สกสว. – กรมการแพทย์ ถกแนวทางบริหารงบประมาณ ววน.ในบริการทางการแพทย์
หนุนไทยสู่ท็อป 3 เอเชีย พร้อมรุกสร้างแรงจูงใจงานวิจัยและพัฒนา
ส่งต่อสู่การใช้จริงและบริการรักษาในโรงพยาบาล
กรุงเทพฯ 19 กันยายน 2567 – สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หารือถึงแนวทางการบริหารจัดการแผนงานและงบประมาณที่ได้รับสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) นำโดย รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. และมี นพ.สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับพร้อมนำเสนอภาพรวมการบริหารจัดการแผนงานและโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน ววน. โดยมุ่งเน้นในส่วน Medical Research, Health technology assessment และ Model development เพื่อผลักดันให้เกิดการนำนวัตกรรมไปใช้งานจริงในโรงพยาบาล อาทิ โครงการศึกษาระบาดวิทยาโรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทย: การศึกษาชนิดติดตามไปข้างหน้าระยะยาวในชุมชน และโครงการความสัมพันธ์ของยีนผู้ป่วยเบาหวานและญาติสายตรงในประชากรไทยที่อาศัยในเขตเมือง
รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนงบประมาณทุนสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund: FF) ซึ่งกองทุน ววน. จัดสรรงบประมาณแบบ Block Grant โดยพิจารณาจากผลการดำเนินงานและศักยภาพของหน่วยรับงบประมาณ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาศักยภาพด้าน ววน. ของหน่วยรับงบประมาณให้มีความเข้มแข็ง รวมถึงสนับสนุนงาน FF ที่ครอบคลุมกิจกรรม
ตามพันธกิจของหน่วยงานและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ววน. ทั้งนี้ แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) พ.ศ. 2566 – 2570 ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสุขภาพ ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 1 ที่มุ่งเน้นทางด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ แผนงาน P1 BCG การแพทย์และสุขภาพ และภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 2 มุ่งเน้นทางด้านสังคม ได้แก่ แผนงาน P10 ความมั่นคงทางสุขภาพ
มีความสอดคล้องกับการทำงานของกรมการแพทย์ในปัจจุบัน จึงได้มีการแลกเปลี่ยนหารือเกี่ยวกับพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย และนวัตกรรม ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 โดยมีสาระสำคัญกำหนดให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐได้ และกำหนดหน่วยงาน วิธีการส่งเสริมและการจัดสรรเงินค่าตอบแทนแก่นักวิจัย เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง ซึ่งจะช่วยยกระดับงานวิจัยและเพิ่มแรงจูงใจให้สถาบันวิจัยและนักวิจัยในการผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ
ทางด้าน รศ.(พิเศษ) นพ.สถิตย์ นิรมิตรมหาปัญญา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแลประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์มีพันธกิจในการสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สมคุณค่าและจัดบริการทางการแพทย์เฉพาะทางระดับตติยภูมิที่ยุ่งยากซับซ้อน โดยใช้หลักบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ภายใต้วิสัยทัศน์ในการเป็นองค์กรหลักในการจัดหาบริการทางการแพทย์แบบองค์รวมระดับชาติ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของประชาชน โดยมีเป้าหมายในระยะ 5 ปี (2566-2570) คือ ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพอย่างเสมอภาค และในระยะ 20 ปี (2560-2580) คือ ประชาชนสุขภาพดีได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพอย่างเสมอภาค “การแพทย์ไทยเป็น 1 ใน 3 ของเอเชีย” โดยงานวิจัยของกรมการแพทย์ ที่ได้รับสนับสนุนจากกองทุน ววน. ที่ผ่านมา จะมุ่งเน้นในส่วน Medical Research, Health technology assessment และ Model development เพื่อผลักดันให้เกิดการนำนวัตกรรมไปใช้งานจริงในโรงพยาบาล พร้อมยกตัวอย่างผลงานที่สร้างผลกระทบ อาทิ โครงการศึกษาระบาดวิทยาโรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทย: การศึกษาชนิดติดตามไปข้างหน้าระยะยาวในชุมชน และโครงการความสัมพันธ์ของยีนผู้ป่วยเบาหวานและญาติสายตรงในประชากรไทยที่อาศัยในเขตเมือง เป็นต้น
นพ.สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ ได้แลกเปลี่ยนหารือเกี่ยวกับนโยบายการปรับโครงสร้างและแนวทางการทำงานด้านการวิจัยและพัฒนาภายในหน่วยงานให้สอดคล้องกับนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ รวมไปถึงการจัดทำแนวทางสร้างแรงจูงใจให้กับนักวิจัยในการมุ่งเน้นทำวิจัยและพัฒนา ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้มีประกาศออกมา นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงประเด็นโจทย์สำคัญทางด้านการแพทย์ที่จะช่วยยกระดับบริการทางการแพทย์ของประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาทิ การจัดการชุดความรู้ข้อมูลโรคสำคัญ ในระดับเขตพื้นที่สุขภาพ 13 เขต เพื่อนำข้อมูลประกอบการจัดทำแนวทางลดอัตราการเกิดโรคและลดอัตราการตายของประชาชนไทย และการจัดทำระบบข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขที่มีข้อมูลความพร้อมทางด้านสถานที่ เครื่องมือ และผู้เชี่ยวชาญ ที่พร้อมให้บริการทางการแพทย์ เป็นต้น
นับเป็นโอกาสอันดีที่ สกสว. และ กรมการแพทย์ ได้มีการหารือแลกเปลี่ยนแนวทางการบริหารจัดการงบประมาณด้าน ววน. ร่วมกัน เพื่อให้หน่วยงานมีความเข้มแข็งและมีแนวทางการบริหารงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับนโยบายและตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้นักวิจัยมีความมุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนาให้กับประเทศ ตลอดจนสามารถดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ได้อย่างมีประสิทธิผลต่อไป
#####################
ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus