ค่าเงินบาทของไทยยังอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องเหมือนที่ ‘Business+’ เคยได้วิเคราะห์เอาไว้ในคอนเทนต์ก่อนหน้านี้ ซึ่งในวันนี้เราจะมาพูดถึงผลกระทบที่แสนจะน่ากลัวจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวรุนแรงเหมือนกับวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 โดยปัญหาในครั้งนั้นมีตัวแปรที่แตกต่างกันกับครั้งนี้ แต่ในเชิงของผลกระทบจากค่าเงินบาท ต้องบอกว่า “มีความร้ายแรงใกล้เคียงกัน”
สาเหตุที่เรามองแบบนี้ เพราะว่าตอนนี้ค่าเงินอ่อนค่ามาจนถึงระดับ 35.89 บาทต่อดอลลาร์ในวันนี้ (6 ก.ค.2565) ยังคงทำนิวไฮในรอบ 5 ปีอย่างต่อเนื่อง โดยแนวโน้มจะอ่อนค่าอย่างรวดเร็วจนทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์ ได้เร็วๆ นี้
หากนับตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบัน (YTD) เราจะเห็นว่าค่าเงินบาทอ่อนค่ามาแล้ว 2.58 บาท/ดอลลาร์ฯ จากระดับ 33.310 บาท เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2565
ซึ่งแน่นอนว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอย่างรุนแรงและรวดเร็วจะกลายเป็นวิกฤตของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ และคนที่กู้เงินต่างประเทศเอาไว้จำนวนมาก เพราะค่าเงินบาทที่อ่อนค่าขึ้นทำให้ต้องใช้เงินมากขึ้นในการจ่ายหนี้เดิม
ถึงแม้ผลกระทบครั้งนี้ยังไม่สูงเทียบเท่ากับปี 2540 ที่เราเคยเจอมา แต่ต้องบอกว่าความอันตรายจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่านี้แฝงไปด้วยความน่ากลัว โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศของเรามีจุดอ่อนหลายด้าน
ทั้งจากเสถียรภาพทางการเมือง ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่กว่าจะฟื้นตัวเหมือนก่อน COVID-19 อาจจะกินเวลาไปอีกยาวนาน รวมไปถึงการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า และเงินบาทอ่อนค่าตาม
#ย้อนดูผลกระทบช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง
เรามาย้อนดูช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งกันสักหน่อยว่า ไทยเราได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง? ในปีที่เราได้รับผลกระทบหนักสุดจากค่าเงินบาทอ่อนค่าเป็นระดับประวัติศาสตร์ คือขึ้นมาสูงสุดที่ 56.1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (12 มกราคม 2541) หรือราว 24 ปีที่ผ่านมา
ซึ่งรากฐานของปัญหาในขณะนั้นเกิดจากภาคการเงินของประเทศไทยเอง เพราะคนไทย หรือนักธุรกิจไทยขณะนั้นกู้ยืมเงินจากต่างประเทศจำนวนมาก จากแนวคิดเสรีทางการเงิน ทำให้การเคลื่อนย้ายเงินตราระหว่างประเทศเป็นไปอย่างเสรี
ในช่วงแรกได้ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างมาก ไปสุดที่ระดับ 15 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งผลเป็นผลเสียต่อผู้ส่งออก เพราะข้าวของในเมืองไทยจะแพงในสายตาต่างชาติ ดังนั้น ภาคการเงินไทยจึงได้แก้ปัญหาด้วยการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนที่ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์
หลังจากนั้น ไทยเรายังเปิดให้กู้เงินจากต่างประเทศ มาปล่อยกู้ในประเทศไทยต่อได้ เพราะส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐฯ ต่างกันมาก นั่นทำให้คนที่กู้เงินต่างชาติมาปล่อยกู้ต่อได้กำไรจากดอกเบี้ยเป็นกอบเป็นกำ (ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสูงราว 10%) และการตรึงค่าเงินบาททำให้การกู้ยืมเงินจากต่างประเทศง่ายขึ้นเพราะไม่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
โดยที่ภาคธุรกิจได้นำเงินกู้เหล่านั้น ไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และอีกส่วนหนึ่งลงในตลาดหุ้น ในช่วงนั้นจึงเกิดเป็นภาวะฟองสบู่ขึ้นมา (ของแพงเกินมูลค่า หรือเกินความเป็นจริง)
เมื่อไทยทำการกู้เงินมาต่อเนื่อง ก็มาถึงวันที่โครงสร้างการกู้เงินของไทยพึ่งพาเงินกู้ของไทยมาจากต่างประเทศมากเกินไป ไทยในขณะนั้นมีภาระหนี้สาธารณะสูงมาก ต่างชาติเริ่มกังวลกับการปล่อยกู้ให้กับเรา และนักลงทุนเริ่มถอนเงินออกจากไทย ราคาสินทรัพย์จึงทรุดตัว
ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ก่อนหน้านี้เก็งกำไรกันขึ้นไปถึงช่วงฟองสบู่แตก ยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นในประเทศไทยน้อยลง เจ้าหนี้ต่างประเทศเริ่มไม่มั่นใจที่จะปล่อยกู้
นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติพากันถอนทุนออกจากไทย ทางกองทุนเทขายเงินบาททิ้ง ซึ่งการที่เราใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ตรึงเอาไว้กับเงินดอลลาร์ ทำให้ยิ่งเงินบาทอ่อนค่ามากเท่าไหร่ ต้นทุนของการดำรงทุนสำรองระหว่างประเทศก็ยิ่งสูงขึ้นตาม เพราะเมื่ออัตราแลกเปลี่ยนจริงสูงกว่าระดับที่กำหนด ธปท. ต้องเข้า “ซื้อเงินบาท” ด้วยดอลลาร์ที่มีอยู่เพื่อรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนกลับมาอยู่ในค่าที่กำหนดไว้นั่นคือ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์
โดยในช่วงนั้น เราต้องรับมือกับการโจมตีค่าเงินบาท และใช้ทุนสำรองไปถึง 29.5 พันล้านดอลลาร์ เล่ามาถึงจุดนี้ เริ่มมองเห็นหายนะหรือยัง?
ถึงแม้ ธปท.ได้พยายามแก้ไขปัญหาหลายด้านเพื่อประคองค่าเงินบาท แต่สุดท้ายต้องยอมปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวเพราะยื้อไม่ไหว ทำให้ตอนนั้นคนไทยที่เป็นหนี้ต่างชาติกลายเป็นหนี้เพิ่มขึ้น 2 เท่า (จาก 25 บาท/ดอลลาร์กลายเป็น 50 บาท/ดอลลาร์) นำไปสู่การปิดตัวของบริษัทไฟแนนซ์กว่า 58 ราย และสถาบันการเงินต้องล้มละลายไปหลายเจ้า ซึ่งเป็นตัวฉุดให้เศรษฐกิจตกตํ่าอย่างรุนแรง
และเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจล่มสลาย รัฐบาลไทยได้ไปขอความช่วยเหลือทางการเงิน หรือพูดง่ายๆ ว่าไปขอกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจของประเทศล้มละลาย
ความน่ากลัวของค่าเงินบาทที่อ่อนค่านั้น มีผลกระทบที่รุนแรง เพราะภาคการเงินเป็นส่วนหล่อเลี้ยงหลายๆ ธุรกิจ และหลายๆอุตสาหกรรมในประเทศ
ถึงแม้ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในรอบนี้ มีสาเหตุที่แตกต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่เกิดจากภาคการเงิน วิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ การกู้ยืมเงินต่างประเทศเกินตัว และการที่ไทยเรามีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศน้อย
ซึ่งรอบนี้เป็นวิกฤตจากดอลลาร์ที่แข็งค่าตามแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หลังเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะเงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนพลังงานสูงขึ้นทั่วโลก รวมไปถึงการซบเซาของเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหลังเผชิญ COVID-19 และการอ่อนค่าของเงินบาทในรอบนี้ ไม่น่าจะรุนแรงเท่าปี 40
แต่แนวโน้มการอ่อนตัวของเงินบาทในภาวะที่เศรษฐกิจไม่เติบโต และมีเงินเฟ้อเป็นตัวกดดันอย่างหนักก็อาจทำให้ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบที่ไม่ต่างกัน โดยเฉพาะกับบริษัทที่มีสัดส่วนของหนี้สินต่างชาติสูงนั่นเอง นอกจากนี้ยังทำให้ประเทศขาดดุลการค้าเพิ่ม เพราะเราต้องใช้เงินบามมากขึ้นในการนำเข้า
ถึงแม้ว่าปัจจุบัน ธปท.จะเข้ามาแทรกแซงค่าเงินบาท จากการที่ไทยใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Float) ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. ได้เข้าไปแทรกแซงค่าเงินเฉลี่ยสัปดาห์ละ 3,000-5,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อพยุงไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าเกินไป แต่ก็ยังไม่อาจจะต้านทานเม็ดเงินที่ไหลออกจากการที่สหรัฐฯ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้
สิ่งที่รัฐบาลจะทำได้คือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามสหรัฐฯ ถึงแม้จะทำให้หนี้ของประชาชนเพิ่มขึ้น ภาคธุรกิจอาจซบเซา (เพราะกู้มาทำธุรกิจมีต้นทุนสูง อาจชะลอการลงทุน) แต่ก็ช่วยทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาได้บ้าง
หากใครยังไม่ได้อ่านคอนเทนต์ก่อนหน้าเกี่ยวกับแนวโน้มค่าเงินบาท ผลกระทบ และวิธีป้องกันตัวสำหรับผู้ดำเนินธุรกิจ สามารถย้อนกลับไปอ่านบทความเดิมกันได้ที่
https://www.facebook.com/businessplusonline/photos/a.364233346979241/5239463129456214/
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ที่มา : botl ,data.worldbank
.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/