‘เวียดนาม’ ศูนย์กลางการผลิตระดับโลกแห่งใหม่ ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั่วโลก ‘Made in Vietnam’ บุกชิงส่วนแบ่งการตลาดสูงขึ้น

เวียดนามยังคงเป็นประเทศที่ถูกจับตามองมากที่สุดประเทศหนึ่ง หลังจากเคยได้รับประโยชน์จากการเคลื่อนย้ายของห่วงโซ่การผลิตสินค้า เพราะบริษัทชั้นนำของโลกหลายราย รวมถึงบริษัทจากจีนย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนามมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากจีน ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าเวียดนามมีโอกาสขึ้นแท่นเป็นฐานการผลิตแห่งสำคัญของโลกในระยะข้างหน้า

สอดคล้องกับคำกล่าวของ รองประธานของบริษัท Compal Vietnam Co., Ltd ที่ได้ออกมาพูดถึงการดำเนินงานของโรงงานแล็ปท็อปในเวียดนามว่า ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ผลิตให้กับบริษัทขนาดใหญ่อย่าง Dell, Google และ Amazon ซึ่งกิจกรรมการผลิตของโรงงานมีเสถียรภาพ และคาดว่าจะดึงดูดแรงงานได้ประมาณ 15,000 คน ภายในสิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2565

นอกจากนี้ Compal ยังได้เข้าลงทุนในโครงการ Arcadyan Technology ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยทุนมูลค่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,650 ล้านบาท) ทำให้เห็นว่า Compal กำลังพัฒนามากขึ้น ซึ่งก็คือการขยายขนาดการผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกเป็น 1,500 – 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

ด้วยการที่ Compal เป็นผู้ผลิตให้แก่ Dell, Google และ Amazon เพื่อการส่งออกจะเห็นได้ว่าเวียดนามกำลังกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลกในด้านอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีโรงงานเป็นของตัวเอง เช่น Samsung, Intel และ LG แล้ว ยังมีผู้ผลิตที่เชี่ยวชาญด้านการเอาท์ซอร์สสำหรับแบรนด์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกในเวียดนามเพิ่มมากขึ้น

โดยมีการเข้ามาของบริษัทรายใหญ่ ได้แก่ Foxconn, Luxshare, Winston, Pegatron และ Goertek ทำให้เวียดนามเป็น ฐานการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และโทรศัพท์โดยมีมูลค่าการส่งออกโทรศัพท์และส่วนประกอบ อิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์มากกว่า 27,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงไตรมาสแรกของปิ 2565

ขณะที่สำนักข่าว Sputnik ของรัสเซียได้ระบุว่า เวียดนามกำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลกแห่งใหม่ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ “Made in Vietnam” กำลังได้รับส่วนแบ่งในตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยในปี 2564 และในช่วงต้นปี 2565 เวียดนามมีการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และดึงเงินหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เวียดนามได้ความเชื่อมั่นอย่างมากจากนักลงทุน รวมถึง Foxconn, Pegatron, Wistron, LEGO และ Nike ในแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศ

นาย Jian Zhiming ผู้อำนวยการของสภาหอการค้าไต้หวันในเวียดนามได้กล่าวว่า ผู้ประกอบการไต้หวันจำนวนมากหวังว่าจะทำธุรกิจในเวียดนามได้ดี โดยเวียดนามเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญในแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ นาย Jian Zhiming เชื่อว่าธุรกิจไต้หวันจะลงทุนในเวียดนามมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การลงทุนของไต้หวันในเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมแปรรูป การผลิต และอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับความเห็นของ ‘สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย’ มองว่าในปี 2565 ด้วยการฉีดวัคซีนในระดับสูง เศรษฐกิจเวียดนามได้เริ่มเปิดกว้างและคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง

โดยเวียดนามยังคงเป็นจุดหมายที่น่าสนใจในด้านการลงทุนและอุตสาหกรรมมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากนโยบายการส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ รวมทั้ง FTA ที่เวียดนามลงนามกับประเทศต่าง ๆ

นอกจากนี้รัฐบาลของเวียดนามได้มีนโยบาย และข้อบังคับทางกฎหมายสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่เอื้ออำนวยมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนที่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่โดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและอุตสาหกรรมสนับสนุน ซึ่งจะเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยในการศึกษาตลาดและขยายการลงทุนในเวียดนาม เพื่อใช้ประโยชน์จากนโยบายการส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งจากข้อตกลงทางการค้าต่าง ๆ ที่เวียดนามลงนาม จากการตั้งเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลกเวียดนามจะดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตของผลิตภัณฑ์และคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน

ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยในอนาคต ผู้ประกอบการไทยจึงควรศึกษาตลาด และศึกษาคู่แข่งเพื่อกำหนดกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสม

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เวียดนาม #ภาวะเศรษฐกิจ #เศรษฐกิจมหภาค #ผู้ประกอบการ