สัมมนา วิชาการ ‘ทักษะแห่งอนาคต’ นำพาองค์กรอยู่รอด รับคนใหม่ ปรับคนเก่า ให้ตรงกับมาตรฐานทักษะแห่งอนาคต เพื่อพาองค์กรไทยอยู่รอดในยุค New Normal

ในช่วงเวลาที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง และทั้งจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่เร่งให้เกิดมิติใหม่ในการใช้ชีวิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานที่ไม่อาจใช้เพียงทักษะ ความรู้ และความสามารถที่มีอยู่ในอดีต มาต่อกรกับโลกแห่งอนาคตได้อย่างเพียงพออีกต่อไป

บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) เล็งเห็นถึงช่องว่างในการพัฒนาศักยภาพของคนทำงาน จึงได้เกิดความร่วมมือกับสถาบันวิจัย พัฒนา และสาธิตการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในการจัดทำวิจัยสมรรถนะที่จำเป็นของบุคลากรต่อการทำงานในอนาคตในบริบทที่เหมาะสมกับองค์กรไทย และการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะตามสมรรถนะที่จำเป็น  โดยตั้งเป้าหมายให้เป็นมาตรฐานให้กับองค์กรไทยในการใช้ประเมินระดับสมรรถนะของบุคลากรในองค์กรในทุกระดับ

อันเป็นที่มาของงานเสวนาวิชาการ ‘ทักษะแห่งอนาคต’ นำพาองค์กรอยู่รอด รับคนใหม่ ปรับคนเก่า ให้ตรงกับมาตรฐานทักษะแห่งอนาคต เพื่อพาองค์กรไทยอยู่รอดในยุค New Normal ในวันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) และ สถาบันวิจัย พัฒนา และสาธิตการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลง และเข้าใจถึงทักษะที่จำเป็นในการทำงานของโลกอนาคตอันใกล้

โดยมี คุณมนู เลียวไพโรจน์ ประธานกรมการ บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) กล่าวเปิดงาน “ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้า การทำงานมีความท้าทายมากขึ้น การพัฒนาตนเองให้ทันเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ องค์กรต้องเติบโตเพื่อก้าวหน้า และผู้ผลักดันความก้าวหน้านั้นก็คือพนักงานในองค์กร และการส่งเสริมพนักงานให้มีศักยภาพก็เป็นภารกิจขององค์กร ซึ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต้องมีการศึกษา วิจัย อย่างละเอียด เพื่อความต้องการที่เหมาะสมถูกต้องต่อความต้องการ

แน่นอนว่าทุกองค์กรเห็นสำคัญในเรื่องนี้ แต่ยังขาดเครื่องมือวัดความสามารถ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือวิจัย พัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นระหว่าง บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ มศว. ที่ดำเนินการวิจัยและได้ผลลัพธ์ 10 สมรรถนะ ที่เป็นประโยชน์กับทุกอค์กร เพื่อพัฒนาหลักสูตรอบรมสำหรับเติมเต็มความสามารถที่ขาดในการทำงานยุคดิจิทัล โดยแพลตฟอร์ม Wisimo จะเน้นตอบคำถามในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร อันถือเป็นความร่วมมือสำคัญของภาครัฐและเอกชน ที่จะช่วยเสริมให้องค์กรดำเนินการต่อไปได้ตามความคาดหมาย สำเร็จลุล่วงตามที่คาดไว้”

พัฒนาไทยให้นำหน้า ต้องพัฒนาคนสู่ศตวรรษที่ 21

รองศาสตราจารย์ ดร.จักร พันธุ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการทำงานและการพัฒนาบุคลากรที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาดเพื่อให้เป็นการพัฒนาที่ดีของประเทศ โดยการใช้ระบบ Wisimo นี้จะทำให้บุคลากรอยู่ในตลาดแรงงานที่เหมาะสม และในอนาคต การรับคนเข้าทำงานอาจไม่ได้รับตามวุฒิ วุฒิการศึกษาอาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับ Competency ของบุคลากร และรับเข้าทำงานตามความสามารถที่บริษัทต้องการ

โดยองค์กรต้องมีการปรับเปลี่ยนการในการรับบุคลากรใหม่และพัฒนาบุคลากรเดิม ซึ่ง HR หรือ ฝ่ายบุคคล จะเป็นตำแหน่งสำคัญในการจัดการเรื่องนี้ ผู้บริหารก็เป็นส่วนสำคัญที่จะมองให้เห็นว่าบริษัทจะก้าวไปทางไหน และจะเดินไปอย่างไร โดยมีระบบ Wisimo เป็นตัวเชื่อมระหว่างแต่เดิมผู้ผลิตกับผู้รับว่าจะผลิตบุคลากรแบบไหนสู่ตลาดแรงงาน

อีกทั้งยังทำให้ SMEs เล็ก ๆ สามารถทำการพัฒนาความรู้ และทักษะได้ไม่แพ้องค์กรขนาดใหญ่ เพื่อทำให้ธุรกิจพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้อง เหมาะสมกับการมาถึงของเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางสายงานต่าง ๆ

“ผมมองว่าคนเก่ง ต้องเก่ง 3 เรื่อง หนึ่ง คือ เก่งงาน เป็นมืออาชีพ ต้องรู้บางเรื่องในทุกเรื่อง เรื่องอื่นก็ต้องจะ รู้เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงว่าสิ่งที่เราทำส่งผลต่อคนอื่นอย่างไร สอง คือ เก่งคน เราทำงานกับคน ต้องมีความเป็นมนุษย์ มองลูกค้าเป็นคนที่มีคุณค่า ให้สิ่งที่ดีกับลูกค้า และสาม คือ เก่งคิด ต้องสอนให้คิดเป็น คิดไกลกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว คิดในมุมกว้าง

ตลาดแรงงานของรัสเซียมองว่า ประเทศไทยมีปัญหาใหญ่และสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข คือ เรื่อง Soft Skill บางครั้งแหล่งผลิตขาดการมองในเชิงธุรกิจ ทุกคณะต้องสอนบริหารธุรกิจด้วย ซึ่งเราจะทำธุรกิจแล้วไม่มีความรู้เรื่องนี้ไม่ได้ การเรียนการสอนจึงต้องแทรกความรู้ในการบริหารเข้าไป

ยกตัวอย่างเรื่องการออมเงิน เราถูกสอนให้เก็บหอมรอมริบเสมอ แต่เราไม่เคยถูกสอนว่าออมเงินไปทำอะไร ไม่เคยถูกสอนว่าเงินที่ออมไว้ต้องเก็บไปต่อยอด แล้วเมื่อไหร่เราจะได้เรียนรู้เรื่องนี้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่อยากให้ทุกหลักสูตรสอนวิชาการตลาดและบริหาร

เนื่องจากไม่ใช่คนที่เรียนจบแพทย์ทุกคนจะไปเป็นหมอในโรงพยาบาล แต่อาจจะต้องกลับมาเป็นหมอในคลินิกที่บ้านของตนเองก็เป็นได้ อีกทั้งพระสงฆ์เองก็ยังต้องเรียนการบริหาร การจัดการ และมีความรู้เรื่องไฟแนนซ์ก่อนจะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เราจึงต้องมีความรู้ในแง่ของการตลาดและการบริหารด้วย

คนทำงานต้องคิดบวก คิดรอบด้าน คิดไกล คิดเก่ง เมื่อสกิลเป็นเงื่อนไขสำคัญ มหาวิทยาลัยเป็นผู้ผลิต ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องทักษะ เงื่อนไขการเปิดหลักสูตรต้องกลับมาทบทวน ต้องให้ผู้มีประสบการณ์ในการบริหารงานมาบรรยายโดยไม่ต้องกำหนดว่าจะต้องเรียนจบสูง เพราะคนประสบความสำเร็จหลายท่านไม่ได้จบสูง เช่น วิชานิติศาสตร์ ไม่สามารถเชิญอดีตผู้พิพาษามาบรรยายได้ เนื่องจากท่านไม่ได้จบปริญญาโท

ซึ่งเราต้องดึงภาคเอกชนมามีส่วนร่วมในการพัฒนาบุคลากร เพราะเราเดินคนเดียวไม่ได้ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันขับเคลื่อนและก้าวไปพร้อม ๆ กัน มองเป้าหมาย คือ ความยั่งยืนของประเทศ และขับเคลื่อนไปบนพื้นฐานความรับผิดชอบ”

มาตรฐานทักษะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการในยุค New Normal

คุณถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถของมนุษย์ ให้เกียรติชี้แนวทางการกำหนดมาตรฐานทักษะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการในยุค New Normal ว่า

“ในภาวะการเปลี่ยนแปลง เราต้องตัดสินใจด้วยข้อมูล เนื่องจากตอนนี้ Data is the New Oil ข้อมูลทั้งหมด คือ ราคา ยกตัวอย่าง ธนาคารกรุงไทยในตอนนี้มี  Data คนไทย 38 ล้านคน อยู่ในแพลตฟอร์มแล้ว ซึ่งเป็นการเตรียมตัวมาตั้งแต่โครงการ ‘ชิมช้อปใช้’ เพียงแต่ข้อมูลยังแยกตามกระทรวง หากข้อมูลรวมกันและถูกนำมาใช้เพื่อดูแลแก้ไขปัญหา ประเทศไทยก็จะเติบโตได้อีก

และการมาถึงของ Industrial Internet of Things หรือ IIot นั้นสามารถช่วยงานด้านผลผลิตได้ถึง 80% ทำให้บริษัทใช้คนงานน้อยลง 57% และมียอดขายมากกว่าเดิม ทั้งยังสามารถMonitoring ได้แบบ Real Time

สำหรับการบริการจัดการองค์กร บุคลากรที่อายุ 45 – 51 ปี ซึ่งเป็นคนระดับ Management อาจพัฒนาไม่ทันเทคโนโลยี และการดำรงตำแหน่งต่อก็ถือว่าเป็นการบล็อกการเติบโตของคนรุ่นใหม่ การจ้างออกถือเป็นการถ่ายเลือด เป็นการ Disruption บริหารงานที่เหมาะสมกับยุคเทคโนโลยี

ซึ่งก่อนจะที่ใช้หุ่นยนต์ทำงาน เราต้องเคลียร์บุคลากรให้พร้อมที่จะนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ ไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหามากกว่าเก่า ดังคำกล่าวของ บิล เกตส์ ว่า

‘กฎข้อแรกของการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจ คือ ระบบอัตโนมัติที่ใช้ในการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ กฎข้อที่สอง หากระบบอัตโนมัติที่ใช้ในการดำเนินงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะขยายไปสู่การดำเนินงานที่ไม่มีประสิทธิภาพเช่นกัน’

และสิ่งที่มนุษย์ควรทำ คือ ทำงานยาก สิ่งที่ควรให้หุ่นยนต์ทำ คือ ทำงานง่าย ๆ ที่ต้องทำซ้ำเดิม เพราะคนสามารถพัฒนาและยืดหยุ่นได้มากกว่าหุ่นยนต์ และการที่เราจะอยู่รอดได้ พื้นฐานขั้นแรก คือ การศึกษาต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง ทักษะในอนาคตของมนุษย์ คือ เป็นคนที่ยืดหยุ่น และเปลี่ยนแปลงทันโลก นี่คือ Future Skill ที่เราต้องมี”

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เราไม่อาจคาดเดาได้ สิ่งที่เราสามารถเริ่มได้ทันทีก็คือการ Up skill และ Re Skill ยกระดับความสามารถของตนเองให้พร้อมรับความเปลี่ยน ดังที่คุณมูน เลียวไพโรจน์ กล่าวไว้ พัฒนาตนเองให้เป็นคนเก่ง 3 ด้าน คือ เก่งงาน เก่งคน เก่งคิด ดังที่ รศ.ดร.จักร พันธุ์ชูเพชร ให้คำแนะนำ และปรับตัวเองให้เป็นคนยืดหยุ่น เปลี่ยนแปลงทันโลก ตามที่คุณถาวร ชลัษเฐียร ชี้แจงให้เห็นถึงทิศทางที่เราควรมุ่งพัฒนาไป เพื่อเป็นบุคลากรทรงคุณค่า และเป็นที่ต้องการขององค์กรในยุค New Normal