เทรนด์ดูแลสุขภาพมีแนวโน้มเติบโตอีกมาก ด้วยคนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ซึ่ง ‘เวิร์คสเคพ’ ได้มีการเพิ่ม Value added ให้กับสินค้า โดยเป็นการใส่นวัตกรรมให้กับโต๊ะ และเก้าอี้ เพื่อให้เหนือชั้นกว่าการเป็นเฟอร์นิเจอร์ธรมดา อีกทั้งในความเชี่ยวญชาญด้าน Ergonomic ก็ช่วยให้สามารถเจาะพฤติกรรมของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด พร้อมวางเป้าหมายรายได้ปี 2566 ไว้ที่ 230 ล้านบาท
‘Business+’ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษกับ คุณนพดล ตั้งเผ่าศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวิร์คสเคพ จำกัด (WORKSCAPE) ผู้คร่ำหวอดในวงการของอุตสาหกรรมการทำงาน (Work case) ประกอบไปด้วยเฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์เสริม (Accessory) ซึ่งในปัจจุบัน WORKSCAPE ไม่ได้จำหน่ายเพียงแค่เฟอร์นิเจอร์ธรรมดา แต่มีการยกระดับ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าด้วยการใส่นวัตกรรมเพื่อสุขภาพ ซึ่งจะช่วยให้การทำงานสามารถควบคู่ไปกับการมีสุขภาพที่ดีได้
โดย คุณนพดล เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปี 2565 ที่ผ่านมา WORKSCAPE มีรายได้มากกว่า 194 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิ 4.67 ล้านบาท เป็นผลมาจากผู้บริโภคหันมาใส่ใจสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้นตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งเป็นช่วงที่หลายบริษัทมีมาตรการให้พนักงานทำงานที่บ้าน (Work Form Home) โดยภายหลังมาตรการนี้ผู้คนจึงมีการแสวงหาอุปกรณ์ที่ช่วยส่งเสริมในการทำงานให้สะดวกสบายมากขึ้น สำหรับอุปกรณ์ที่คนทำงานให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือ เก้าอี้ โต๊ะ ต้องมีความเหมาะสม ไม่มีอาการบาดเจ็บจากการนั่งทำงาน ซึ่งส่วนมากกลุ่มคนนั่งทำงานนาน ๆ มักเกิดอาการออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) นี่จึงเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้ผลประกอบการของ WORKSCAPE เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับสัดส่วนยอดขายของ WORKSCAPE แบ่งเป็น งานขายจากโครงการที่เข้าไปร่วมประมูลอยู่ที่ 60% เนื่องจากมีฐานลูกค้าอย่างหนาแน่นจากการที่สินค้ามีคุณภาพและตอบโจทย์ผู้ใช้งานจริง ขณะที่ยอดขายจากบริษัทจัดจำหน่ายและการค้าปลีก อยู่ที่ 40% ซึ่งการค้าปลีกมีการวางจำหน่ายในรูปแบบของโชว์รูมและออนไลน์ โดยทั้งสองช่องทางการขายต่างได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า
ความต้องการแก้ Pain นำไปสู่ใบ Certified Office Ergonomic Specialist
โดย คุณนพดล ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การได้รับการรับรองความรู้ความสามารถในเรื่องการยศาสตร์ในสำนักงาน (Office Ergonomic) หรือก็คือ การจัดสภาพการทำงานในสำนักงานให้เหมาะสมกับพนักงาน เพื่อลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บจากการทำงาน อย่างลักษณะท่าทางการทำงานที่เหมาะสมกับสรีระทำให้สามารถทำงานได้อย่างสะดวกสบายและมีประสิทธิภาพ โดยเป็นผลมาจากการสังเกตพฤตกรรมของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสิ่งใดสิ่งหนึ่งและมักเกิดข้อสงสัยถึงประสิทธิภาพการใช้งาน ซึ่ง WORKSCAPE ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการจึงเริ่มต้นศึกษาควบคู่ไปกับการนำความรู้มาพัฒนาบุคลากรในองค์กรเพื่อให้รู้จริง และสามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าได้
“WORKSCAPE เป็นเจ้าแรก ๆ ของไทยที่มีใบเซอร์นี้ เหตุผลที่เราจริงจังในธุรกิจนี้เพราะเชื่อมั่นว่าเทรนด์ในอนาคตของเฟอร์นิเจอร์จะมาทางด้านนี้แน่นอน ซึ่งการที่รู้ว่าเก้าอี้สามารถช่วยแก้อาการปวดหลังได้อาจไม่เพียงพอ เราต้องรู้ลึกกว่านั้น โดยเวลาเจรจากับลูกค้าเราไม่ได้เจรจาเพื่อขายของ แต่เราเจรจาเพื่อแก้อาการบาดเจ็บให้ลูกค้านั้นคือจุดเริ่มต้นของเรา” คุณนพดล กล่าว
อย่างไรก็ดีในปี 2566 ทาง WORKSCAPE มีการวางเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 230 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใหม่ อย่างเก้าอี้เพื่อสุขภาพที่มีการพัฒนาจากนวัตกรรมรุ่นเดิมให้ตอบโจทย์การใช้งานได้มากขึ้น ซึ่งในช่วง 3 เดือนแรกของการเปิดตัวสินค้านี้อยู่ในระดับท็อป จึงทำให้คาดว่าจะสามารถช่วยผลักดันผลประกอบการให้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
สำหรับแผนในอนาคต คุณนพดล กล่าวว่า WORKSCAPE จะเดินกลยุทธ์สร้างความแตกต่างในด้านผลิตภัณฑ์ (Product Differentiation) และการแข่งขันด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า (Cost Leadership) โดยจะทำการตลาดไปทีละกลุ่มแยกกันอย่างชัดเจน เช่น หากเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่มก็จะทำการตลาดอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นต้น เนื่องจากความสนใจของลูกค้าเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ส่งผลให้ต้องทำการตลาดแบบ Omni Channel ที่นำข้อมูลของลูกค้าที่มีมาพัฒนา และสร้างให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อให้สามารถครองใจผู้ใช้ได้
นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดจากความเชี่ยวชาญในด้านการเป็น Ergonomic โดยได้ร่วมทุนกับบริษัทในเครือเปิด คลินิกกายภาพ ปัจจุบันมี 3 สาขา ได้แก่ ประชาชื่น ราชพฤกษ์ อ่อนนุช ซึ่งจุดแข็งของคลินิก คือ นักกายภาพมีความเชี่ยวชาญในด้านหัตถการซึ่งเป็นสกิลที่หาได้ยาก เพราะหากจับเส้นผิดอาจส่งผลต่อร่างกายได้ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คลินิกมีกระแสตอบรับที่ดี ทำให้มีการวางแผนที่จะขยายสาขาเพิ่มอีกในอนาคต
โดยในมุมของ ‘Business+’ มีอยู่ 3 ปัจจัยหลักที่จะสนับสนุนให้ WORKSCAPE เติบโตไปสู่เป้าหมายรายได้ 200 ล้านได้ไม่ยาก นั่นคือ 1.ภาพรวมอุตสาหกรรมด้านสุขภาพยังคงเป็นเมกะเทรนด์ของโลก ซึ่งในปัจจุบันคนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น 2. WORKSCAPE ไม่ได้ขายเพียงแค่เฟอร์นิเจอร์แต่สิ่งที่เพิ่ม Value added ให้กับสินค้าได้คือ การเป็นผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพที่เหนือกว่าเก้าอี้ธรรมดา และ 3. ความเชี่ยวชาญของ WORKSCAPE ที่ได้ใบรับรอง Certified Office Ergonomic Specialist ที่ถือเป็นเจ้าแรก ๆ ของไทย ซึ่งสามารถช่วยเจาะพฤติกรรมของผู้บริโภค และสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ได้อย่างตรงจุด
.
เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ