ทรู คอร์ปอเรชั่น จับมือ UddC นำข้อมูลเคลื่อนที่ของประชาชน วิเคราะห์พัฒนา 4 เมืองใหญ่

ปัจจุบัน ผู้คนมากมายต่างย้ายเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ ส่งผลให้เกิดวิถีชีวิตที่ต้องเร่งรีบอยู่เสมอ ในขณะที่พื้นที่ในเมืองหลายแห่งก็ไม่สามารถตอบโจทย์กับวิถีชีวิตที่ต้องทำอะไรอย่างเร่งรีบแบบนี้อีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ทาง บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น จึงได้ร่วมมือกับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง หรือ UddC แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวโครงการ  “Dynamic Cities via Mobility Data หลากชีวิตในเมืองที่โลดแล่น”

โครงการดังกล่าวนำข้อมูลการเคลื่อนที่ของประชากร หรือ Mobility Data มาวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมการใช้ชีวิตของประชากรใน 4 เมืองใหญ่ของไทย ได้แก่ กรุงเทพมหานครฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา โดยมีจุดมุ่งหวังเพื่อนำเอาข้อมูลเหล่านี้มาพัฒนาเมืองให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนในเมือง โดยโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ Data Playground for Human Impacts ที่ดำเนินการภายใต้มาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ คุณจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า การรวบรวม Mobility Data แล้วนำมาต่อยอด จะช่วยพัฒนาเมืองได้ในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การออกแบบนโยบายให้เหมาะสมกับความต้องการของประชาชน การรับมือภัยพิบัติ รวมถึงการส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ

ด้านคุณอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการของ UddC และเป็นหัวหน้าทีมวิเคราะห์ของโครงการ กล่าวว่า ข้อมูลจากการศึกษาทำให้สามารถมองเห็นภาพรวมการใช้ชีวิตของผู้คนได้อย่างละเอียดและสะท้อนพฤติกรรมของผู้คนได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งวิถีการใช้ชีวิตของคนในเมืองสามารถสะท้อนออกมาใน 3 มิติหลัก ๆ ได้แก่

– มิติพื้นที่ ที่ระบุถึงโครงสร้างการใช้ชีวิตแต่ละพื้นที่ในเมือง

– มิติเวลา ที่สะท้อนถึงแนวโน้มการใช้เวลาในพื้นที่ต่าง ๆ

– มิติพฤติกรรมตามช่วงวัย ที่จำแนกโครงสร้างการใช้ชีวิตแบ่งตามช่วงวัยของประชากร

ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลพบว่าประชากรในกรุงเทพมหานครต้องใช้เวลาในการเดินทางมากกว่าจังหวัดอื่น ๆ ส่งผลให้ช่วงเวลาที่ควรเป็นเวลาส่วนตัวและพักผ่อนถูกลดทอนลง ส่วนประชาชนในเชียงใหม่และขอนแก่นสามารถใช้ชีวิตภายในรัศมีใกล้บ้านได้มากกว่า แสดงถึงความใกล้ชิดระหว่างที่อยู่อาศัย การทำงาน และพื้นที่ใช้ชีวิต

นอกจากนี้ ข้อมูลยังบ่งชี้ด้วยว่า กลุ่มผู้สูงอายุยังใช้ชีวิตในย่านละแวกบ้านเป็นหลัก และแทบไม่เดินทางไปพื้นที่สาธารณะที่ไกลออกไป สะท้อนให้เห็นว่าโครงสร้างของเมืองที่ยังมีปัญหาไม่เอื้อต่อการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ ถึงแม้ว่าไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก็ตาม ขณะที่ปัจจุบันพื้นที่กลาง ที่ผู้คนใช้ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในบางเมืองยังมีจำนวนไม่เพียงพอ หรือมีเวลาการเปิดให้บริการที่ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของประชากร

“ข้อมูลเชิงพฤติกรรมเหล่านี้สามารถต่อยอดเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการขยายเวลาเปิดสวนสาธารณะ การจัดระบบขนส่งสาธารณะในช่วงเวลาที่มีการใช้งานจริง หรือการวางแผนพื้นที่รองรับผู้สูงอายุในย่านที่มีการอยู่อาศัยหนาแน่น” คุณอดิศักดิ์กล่าว

นอกจากนี้เอง คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครฯ ก็ได้มาแชร์มุมมองของตัวเองว่า การสร้างเมืองที่ดีนั้น นอกเหนือจากใช้ข้อมูล Mobility Data ในการตัดสินใจแล้ว ยังต้องมี Empathy หรือความเข้าอกเข้าใจและฟังเสียงจากประชาชนด้วยถึงจะสำเร็จ โดยการจะทำให้เกิด Empathy ดังกล่าวได้ เจ้าหน้าที่รัฐควรที่จะต้องมีการลงพื้นที่เพื่อสอบถามและทำความเข้าอกเข้าใจปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา

“ข้อมูลดิจิทัลเป็นข้อมูลที่อาจจะไม่มีความ Empathy อย่างเช่นถ้าข้อมูลบอกเราว่าคนกรุงเทพฯ ไปทำงานสาย ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นถึงเมือง มากกว่าสะท้อนให้เห็นถึงคน ถ้ารถไม่ติดคนก็อยากไปทำงานเร็ว ดังนั้นหัวใจของการสร้างเมืองให้เหมาะสมก็คือการมี Empathy ควบคู่ไปกับข้อมูล” คุณชัชชาติกล่าว