วัยทำงาน ถือเป็นวัยที่ใช้ชีวิตแทบจะส่วนใหญ่อยู่กับการทำงาน สถานที่ที่ไปบ่อยที่สุดก็ยังเป็นที่ทำงาน สังคมที่เจอก็เป็นเพื่อนร่วมงานและผู้ที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การทำงานนั้น ๆ ซึ่งแต่ละองค์กรก็มีข้อกำหนดในการทำงานที่แตกต่างกันไป ทั้งในส่วนของวัน เวลา การทำงาน หรือแม้แต่จำนวนชั่วโมงที่อาจจะมากน้อยตามลักษณะงาน อย่างไรก็ดี สิ่งที่วัยทำงานมักจะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันบ่อยครั้ง คือการทำงานที่กำหนดจำนวนวันหรือเวลาในการทำงานที่มากเกินไป ที่ไม่เพียงทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกเหนื่อยล้า แต่ยังกระทบไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน ครอบครัว คนรัก เนื่องจากการมีเวลาในการบริหารจัดการเรื่องส่วนตัวที่น้อยเกินไป และเมื่อเป็นแบบนั้น หลาย ๆ องค์กรก็ประสบกับปัญหาในแง่ของประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานที่ลดน้อยลง กระทบต่อภาพรวมขององค์กร ดังนั้น ในหลายประเทศจึงเริ่มมีการทดลองปรับเปลี่ยนวันทำงานให้น้อยลง ซึ่งผลที่ได้มักจะออกมาดีเกินคาด ทำให้ในปัจจุบันมีประเทศที่ปรับลดการทำงานเหลือเพียง 4 วัน/สัปดาห์ มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในวันนี้ Business+ ได้นำเอาข้อมูลที่น่าเชื่อถือมานำเสนอถึงข้อดีของการปรับลดวันทำงานลง
โดย ข้อมูลจาก ‘World Economic Forum’ ระบุถึงบริษัทที่ทดลองลดจำนวนวันทำงานลง ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งตัวพนักงานและองค์กรในหลายด้าน ดังนี้
- พนักงานทำงานได้มากขึ้น
เนื่องจากการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ทำให้ผู้คนจำเป็นต้องบริหารจัดการเวลาให้ดียิ่งขึ้น โดยในปี 2019 ‘Microsoft Japan’ เริ่มนำนโยบายการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ มาใช้ และนำข้อมูลไปวิเคราะห์ พบว่า ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานเพิ่มขึ้นสูงถึง 40%
พนักงานคนหนึ่งในการไต่สวนคดีที่ไอร์แลนด์กล่าวว่า “ฉันเดาว่าฉันจะระมัดระวังเรื่องปฏิทินมากขึ้นมาก มันเป็นสิ่งหนึ่งในแง่ของการวางแผน เวลาโฟกัส หรือการระบุลำดับความสำคัญของฉันสำหรับสัปดาห์การทำงาน… ไม่ยอมรับการประชุมทุกครั้งที่เข้ามา”
- พนักงานมีความสุขมากขึ้น
พนักงานมากกว่า 9 ใน 10 คน ที่เข้าร่วมการทดลองการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ จากทั่วโลกเปิดเผยว่ายังต้องการให้มีการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ต่อไป โดยให้คะแนนประสบการณ์ 9.1 คะแนน จาก 10 คะแนน ขณะที่เกณฑ์การวัดความเครียดของพนักงาน ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านความเหนื่อยหน่าย, ความเหนื่อยล้า และความขัดแย้งในการทำงาน/ครอบครัว ลดลงทุกด้าน
นอกจากนี้ พนักงานยังเปิดเผยว่าสุขภาพกายและสุขภาพจิตดีขึ้น ซึ่งเกิดจากความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงานทำให้เกิดความพึงพอใจในชีวิตโดยทั่วไปเพิ่มขึ้น แม้ว่าพนักงานบางคนยังคงทำงานบางอย่างในวันหยุด แต่ส่วนใหญ่รู้สึกว่าทำงานได้ดี และมีประสิทธิผลมากขึ้น
โดยพนักงานเหล่านี้เปิดเผยว่ามีการออกกำลังกายมากขึ้น และนอนหลับมากขึ้นจากการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ส่วนด้านครอบครัว ผลลัพธ์จากการสำรวจข้อมูลในสหราชอาณาจักรเป็นบวกอย่างมาก เนื่องจากพบว่าพนักงานเพศชายใช้ดูแลลูก ๆ เพิ่มขึ้น 27 %
- ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม
เมื่อวันทำงานน้อยลง เวลาเดินทางต่อสัปดาห์ก็คาดว่าจะลดลงตามไปด้วย โดยลดลงเฉลี่ยจาก 3.5 ชั่วโมง เหลือเพียงต่ำกว่า 2.6 ชั่วโมง หรือคิดเป็นการลดลง 27% รวมทั้งจำนวนคนที่เดินทางด้วยรถยนต์โดยรวมลดลงจาก 56.5% เป็น 52.5% ของจำนวนพนักงานโดยรวม
โดยผลจากการศึกษาก่อนหน้านี้โดย ‘มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ แอมเฮิร์สต์’ พบว่าการลดชั่วโมงทำงานลง 10% สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของแต่ละบุคคลลง 8.6% ซึ่งต่อมา ‘จูเลียต ชอร์’ นักเศรษฐศาสตร์หัวหน้านักวิจัยกล่าวว่าสัปดาห์การทำงานที่สั้นลงเป็นกุญแจสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯทั่วโลก
- ลดปัญหาบุคลากรขาดงาน-ลาออก
บริษัทจากทั่วโลกที่เข้าร่วมการทดลองทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ รายงานว่ารายได้ขององค์กรเพิ่มขึ้นประมาณ 8% ในช่วงทดลองใช้นโยบายนี้ ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2021 ถึง 37.55% นอกจากนี้ในส่วนของการจ้างงานมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น, การขาดงานลดลง และแม้แต่จำนวนคนที่ลาออกก็ลดลงเล็กน้อย ขณะเดียวกันจากผลสำรวจ พบว่า บริษัทต่าง ๆ ที่ไม่ยอมรับรูปแบบการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ มีแนวโน้มที่พนักงาน 7 ใน 10 คน จะเรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้างระหว่าง 10% ถึง 50%
- ส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจ
‘Sander van ‘t Noordende’ ซีอีโอของบริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลระดับโลก ‘Randstad’ กล่าวในการประชุมประจำปีของ ‘World Economic Forum’ ที่เมืองดาวอสในเดือนมกราคม 2023 ว่าการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ถือเป็น “ความจำเป็นทางธุรกิจ” ในโลกที่ผู้มีความสามารถหายากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น นายจ้างจึงควรเปลี่ยนทัศนคติ โดยเจ้านายควรปฏิบัติต่อพนักงานเสมือนลูกค้า โดยระบุว่า “ลูกค้าของคุณ คุณถามสิ่งที่พวกเขาต้องการและคุณพยายามทำงานให้ดีที่สุดสำหรับลูกค้าของคุณ คุณควรปฏิบัติต่อผู้มีความสามารถอย่างเท่าเทียมกัน” Sander van ‘t Noordende กล่าว
ทั้งนี้ ผลการวิจัยของ ‘Randstad’ แสดงให้เห็นว่าพนักงานครึ่งหนึ่งเต็มใจลาออกจากงานหากไม่มีความสุขในการทำงาน ซึ่งชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นและการทำงานแบบผสมผสานด้านเวลาที่ใช้ในสำนักงานและการทำงานจากระยะไกล เป็นวิธีที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยเพิ่มความพึงพอใจในการทำงานของเหล่าพนักงาน
โดยปัจจุบันมีหลายประเทศที่นำรูปแบบการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ มาใช้ ซึ่งประเทศที่มีรูปแบบการทำงานนี้อยู่แล้ว ได้แก่ เบลเยียม, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ไอซ์แลนด์ ลิทัวเนีย ฝรั่งเศส
ขณะที่ประเทศที่อยู่ระหว่างการทดลองทำงานแบบ 4 วัน/สัปดาห์ ได้แก่ สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, ไอร์แลนด์, สเปน, แอฟริกาใต้, บอตสวานา, ญี่ปุ่น, แคนาดา, โปรตุเกส, บราซิล
สำหรับประเทศไทยนั้น เนื่องจากกฎหมายแรงงานกำหนดชั่วโมงการทำงานไม่ให้เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จึงทำให้ยังมีหลายบริษัทที่กำหนดให้พนักงานทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ (ขณะที่บางบริษัทก็กำหนดให้มีการทำงาน 5 วัน/สัปดาห์) โดยที่บริษัทจะต้องให้วันหยุดกับพนักงานเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน
ที่มา : World Economic Forum, tech.co, JobsDB
เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #การทำงาน #WorkLifeBalance #ชั่วโมงการทำงาน #มนุษย์เงินเดือน #วัยทำงาน #พนักงานออฟฟิศ