‘เวียดนาม’ อาจเผชิญอุปสรรคในตลาดผลไม้ ติดข้อจำกัดส่งออกไปจีน ‘ตลาดส่งออกอันดับ 1’ ในอนาคตอาจทำให้เกิดปัญหาราคาตกต่ำ

เวียดนามเป็นประเทศที่มีการส่งออกผลไม้ได้หลากหลายชนิด เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความแตกต่างด้านภูมิอากาศอย่างมากระหว่างภาคเหนือ และภาคใต้ ทำให้สามารถปลูกผลไม้ได้ทั้งผลไม้เมืองหนาว และผลไม้เมืองร้อน นอกจากนี้ในปัจจุบันเวียดนามสามารถใช้เทคนิคทันสมัยทำให้สามารถส่งออกผลไม้ได้ตลอดทั้งปี ไม่เพียงแต่ต้องรอฤดูการเท่านั้น มูลค่าการส่งออกจึงสูงขึ้น และกลายเป็นประเทศส่งออกผลไม้อันดับต้น ๆ ของโลก
แต่ตอนนี้ตลาดผลไม้เวียดนามอาจจะต้องเผชิญกับความท้าทาย หากยังไม่สามารถจัดการปัญหาการค้ากับจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของเวียดนามให้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งปัญหานี้ได้เกิดขึ้นในช่วง COVID-19 เพราะจีนได้มีมาตรการการป้องกัน และควบคุม COVID-19 ที่เข้มงวดขึ้น นั่นส่งผลให้ปริมาณรถสินค้าผ่านด่านไปยังจีนลดลง เป็นสิ่งที่ภาครัฐบาลของเวียดนามต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
มาดูข้อมูลในส่วนของผลผลิตผลไม้ของเวียดนาม ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเวียดนามผลิตผลไม้ได้ประมาณ 12.6 ล้านตันต่อปี ส่วนใหญ่จำหน่ายในประเทศ และมีผลไม้บางชนิดส่งออกไปยังต่างประเทศ
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ผลผลิตของผลไม้ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปริมาณการเพิ่มขึ้นของผลผลิตแต่ละชนิดมีดังนี้
– กล้วย ผลผลิตเพิ่มขึ้น 3.3%
– ส้ม เพิ่มขึ้น 2.1%
– สับปะรด เพิ่มขึ้น 3.4%
– มะม่วง เพิ่มขึ้น 2.4%
– ส้มโอ เพิ่มขึ้น 3.2%
– แก้วมังกร ลดลง 3.2 %
ในตลาดของเวียดนามเองมีการจำหน่ายผลไม้ เช่น กล้วย ส้ม แก้วมังกร ขนุน แตงโม มะม่วง สับปะรด ลิ้นจี่ เงาะ และมังคุด และมีการนำเข้าผลไม้จากจีน สหรัฐฯ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไทย
หากมองข้อมูลโดยรวมในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 เวียดนามส่งออกผักผลไม้มูลค่า 1,173.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 38,719 ล้านบาท ณ อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท/33 เหรียญสหรัฐ) ปรับตัวลดลง 14.3%
โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ 5 อันดับแรกคือ
– จีน 626 ล้านเหรียญสหรัฐ (ซึ่งช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 27.7%)
– สหรัฐฯ 87 ล้านเหรียญสหรัฐ (ปรับตัวเพิ่มขึ้น 51.3%)
– เกาหลีใต้ 60.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (ปรับตัวเพิ่มขึ้น 72.6%)
– ญี่ปุ่น 50.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.5%)
– ไทย 33.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ปรับตัวลดลง 28.3%)
จะเห็นได้ว่า จีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกผลไม้อันดับ 1 ของเวียดนาม และไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 5 ของเวียดนาม เป็น 2 ตลาดที่มีปริมาณการส่งออกที่ลดน้อยลง ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวล โดยเฉพาะการส่งออกไปจีน เพราะสัดส่วนของมูลค่าการส่งออกไปจีนคิดเป็น 53.35% (ไตรมาส 1/65)
และในช่วงปีที่ผ่านมา จีนเป็นตลาดส่งออกผลไม้ใหญ่ที่สุดของเวียดนามมาโดยตลอด คิดเป็นสัดส่วน 65-80% ของมูลค่าการส่งออกผลไม้ทั้งหมดของเวียดนาม
ซึ่งการส่งออกไปจีนที่ลดลงเกือบ 28% ได้ทำให้เกิดปัญหาด้านราคาผลไม้ในประเทศ เพราะมีผลไม้ถูกนำมาวางขายในประเทศมากยิ่งขึ้น เมื่อปริมาณผลไม้ในประเทศมีมากขึ้น ก็ทำให้ราคาต่ำลง เพราะผู้ผลิตจำเป็นต้องระบายสินค้าจึงลดราคาลง (เป็นไปตามกลไกของอุปสงค์-อุปทาน)
และในขณะนี้ราคาผลไม้ในประเทศบางชนิดเริ่มปรับตัวลดลง เห็นได้จากราคา แตงโม แก้วมังกร ขนุน ได้มีการปรับตัวลดลงอย่างมาก ซึ่งวิธีแก้ปัญหาเวียดนามจึงต้องส่งเสริมการส่งออกผลไม้ไปยังตลาดอื่นแทน
โดยเวียดนามได้กระตุ้นการส่งออกผลไม้ไปยังสหรัฐฯ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ และรัสเซียเพิ่มขึ้น และอยู่ระหว่างหารือกับประเทศต่างๆ เพื่อเปิดตลาดให้ผลไม้เวียดนาม
ยกตัวอย่างเช่น ส่งออกส้มโอไปยังสหรัฐฯ ส่งออกลำไยไปยังญี่ปุ่น และทุเรียนไปยังจีน ซึ่งตอนนี้ต้องลุ้นให้การเจรจาทางการค้าเป็นไปได้ดี และได้รับการอนุญาตให้ส่งออกในเร็ววัน
ซึ่งถ้าหากภาครัฐไม่เร่งเจรจา หรือหาตลาดรองรับได้เทียบเคียงปริมาณที่เวียดนามเคยส่งออกไปจีน และปล่อยให้เป็นปัญหาเรื้อรังก็จะนำมาสู่ปัญหาด้านราคาของผลไม้ในประเทศตกต่ำที่ยาวนาน และส่งผลที่เลวร้ายกับภาคการเกษตรในที่สุด
หากมองย้อนกลับมามองผลไม้ของบ้านเราบ้าง จะเห็นได้ว่าจริง ๆ แล้วผลไม้ของไทยได้รับความนิยมมากในเวียดนาม เนื่องจากผลไม้บางชนิดมีคุณภาพดีกว่าของเวียดนามเอง แต่ในช่วงที่เป็นฤดูผลไม้หลายชนิดของเวียดนาม เช่น ลำไย ลิ้นจี่ มังคุด ทุเรียน ทำให้เวียดนามมีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก
นอกจากนี้เวียดนามยังนำเข้าผลไม้จากสหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศอื่น ๆ จากยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นผลไม้ที่เวียดนามไม่มี รวมทั้งราคาไม่แพงมาก ซึ่งก่อให้เกิดการแข่งขันกับผลไม้ไทยในตลาดเวียดนาม เนื่องจากสินค้ามีความหลากหลายจึงเป็นตัวเลือกแก่ผู้บริโภคมากขึ้น
อีกหนึ่งปัญหาของไทยคือ ขณะนี้ เวียดนามอยู่ระหว่างการเจรจากับจีนเพื่อเปิดตลาดสำหรับทุเรียน หากเวียดนามได้รับอนุญาตให้ส่งทุเรียนเข้าจีนแล้ว จะอาจก่อให้เกิดการแข่งขันกับทุเรียนไทยในตลาดจีนในอนาคตอย่างแน่นอน
เพราะไทยพึ่งพาตลาดจีนในการส่งออกทุเรียนเป็นอย่างมาก ในปี 2564 ที่ผ่านมา ไทยมีผลผลิตทุเรียน 1,201,458 ตัน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการส่งออกไปตลาดจีนมากถึง 8 แสนตัน หรือคิดเป็น 70% ของผลผลิตทั้งหมด
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ทุเรียน #ส่งออกไทย #ตลาดผลไม้ #ส่งออกผลไม้ #ส่งออกเวียดนาม