‘เวียดนาม’ เป็นหนึ่งในประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างสูง ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าในปี 2593 ศักยภาพทางเศรษฐกิจของเวียดนามจะสามารถเทียบเคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้วได้ โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมาเวียดนามได้มีการสร้างสัมพันธไมตรีทางการค้าระหว่างประเทศหลายแห่ง เพื่อให้เป็นใบเบิกทางในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเวียดนาม การมีสิทธิพิเศษของกฎทางการค้า รวมถึงการลงทุนของบริษัทข้ามชาติในเวียดนาม เพื่อสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบให้เพิ่มมากขึ้น
ซึ่งสินค้าอย่างพวกข้าว ผลไม้ เวียดนามมีกำลังการผลิตที่ค่อนข้างสูง และราคามีความย่อมเยากว่า จึงทำให้เป็นคู่แข่งส่งออกที่ถูกจับตามองจากหลายประเทศ ซึ่งในปีที่ผ่านมาผลผลิตข้าวทั้งหมดของเวียดนามเพิ่มขึ้น 1.9% อยู่ที่ 43.5 ล้านตัน ถือได้ว่าตอบสนองความต้องการภายในประเทศ และการส่งออกได้เป็นอย่างดี
ขณะที่การลงทุนถูกจัดเป็นฐานการผลิตที่ได้รับความนิยมเนื่องจากมีบริษัทระดับโลกเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น Nike (NKE.US) ดำเนินธุรกิจเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย, Samsung ธุรกิจสมาร์ตโฟนและเครื่องใช้ไฟฟ้า, Foxconn ธุรกิจอิเล็กรอนิกส์, Lego ธุรกิจของเล่นเด็ก เป็นต้น โดยจากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ Foreign Direct Investment (FDI) ไหลเข้าสุทธิสะสมในช่วงปี 2561 จนถึง ม.ค.-ก.ย. 2566 ของเวียดนาม เพิ่มขึ้น 44.1% เมื่อเทียบกับช่วงปี 2555-2560 จะเห็นได้ว่าเวียดนามถือเป็นแหล่งการตั้งฐานผลิตที่บริษัทหลายแห่งทั่วโลกให้ความสนใจ
ทั้งนี้อ้างอิงจากรายงานของ New World Wealth และ Henley & Partners ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนเพื่อย้ายถิ่นฐานและขอสัญชาติชั้นนำในระดับนานาชาติ ระบุว่า เวียดนามจะกลายเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งเติบโตเร็วที่สุดในโลก คาดจะพุ่งสูงถึง 125% ในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นการขยายตัวที่สูงที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในแง่ของรายได้ต่อหัวประชากร (GDP Per Capita) และจำนวนเศรษฐีเงินล้าน สำหรับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว GDP ต่อหัวของเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 2,190 ดอลลาร์ แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า เป็น 4,100 ดอลลาร์
โดยเวียดนามถูกมองว่าเป็นประเทศที่ค่อนข้างปลอดภัยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ถือเป็นแรงจูงใจที่ทำให้บริษัทเกิดความสนใจเข้าไปลงทุนด้านการผลิตมากเป็นพิเศษ นอกเหนือจากนั้นยังมีในเรื่องของที่ตั้งทำเลของประเทศซึ่งมีพรมแดนติดกับจีนและใกล้กับเส้นทางการค้าทางทะเลสำคัญหลายแห่ง ต้นทุนแรงงานต่ำ และโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการส่งออกจากเวียดนาม ล้วนเป็นปัจจัยที่พลิกโฉมให้เวียดนามกลายมาเป็นจุดหมายปลายทางชั้นเลิศสำหรับการลงทุนระหว่างประเทศ
ขณะเดียวกันการลงทุนในส่วนของ FDI เวียดนามยังได้รับประโยชน์จากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทข้ามชาติหลายแห่งกระจายฐานการผลิตไปยังเวียดนาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ ‘จีนบวกหนึ่ง (China+1)’ ทำให้ในปี 2566 FDI ของเวียดนามเติบโตขึ้นถึง 32% จากปีก่อนหน้า
อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยที่อาจฉุดรั้งการเติบโตอย่างรวดเร็วของเวียดนาม ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกที่ยืดเยื้ออาจส่งผลกระทบต่อความต้องการของผู้บริโภคในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกของเวียดนาม นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของแรงงานที่ยังต้องได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติมเพื่อตอบสนองความต้องการของกิจกรรมการผลิตที่อาจต้องใช้ทักษะ ความรู้ ความสามารถที่เชี่ยวชาญมากขึ้น
สุดท้ายนี้แม้เวียดนามจะมีรายได้หมุนเวียนประเทศที่ดี แต่ประชาชนก็ยังคงเผชิญกับความยากจนอาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากการได้รับค่าแรงที่ต่ำ ทั้งนี้เวียดนามได้ถูกจับตามองจากหลายประเทศเพราะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว และมีแนวโน้มจะกลายเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งเติบโตเร็วที่สุดในโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า เรียกได้ว่าเวียดนามเป็นประเทศคู่แข่งที่น่ากลัวของไทย และหลายประเทศ
.
ที่มา : CNBC, XUNHUA, kasikornresearch, IQ
.
เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ
.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/
.
#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #เวียดนาม #Vietnam #เศรษฐกิจ