผลลัพธ์ทางธุรกิจในอนาคต แต่ยังให้ความสำคัญกับการเติบโตของบุคลากรและการสร้างคุณค่าต่อสังคมในระยะยาว ความมุ่งมั่นนี้ได้รับการขับเคลื่อนจากการสนับสนุนของผู้บริหารระดับสูง
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริหารระดับสูงขององค์กร รวมถึงประธานจากบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น ได้แสดงบทบาทสำคัญในการ สนับสนุนโครงการตั้งแต่เริ่มต้น โดยทำหน้าที่เป็น “ที่ปรึกษาภายใน” ผู้ถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อเปิดมุมมองในระดับบริหาร และช่วย “เชื่อมโยงความคิดสร้างสรรค์เข้ากับยุทธศาสตร์องค์กร” ที่สำคัญที่สุดคือ การที่ทุกระดับในองค์กรให้ความสำคัญ และร่วมมือกันผลักดันโครงการนี้ให้สำเร็จนั้น เป็นผลมาจากการสนับสนุนและการให้ความสำคัญจากผู้บริหารระดับสูงนั่นเอง
กรณีศึกษาของ บริษัท นิชิได (ประเทศไทย) จำกัด เป็นแรงบันดาลใจสำหรับองค์กรขนาดกลางในประเทศไทย ด้วยการให้ความสำคัญกับการจุดประกายไอเดียใหม่ การบ่มเพาะจิตวิญญาณผู้ประกอบการ การนำทีมที่แข็งแกร่ง การควบคุมและคัดกรองไอเดีย และพลังสนับสนุนจากผู้นำ ก็สามารถสร้าง “นวัตกรรม” ที่ขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนได้เช่นกัน บทเรียนนี้ตอกย้ำว่า นวัตกรรมไม่ได้จำกัดอยู่เพียงองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น แต่สามารถเริ่มต้นและเติบโตได้จาก “ไฟเล็ก ๆ ” ที่จุดประกายจากภายในองค์กรเอง
ทีมที่ปรึกษาของเราพร้อมนำเสนอความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการออกแบบแนวทางการสร้างวัฒนธรรม นวัตกรรม และขับเคลื่อนการเติบโตขององค์กรอย่างยั่งยืน โปรดติดต่อเราที่ info@bcon.asia เพื่อกำหนดเวลาสำหรับการปรึกษาเชิงกลยุทธ์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
เขียนและเรียบเรียง : สาวิตรี ตรีอรุณ Sales Executives บริษัท Business Consultants South East Asia Co., Ltd
ติดตาม Business+ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
Youtube : https://www.youtube.com/@thebusinessplus7829
#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #Business