Women’s Empowerment พลังหญิงขับเคลื่อนโลก

Women’s Empowerment พลังหญิงขับเคลื่อนโลก

ในขณะที่ความเสมอภาคระหว่างสตรีและบุรุษในตำแหน่งหน้าที่การงานในภาคส่วนต่าง ๆ ของโลก จะยังไปไม่ถึงจุดที่ผู้สนับสนุนความเท่าเทียมกันของผู้หญิงในสังคมพอใจ แต่ก็มีสัญญาณให้เห็นว่า พลังสตรีในภาคธุรกิจต่าง ๆ แพร่อิทธิพลมากขึ้นตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจ การทำงานในระดับผู้บริหารในสายงานต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการเป็นผู้นำประเทศ

จากผลสำรวจ Global Gender Gap Report 2021 ซึ่งจัดทำโดย World Economic Forum ระบุว่า ด้วยบทบาทที่เพิ่มขึ้นในตำแหน่งบริหารต่าง ๆ ของผู้หญิง ต้องยอมรับว่าได้เปลี่ยน Landscape จากอดีตไปอย่างสิ้นเชิง

เรื่องของการยอมรับสถานะทางสังคม รวมไปถึงหน้าที่รับผิดชอบที่รอบคอบคือ ปัจจัยให้ผู้หญิงก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารมากขึ้น รวมถึงปัจจัยขององค์กรที่จะประสบความสำเร็จด้วยเช่นกัน ดั่งจะเห็นได้จากผู้นำในอุตสาหกรรมชั้นนำอย่างซอฟต์แวร์-ไอที บริการทางการเงิน สุขภาพและการดูแลสุขภาพ และการผลิต กลับสวนกระแสนี้ ฉีกกฎเกณฑ์โดยรวมในอุตสาหกรรมด้วยการที่ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

ที่น่าสนใจของข้อมูล Global Gender Gap Report 2021 ก็คือ 10 อันดับประเทศที่มีความเท่าเทียมทางเพศมากที่สุด คือ ประเทศไอซ์แลนด์ จากตัวชี้วัดใน 4 มิติ คือ 1. การมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจ 2. การได้รับการศึกษา 3. สุขภาพและการอยู่รอด 4. อำนาจทางการเมือง

ข้อมูลระบุชัดเจนว่า ไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่มีช่องว่างระหว่างเพศที่น้อยที่สุดในโลกเป็นปีที่ 12 และใน 24 ปี จากช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ไอซ์แลนด์ มีหัวหน้ารัฐบาลเป็นผู้หญิงและเกือบครึ่งหนึ่งของสมาชิกในคณะกรรมการบริหารองค์กรเป็นผู้หญิง โดยไอซ์แลนด์เป็นประเทศแรกที่มีการบังคับกฎหมายค่าจ้างที่เท่าเทียมกันตั้งแต่ปี 2018

อันดับที่ 2 ฟินแลนด์ โดย 50% ของสมาชิกสภาผู้แทนเป็นผู้หญิง และ 46% ของสมาชิกรัฐสภาเป็นผู้หญิง โดยฟินแลนด์ถือเป็นประเทศที่มีสัดส่วนของผู้หญิงในรัฐสภาสูงที่สุดเป็นลำดับที่ 9 ของโลก และปัจจุบันมีผู้หญิงทำงานในงานสายอาชีพและงานเทคนิคมากกว่าผู้ชาย

อันดับที่ 3 นอร์เวย์ นายกรัฐมนตรีนอร์เวย์คนปัจจุบันเป็นผู้หญิง และมีสัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนถึง 44% เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ 41%

อันดับที่ 4 นิวซีแลนด์ มีกฎหมายการกำหนดการจ่ายค่าตอบแทนอย่างเสมอภาค การดำเนินการที่ก้าวหน้าล่าสุด คือ ให้ผู้หญิงที่แท้งบุตร ลางานโดยที่ได้รับค่าจ้างได้ตลอดระยะเวลานั้น

อันดับที่ 5 สวีเดน โดยผู้หญิงมีตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีสวีเดนถึง 57% และเป็นประเทศที่มีสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดูเด็กโดยมีความเท่าเทียมกันทางเพศมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

อันดับที่ 6 นามิเบีย เป็นประเทศที่ได้อันดับสูงสุดในกลุ่มประเทศทวีปแอฟริกา ในปีนี้ มีจำนวนผู้หญิงที่เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษามากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า และสัดส่วนของสมาชิกรัฐสภา 44% เป็นผู้หญิง

อันดับที่ 7 รวันดา มีผู้หญิงในรวันดาคิดเป็น 40% ทำงานในสายอาชีพและงานเทคนิค และปัจจุบันมีผู้หญิงดำรงตำแหน่งในรัฐสภามากกว่าผู้ชาย โดยรวันดาเป็นประเทศที่ได้อันดับดีที่สุดในกลุ่มประเทศตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกา (Sub-Sahara African Countries)

อันดับที่ 8 ลิทัวเนีย ติดอันดับ 1 ใน 10 เป็นครั้งแรก และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านประเด็นช่องว่างระหว่างเพศมากที่สุดในปีนี้ พัฒนาการที่สำคัญคือ คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันมีสัดส่วนผู้หญิงถึง 43% ซึ่งปีที่แล้วไม่มีสมาชิกเพศหญิงอยู่เลย

อันดับที่ 9 ไอร์แลนด์ ซึ่งแทบจะปิดช่องว่างของเพศในประเด็นการได้รับการศึกษาระหว่างเด็กหญิงและเด็กชายได้สมบูรณ์  และใน 21 ปี จาก 50 ปีที่ผ่านมานี้ไอร์แลนด์มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง

อันดับที่ 10 สวิตเซอร์แลนด์ โดยสัดส่วนของผู้หญิงในรัฐสภาสวิตเซอร์แลนด์เพิ่มขึ้นจาก 33% เป็น 42% โดยมีสัดส่วนรัฐมนตรีผู้หญิงถึง 43% และสวิตเซอร์แลนด์มีผู้หญิงเป็นผู้นำประเทศมาเกือบ 8 ปีในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา

Women’s Empowerment พลังหญิงขับเคลื่อนโลก
แม้ว่าในสภาพการณ์ปัจจุบันช่องว่างระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายจะไม่ได้หายไปหมดทุกด้าน แต่ผู้หญิงยุคใหม่ก็ยังสามารถฝันถึงชีวิตที่นอกเหนือไปจากการดูแลบ้าน ทำความสะอาด และการเลี้ยงลูก ไม่เพียงเท่านั้น ผู้หญิงยังสามารถก้าวไปสู่จุดสูงสุดของความสำเร็จในอาชีพการงานได้อีกด้วย

Fortune 500 หรือการจัดอันดับประจำปีของบริษัท 500 อันดับแรกทั่วโลกโดยวัดจากรายได้ของธุรกิจ เราได้เห็นซีอีโอของ Fortune 500 ที่เป็นผู้หญิงมากขึ้น แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก CEO ผู้หญิงยังคงเป็นส่วนน้อยด้วย 8.1% ในปี 2564 นั่นคือผู้บริหารหญิง 41 คนจาก 500 CEO ของ Fortune

โดยจำนวนผู้บริหารหญิงเพิ่มขึ้น 1.4% ระหว่างปี 2015 ถึง 2020 ซึ่งชะลอการเติบโตจาก 3.9% ระหว่างปี 2009 ถึง 2015

แม้ว่าแนวโน้มนี้จะบ่งชี้ว่ามีบริษัทจำนวนมากขึ้นที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ แต่ก็ยังเป็นอัตราที่ต่ำอยู่ดีและจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนผู้บริหารหญิงให้มากขึ้นอีก

ตารางแสดงจำนวน CEO ผู้หญิงและผู้ชายของ Fortune 500

จากสถิติในปี 2000 ถึง 2021 แม้ CEO หญิงจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นจำนวนน้อยนิดเมื่อเทียบกับ CEO ชาย

ทำไม CEO ผู้หญิงถึงมีจำนวนน้อยกว่าผู้ชาย?

Nancy McKinstry ซีอีโอของ Wolters Kluwer เคยกล่าวว่า ในขณะที่เธอแถลงข่าวเกี่ยวกับกลยุทธ์ทางธุรกิจในงาน แต่หนังสือพิมพ์ทุกฉบับกลับพูดถึงชุดสูทของ McKinstry ว่าเธอสวมชุดสูทสีเดียวกับของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของ KLM แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างซีอีโอชายและหญิงอย่างชัดเจน ผู้หญิงยังไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกับผู้ชาย เพราะหากซีอีโอชายพูดถึงกลยุทธ์ คงไม่มีใครสนใจเสื้อผ้าของเขา

อีกประเด็นสำคัญคือ Work-Life Balance บริษัทต่าง ๆ คาดหวังว่าพนักงานจะทำงานล่วงเวลาด้วย เมื่อคุณมีตำแหน่งและความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น ความคาดหวังเหล่านี้ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ จึงกลายเป็นเรื่องยากสำหรับผู้หญิงที่จะแข่งขันกับผู้ชายอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อผู้หญิงก็มีภาระความรับผิดชอบของครอบครัวหนักอึ้งอยู่แล้ว

ผู้หญิงส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังคงดูแลงานบ้าน แม้จะทำงานเต็มเวลาก็ตาม สิ่งนี้จำกัดความพร้อมในการทำงาน และกั้นพวกเธอจากบทบาทความเป็นผู้นำ ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้หญิงน้อยลงเรื่อย ๆ ที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงขึ้นในองค์กร

และแม้ว่าบริษัทยังจ่ายเงินเดือนให้แม้พนักงานจะไปศึกษาต่อ แต่ในขณะที่พนักงานศึกษาต่อหรือเพิ่มทักษะของตัวเองอยู่นั้น ก็ต้องทำงานนอกเวลาไปด้วย เพื่อให้บริษัทไม่ต้องจ้างพนักงานเพิ่มและงานก็ดำเนินต่อไปได้

ดูเหมือนว่านี่จะเป็นสถานการณ์ที่วิน-วิน แต่ไม่ใช่สำหรับผู้หญิง เพราะในขณะที่ศึกษาต่อผู้หญิงอาจจะให้กำเนิดบุตรด้วย จึงเป็นเรื่องยากที่จะบาลานซ์ระหว่างการงาน การเรียน และครอบครัวไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะทำงานในแผนกทรัพยากรบุคคล การประชาสัมพันธ์ การเงิน และการบริหาร มากกว่าการปฏิบัติการและการขาย การวิจัยและการจัดการผลิตภัณฑ์ หรือการบริหารจัดการทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ชายจะอยู่ในตำแหน่งเหล่านี้

อีกทั้ง ผู้ชายยังครองตำแหน่งผู้นำส่วนใหญ่ในบอร์ดบริหาร ผู้หญิงจึงมีแนวโน้มที่จะมีเครือข่ายในการให้คำปรึกษา ความสัมพันธ์ทางสังคม หรือข้อมูลวงในน้อยกว่า เนื่องจากมีผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจไม่เพียงพอ

แต่ก็มีผู้หญิงอีกหลายคนที่สามารถบาลานซ์ชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัวได้อย่างดี จนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กรที่มีประสิทธิภาพ และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เป็นต้นแบบให้ผู้หญิงยุคใหม่เจริญรอยตามอีกด้วย

CEO สายเทคฯ ผู้หญิงก็เป็นได้ และทำได้ดีด้วย

เป็นเรื่องน่าสนใจว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ผู้คนมองว่าเป็นงานของผู้ชาย ตอนนี้กลับมีผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในตำแหน่ง CEO มากขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้มากเท่าผู้ชายก็ตาม

ทุกวันนี้ อุตสาหกรรมเทคโนโลยียังคงเป็นที่สำหรับผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ มีเพียง 14% ของสตาร์ทอัพในสหรัฐฯ เท่านั้นที่มีซีอีโอหญิง นอกจากนี้ โอกาสที่จะมีซีอีโอหญิงขึ้นอยู่กับทีมผู้ก่อตั้ง ว่ามีผู้หญิงอยู่ในนั้นหรือไม่ และมีเพียง 2% ของสตาร์ทอัพที่ทีมผู้ก่อตั้งชายล้วนเท่านั้นที่มีซีอีโอหญิง

แต่ข่าวดีก็คือ ยังมีบริษัทอีกมากที่ทำเพื่อความเท่าเทียมทางเพศในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เช่น การนำผู้หญิงเข้าสู่สาขาและวิชา STEM (การบูรณาการความรู้ระหว่าง 4 สาขาวิชา ซึ่งได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) มากขึ้น

เทคโนโลยีเป็นพลังอันน่าเหลือเชื่อที่จะเปลี่ยนโลกของเราในแบบที่เราคาดไม่ถึง หากแต่พลังนั้นเป็นของผู้หญิงเพียง 20-30% นั่นแหละคือปัญหา

— Susan Wojcicki ซีอีโอของ YouTube

4 CEO หญิง กับการก้าวข้ามช่องว่างระหว่างเพศในแวดวงเทคโนโลยี

Amena Ali CEO ของ Airside

Airside ให้บริการจัดการข้อมูลประจำตัวดิจิทัลที่ปลอดภัยและสะดวกสบาย ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล โดยเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับด้านความเป็นส่วนตัว เช่น การยืนยันตัวตนทางดิจิทัล และการแชร์ผลแล็บโควิด

เธอใช้เวลากว่า 25 ปีกว่าจะประสบความสำเร็จในการเป็นผู้นำในการสร้างรายได้ให้กับบริษัทสตาร์ทอัพ บริษัทขนาดกลาง และบริษัทมหาชน โดย 17 ปีในด้านซอฟต์แวร์องค์กรและ SaaS รวมถึง VividCortex, Whisker Labs และ OTG/Legato Amena เรียกได้ว่าเธอคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงนี้มานาน โดยเธอเริ่มต้นอาชีพด้วยการให้คำปรึกษาด้านการจัดการที่ Bain & Company และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจาก Yale School of Management รวมถึงปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา พ่วงวิชาโทเศรษฐศาสตร์จาก Wesleyan University

Amena กล่าวว่า “ฉันคิดว่าผู้หญิงสามารถควบคุมอีโก้ของผู้คนและประพฤติตนในแนวทางที่นำไปสู่ความท้าทายในระดับองค์กรได้ดีที่สุด”

Priya Lakhani ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ CENTURY Tech

CENTURY Tech เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกที่พัฒนาเทคโนโลยีการเรียนรู้ด้วย AI สำหรับโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย และนายจ้างทั่วโลก

ในปี 2014  Priya เปิดตัวธุรกิจของเธอคือ Century Tech และได้รับรางวัล OBE จากงาน New Year Honors ในปีเดียวกัน สำหรับการบริการเพื่อธุรกิจ ชุมชน ด้วยการเริ่มจากการอาสาทำขึ้นมาเองด้วยความสมัครใจ

Century Tech เป็น cloud education forum ที่ช่วยเอาชนะความท้าทายในการเรียนรู้และลดภาระงานของครู แนวคิดที่ทรงพลังนี้ใช้การวิเคราะห์บิ๊กดาต้าและประสาทวิทยาศาสตร์การรู้คิด (cognitive neuroscience) ช่วยปรับการเรียนให้เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคน

“ถ้าเราจะสนับสนุนให้ผู้หญิงพิจารณาการทำอาชีพผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพมากขึ้น เราต้องเริ่มต้นด้วยการสนับสนุนให้พวกเธอรับความเสี่ยงได้ตั้งแต่อายุยังน้อย และการเป็นผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพนั้นเป็นโอกาสที่เหลือเชื่อโดยไม่คำนึงถึงเพศของคุณ” Priya กล่าว

Mikela Druckman ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO ของ GreyParrot

Greyparrot เป็นบริษัทเทคโนโลยีของสหราชอาณาจักรที่ใช้ซอฟต์แวร์การจดจำขยะ AI เพื่อเพิ่มความโปร่งใส และใช้ระบบอัตโนมัติในการจัดการขยะ เธอหลงใหลในการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เพื่อแก้ปัญหาที่ท้าทายทางธุรกิจในการจัดการขยะ เพื่อปลดล็อกมูลค่าทางการเงินของขยะและทำให้โลกของเราสะอาด

บทบาทของ Mikela คือการประสานงานและนำทีมเชิงพาณิชย์ ด้านเทคนิค และผลิตภัณฑ์ เพื่อนำเสนอโซลูชันที่เพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้า และเธอยังเป็นสมาชิก Global Future Council ที่ World Economic Forum โดยเป็นผู้นำเกี่ยวกับเทคโนโลยีเกิดใหม่ ซึ่งรวมถึง AI สำหรับภาครัฐและเอกชน

ในปี 2018 Mikela ได้รับการจัดอันดับให้เป็น “TopWomen50” ในด้านเทคโนโลยีซึ่งจัดโดย WeAreTheCity อีกทั้ง เธอยังมีแพสชันเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ โมเดลเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และเทคโนโลยีขั้นสูงอีกด้วย นั่นทำให้เธอเป็นผู้นำหญิงที่ครบเครื่องในทุก ๆ ด้าน

Mikela กล่าวว่า “เราต้องหลอมรวมชีวิตครอบครัวกับการเป็นผู้ประกอบการให้เป็นเรื่องปกติ”

Maria Carolina Fujihara ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ SINAI Technologies

SINAI Technologies กำลังลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยช่วยให้องค์กรต่าง ๆ มีเครื่องมือดิจิทัลสำหรับการวัด การรายงาน และการประเมินทางเลือกในการลดการปล่อยคาร์บอนอัจฉริยะ

มาเรียเติบโตขึ้นมาในบราซิลในครอบครัวนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พ่อแม่ของเธอเป็นวิศวกรด้านป่าไม้ และเธอถูกเลี้ยงดูในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งส่งผลต่อความหลงใหลในสิ่งแวดล้อมของเธออย่างมาก

“นอกจากจะเป็นผู้ก่อตั้งหญิงแล้ว ฉันยังเป็นผู้อพยพหญิงชาวบราซิลด้วย ฉันย้ายไปอเมริกา และต้องสร้างชีวิตใหม่ทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ใช่แค่บริษัทเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่มีผู้ก่อตั้งสตรีชาวละตินเพียง 4% จากผู้ก่อตั้งหญิงทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา” Maria กล่าว

จากข้อมูลทั้งหมด แม้ว่าผู้หญิงจะมีแนวโน้มในการเป็นผู้บริหารระดับสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ยังถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ทั้งที่ผู้หญิงก็มีศักยภาพเพียงพอในการเป็นผู้นำ พิสูจน์ได้จากการที่เราเห็นผู้นำประเทศหญิงหลาย ๆ คนและ CEO หญิงในหลาย ๆ บริษัทประสบความสำเร็จในบทบาทของตน แม้แต่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเองที่ใคร ๆ ก็คิดว่าเป็นพื้นที่สำหรับผู้ชาย ผู้หญิงก็สามารถเข้าไปยืนอยู่ได้ในตำแหน่งผู้ก่อตั้งหรือผู้บริหารระดับสูงได้เพิ่มมากขึ้น  

ในอดีตจากข้ออ้างที่ฉุดรั้ง ผู้หญิง ในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำอย่างสมบูรณ์แบบ เช่น การบาลานซ์ชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว เพราะผู้หญิงต้องดูแลทั้งงานในบ้านและนอกบ้าน รวมถึงความเท่าเทียมทางเพศ แต่ช่วงหลายปีมานี้ ต้องยอมรับว่า พลังของผู้หญิงสามารถทำงานได้ดีไม่ต่างจากผู้ชายเลย จึงได้แต่หวังว่า เราจะเห็นผู้หญิงในบทบาทผู้นำมากขึ้นในเร็ววัน เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และโลกของเราในอนาคต

ที่มา : Quantic, World Economic Forum, Medium, Thinking Heads

เขียนและเรียบเรียง สีน้ำ แผ่วฉิมพลี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business#นิตยสารBusinessplus #Coachella #Coachella2022