ยูไนเต็ด เปเปอร์

‘ยูไนเต็ด เปเปอร์’ บริษัทหนึ่งเดียวในกลุ่มธุรกิจกระดาษที่ไม่เคยขาดทุนเลยตลอด 16 ปี!

หากเราเข้าไปดูหมวดธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะเห็นว่า กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หมวดธุรกิจกระดาษและวัสดุการพิมพ์ มีหุ้นตัวเดียวที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าว นั่นคือ บริษัท ยูไนเต็ด เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น UTP ซึ่งบริษัทแห่งนี้เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายกระดาษคราฟท์ ที่นำมาใช้ทำหีบห่อและบรรจุภัณฑ์ ประเภทกล่องลูกฟูก

ซึ่งอย่างที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้เกิดเทรนด์การรักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้คนใช้กระดาษน้อยลงเพราะการใช้กระดาษมากๆ เท่ากับเราจะต้องตัดไม้ทำลายป่ามากขึ้นไปด้วย แต่บริษัทแห่งนี้กลับยังอยู่รอด และไม่เคยขาดทุนสุทธิเลยตลอด 16 ปีที่ผ่านมา แม้จะเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจหนักแค่ไหนก็ตาม จนกลายเป็นบริษัทหนึ่งเดียวในตลาดหุ้นที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มธุรกิจกระดาษและวัสดุการพิมพ์มายาวนาน ทาง ‘Business Plus’ จึงได้ทำการสำรวจข้อมูลที่น่าสนใจ และมาวิเคราะห์การปรับตัวทางธุรกิจของบริษัทแห่งนี้ให้ฟัง

 

ยูไนเต็ด เปเปอร์

โดย ‘ยูไนเต็ด เปเปอร์’ ก่อตั้งในปี 2533 โดย ดร.ชิน ชินเศรษฐวงศ์ และเพื่อนในวงการสิ่งทอประมาณ 10 คน จนมาถึงปัจจุบันดำเนินธุรกิจมา 34 ปี และได้ให้ทายาทรุ่นที่ 2 วัชชระ ชินเศรษฐวงศ์ เข้ามาบริหารเป็น CEO ซึ่งเราพบว่าผลประกอบการที่แสดงในตลาดหลักทรัพย์ฯ (ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา) ถึงแม้รายได้ และกำไรสุทธิจะมีแนวโน้มชะลอตัว แต่หากย้อนกลับไป 22 ปีให้หลังจะเห็นว่า มีเพียงแค่ปีเดียวนั่นคือปี 2551 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ ซึ่งหลังจากนั้นมาไม่เคยขาดทุนอีกเลย

ยูไนเต็ด-เปเปอร์

จุดเด่นของบริษัทแห่งนี้คือ การปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย และสิ่งที่บริษัทแห่งนี้มองเห็นตั้งแต่แรกคือ การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม การลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ทีนี้มาดูข้อมูลกันว่าอะไรที่ทำให้ ‘ยูไนเต็ด เปเปอร์’ ยังอยู่รอดแม้จะผ่านการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยกี่ปีก็ตาม

เริ่มตั้งแต่การก่อตั้งในปี 2533 ด้วยทุนจะทะเบียนเริ่มแรก 150 ล้านบาท จนถึงปัจจุบัน 650 ล้านบาท และเริ่มทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระดาษคราฟท์ในปี 2538

ต่อมาในปี 2545 บริษัทได้เพิ่มหม้อไอน้ำและเปลี่ยนประเภทเชื้อเพลิงที่ใช้ โดยเริ่มจากการเปลี่ยนน้ำมันเตา มาเป็นถ่านหินทำให้บริษัทสามารถประหยัดพลังงานลงได้

ต่อมาในปี 2546 เป็นอีกครั้งที่บริษัทวางแผนลดต้นทุน โดยบริษัทได้ทำโครงการสร้างเครื่องกำเนินไฟฟ้าขนาด 7.5MW เพื่อลดต้นทุนค่าพลังงานไฟฟ้าและพลังงานไอน้ำ

จากนั้นในปี 2547 บริษัทได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ทำให้ได้เงินทุนเพิ่มขึ้นจากการทำ IPO และในปี 2548 เป็นปีที่โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมของบริษัทได้ผ่านการทดสอบและเดินเครื่องทำให้เริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าและพลังงานไอน้ำเพื่อใช้เองได้

ต่อมาในปี 2550 บริษัทได้ขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมจาก 7.5MW เป็น 9.5MW ทำให้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากขึ้น จนมีไฟฟ้าเหลือใช้ นั่นเท่ากับว่าบริษัทสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เอง ไม่มีต้นทุนไฟฟ้าที่จ่ายให้กับภาครัฐ และยังเหลือมากพอจนสามารถนำไปขายได้

ต่อมาในปี 2551 บริษัทเผชิญกับการขาดทุนสุทธิ ซึ่งคาดว่าเกิดจากค่าใช้จ่ายสำหรับการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม และในปีดังกล่าวบริษัทได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และได้รับใบอนุญาติในประกอบกิจการไฟฟ้า ผลิตพลังงานควบคุม และจำหน่ายไฟฟ้าได้ ทำให้ในปีนั้นบริษัทสามารถจำหน่ายกระแสไฟฟ้าที่เหลือใช้ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้เป็นครั้งแรก ทำให้ปีต่อๆมาบริษัทสามารถพลิกกลับมาเป็นกำไรสุทธิได้อีกครั้ง

ในปี 2559 บริษัทได้ขยายกำลังการผลิตทำให้สามารถผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นได้เป็น 200,000 ตันต่อปี ซึ่งการขยายการผลิตนั้นใช้เงินลงทุน 1,400 ล้านบาท และทางบริษัทได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ทำให้สามารถกู้เงินจากธนาคารกสิกรไทย 1,200 ล้านบาท และในปี 2560 เป็นปีที่สามารถผลิตสินค้าและขายได้จริง

ในปี 2562 บริษัทได้ติดตั้งเครื่องจักร กรอและตัดแบ่งม้วนกระดาษใหม่ ที่มีความเร็วมากขึ้น ทำให้กรอและตัดแบ่งม้วนกระดาษได้มากถึง 500 ตันต่อวัน และในปีนี้เองเป็นปีที่บริษัทได้จ่ายคืนเงินกู้ระยะยาวแก่สถาบันการเงินครบถ้วน อีกทั้งยังเป็นปีที่บริษัทได้รับรางวัลการรันตีสำหรับการผลิตที่เป็นการอนุรักษ์ป่าไม้ และยังมีการรณรงค์การขายผลิตภัณฑ์ของบริษัท ภายใต้กิจกรรม You Use U-care โดยมุ่งเน้นให้ผู้บริโภคขั้นสุดท้ายตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณการใช้เยื่อกระดาษ และเปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบจากเศษกระดาษ Recycle 100% ขายให้ลูกค้าในราคาที่ถูกกว่า

ในปี 2563 บริษัทได้รับการจัดอันดับโดย ESG Rating ของสถาบันไทยพัฒน์ ให้เป็นบริษัทที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน ESG ประจำปี 2563

แม้กระทั่งในปี 2566 ที่ผ่านมาบริษัทก็ยังไม่หยุดพัฒนาในด้านการผลิตที่มีคุณภาพมากข้น และยังลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ประหยัดพลังงานเพื่อลดต้นทุนอีกด้วย โดย เดินเครื่องจักรใหม่สำหรับกระบวนการเตรียมเยื่อกระดาษในปลายไตรมาสที่ 2 เพื่อเพิ่มคุณภาพน้ำเยื่อ ตลอดจนสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงให้มากขึ้น

อีกทั้งยังเริ่มสั่งซื้อเครื่องจักรใหม่ด้วยเงินลงทุนจากกระแสเงินสดของบริษัทเองราว 200 ล้านบาท สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 12 MW/H ซึ่งจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตได้ คาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปี 2568 โดยได้รับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรเพื่อประหยัดพลังงาน เป็นระยะเวลา 3 ปี

และในปีล่าสุด บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง Boiler (เครื่องผลิตไอน้ำ) ตัวใหม่ด้วยงบประมาณ 200 ล้านบาท โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุน จาก BOI เพื่อเป็นการประหยัดพลังงาน ซึ่งคาดว่าแล้วเสร็จในต้นปี 2568 และสามารถประหยัดต้นทุนพลังงานได้ราว 7-8%

จะเห็นได้ว่า ตลอด 34 ปี เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของบริษัทแห่งนี้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการผลิตสินค้าใหม่ ๆ ให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนตามยุคสมัย อย่างการใช้เศษกระดาษมาทำเป็นกระดาษคราฟท์ และการหาวิธีลดต้นทุนในการผลิตเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดทั้งภายในและต่างประเทศได้มากขึ้น อย่างเช่นการใช้เครื่องจักรใหม่ๆที่ผลิตได้รวดเร็ว

นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การที่บริษัทมีแผนการด้านความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายพลังงานในองค์กร และยังสามารถสร้างรายได้จากการขายไฟเป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้ให้กับบริษัท

ซึ่งการลงทุนที่ส่งผลกับสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนก็ทำให้บริษัทแห่งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแหล่งเงินทุน หรือการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรเพื่อประหยัดพลังงาน ทำให้สามารถหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินต่ำ และมีหนี้สินน้อยกว่าบริษัทอื่นๆ เห็นได้จากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ต่ำเพียงแค่ 0.10 เท่า และยังมีความสามารถในการทำกำไรสูงเกือบ 16% ทีเดียว

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ที่มา : SET , เว็บไซต์บริษัท
ติดตาม Business+ ได้ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
#thebusinessplus #BusinessPlus #ธุรกิจ #UTP #ยูไนเต็ดเปเปอร์