‘ทรู ดิจิทัล พาร์ค’ เปิดตัวศูนย์บริการ ช่วยต่างชาติเปิดธุรกิจ-ขอวีซ่าทำงาน ในไทย
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศนับว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศเจริญก้าวหน้า ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังมีโอกาสที่แรงงานในประเทศที่รับการลงทุนจะได้เข้าถึงความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากประเทศต้นทาง ส่งผลให้เป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศในระยะยาว
สำหรับประเทศไทยนั้น กำลังประสบปัญหาสูญเสียนักลงทุนต่างชาติให้กับประเทศเพื่อนบ้านมากยิ่งขึ้น สะท้อนให้เห็นจากรายงานของ ASEANstats ที่ระบุว่า ในปี 2567 ประเทศไทยมีมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI อยู่ที่ 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงมากกว่าครึ่งจากปีก่อนหน้า และยังเป็นมูลค่าน้อยที่สุดอันดับ 6 ในบรรดา 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วย ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศนี้ มาจากความยุ่งยากในการเข้ามาลงทุน ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการขอใบอนุญาตการทำงานหรือการทำธุรกิจที่ยุ่งยาก กฎระเบียบจำนวนมาก รวมไปถึงเรื่องความยุ่งยากในการขอวีซ่าเพื่อเข้ามาในประเทศไทย
ด้วยเหตุนี้เอง ทรู ดิจิทัล พาร์ค จึงได้จัดตั้ง “TDPK International Service Center” ศูนย์บริการครบวงจรที่ช่วยให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาตั้งธุรกิจและพำนักในไทยได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนและประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายหลังจากที่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ให้เป็นตัวแทนที่ได้รับการรับรองให้ดูแลชาวต่างชาติในการยื่นขอวีซ่าพำนักระยะยาว หรือ Long-Term Resident Visa และผู้ให้บริการด้านการสนับสนุนการเข้าสู่ตลาดประเทศไทย
บริการของ TDPK International Service Center แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. บริการวีซ่า
บริการที่จะส่งเสริมให้ชาวต่างชาติสามารถมาพำนักในประเทศไทยในระยะยาวได้อย่างถูกกฎหมาย เช่น วีซ่าพำนักระยะยาว (Long-Term Residence Visa) บัตรไทยแลนด์ พริวิเลจ (Thailand Privilege Card) สมาร์ตวีซ่า (SMART Visa) สำหรับผู้ประกอบการและสตาร์ตอัป และวีซ่านักท่องเที่ยว ประเภทพิเศษ (Destination Thailand Visa)
วีซ่าพำนักระยะยาวหลัก ๆ แล้วมีอยู่ด้วยกัน 4 ประเภท ได้แก่ LTR Work-From-Thailand Professionals สำหรับชาวต่างชาติที่ทำงานบ. ต่างประเทศแต่พำนักในไทย, LTR High-Skilled Professionals สำหรับชาวต่างชาติที่ทำงานบ. ไทยและพำนักในไทย, LTR Wealthy Global Citizen สำหรับนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในไทยมากกว่า 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ, LTR Wealthy Pensioners สำหรับชาวต่างชาติวัยเกษียณที่มีฐานะ นอกจากนี้ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ยังให้คำแนะนำเรื่องการตั้งถิ่นฐาน และให้คำแนะนำด้านการดูแลสุขภาพและประกัน เพื่อให้ชาวต่างชาติสามารถปรับตัวกับการใช้ชีวิตในประเทศไทยได้ง่ายยิ่งขึ้น
โดยที่ผ่านมา ทรู ดิจิทัล พาร์ค ได้สนับสนุนนักลงทุนต่างชาติกว่า 100 ราย จาก 32 ประเทศ ให้ได้รับ SMART Visa และให้การช่วยเหลือนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะสูงกว่า 50 ราย จาก 15 ประเทศ ในการขอ LTR Visa รวมถึงยังดึงดูดบริษัทต่างชาติกว่า 300 บริษัท ผ่านโปรแกรม Global Startup หรือเช่าพื้นที่สำนักงานและพื้นที่โคเวิร์กกิงสเปซ
2. บริการด้านธุรกิจแบบครบวงจร
บริการดูแลเรื่องการปรึกษาด้านธุรกิจ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย การจัดตั้งบริษัทในประเทศไทย และการเชื่อมโยงเครือข่ายและนักลงทุน เพื่อเป็นโอกาสทางธุรกิจในอนาคต รวมไปจนถึงการหาพื้นที่สำนักงานและโคเวิร์กกิงสเปซ ที่จะเป็นที่อยู่สำหรับการจัดตั้งบริษัท
3. เติมเต็มไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต
บริการเติมเต็มไลฟ์สไตล์ให้กับชาวต่างชาติที่มาใช้ชีวิตในประเทศไทย เช่น ฟิตเนส สปา ร้านอาหาร และโรงเรียนนานาชาติ รวมไปถึงกิจกรรมสร้างเครือข่ายชุมชนชาวต่างชาติในประเทศไทยที่จัดขึ้นเฉพาะกลุ่ม เช่น ชมรมวิ่ง และกิจกรรมสันทนาการอื่น ๆ “ทรู ดิจิทัล พาร์ค ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแรงขับเคลื่อนนี้ เรามุ่งมั่นที่จะดึงดูดนักลงทุนและนักธุรกิจต่างชาติให้เข้าสู่ประเทศไทยผ่าน TDPK International Service Center เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวในปี 2568 โดยเน้นนำเสนอบริการที่ครอบคลุมและมีคุณภาพ ควบคู่กับการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจและนวัตกรรม พร้อมกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย การสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง และส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดผู้มีศักยภาพจากทั่วโลก เรามั่นใจว่า ความพยายามต่อเนื่องนี้จะช่วยเสริมสร้างการเติบโตของธุรกิจในประเทศไทย ช่วยผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยให้เติบโตและแข่งขันได้ในระดับโลก” ดร.ธาริต นิมมานวุฒิพงษ์ ผู้จัดการทั่วไป ทรู ดิจิทัล พาร์ค กล่าว
นอกจากการเปิดตัวศูนย์บริการดังกล่าว True Digital Park ยังได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง “What’s the Global View in Thailand – Shaping International Business in the Heart of ASEAN” โดยที่มีตัวแทนจากต่างประเทศ 3 ท่านเข้าร่วมเสวนาถึงโอกาสทางธุรกิจและความท้าทายของไทยในอนาคต ได้แก่ Kajiwara Toru รัฐมนตรีและหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น, Zak Lawton เลขานุการเอกฝ่ายเทคโนโลยีและหัวหน้าฝ่ายการลงทุน สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร และ Eric Lauer ที่ปรึกษาด้านการค้าและการลงทุน สถานเอกอัครราชทูตลักเซมเบิร์ก โดยคุณ Lawton เปิดเผยว่า “เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยเป็นภาคส่วนที่น่าจับตามอง จากความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เช่น อินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมและการเข้าถึงเทคโนโลยีที่สูง โดยเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยมีการเติบโตถึง 25% ต่อปี และอาจเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
ขณะที่คุณ Lauer ให้มุมมองว่า “ไทยมีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตต่าง ๆ และยังสามารถขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ในอนาคต จากศักยภาพของตลาดทุนและเทคโนโลยีทางการเงินที่ก้าวหน้า”
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ยังมีความท้าทายอยู่หลายอย่าง ก่อนที่จะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของภูมิภาคได้ โดยคุณ Lawton แนะนำว่า ไทยควรปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัยมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การลดการใช้เอกสารกระดาษในการทำการค้าหรือระบบราชการต่าง ๆ เพื่อประหยัดทั้งทรัพยากร ลดความยุ่งยาก และระยะเวลาในการทำธุรกรรม
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยด้านการขาดแคลนทรัพยากรบุคคลฝีมือขั้นสูง ที่อาจส่งผลให้ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่สูงขึ้นในอนาคต โดยหนึ่งในวิธีการแก้ไขปัญหาขาดแคลนทรัพยากรบุคคลดังกล่าว สามารถทำได้โดยการขยายการลงทุนในการศึกษา ในสาขาที่เกี่ยวข้องและการส่งเสริมการฝึกฝนในทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต
คุณ Toru เสริมด้วยว่า “ไทยยังมีความท้าทายสู่การเปลี่ยนผ่านไปเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับอนาคต จากการที่ไทยยังมีปัญหาในด้านการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศและการจัดการขยะ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเลือกจะนำเม็ดเงินไปลงทุนประเทศอื่นในระยะยาว โดยทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวก็คือ การลงทุนในพลังงานสะอาด”
คุณ Lauer กล่าวทิ้งท้ายว่า “ความท้าทายที่ทุกประเทศต้องเจอในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติก็คือ ความยุ่งยากในทำธุรกิจ และการขาดแคลนบุคลากรที่เพียงพอ”
เขียนและเรียบเรียง : พรบวร จิรภัทร์วงศ์
ติดตาม Business+ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/