‘เถ้าแก่น้อย’ ยังเป็นเจ้าตลาดสาหร่าย แกะงบฯ ครึ่งปีแรกยอดขายต่างประเทศโตแรง แต่ธุรกิจ ‘ชานมไต้หวัน’ มาไวไปไวเหมือนโกหก

บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN เจ้าของแบรนด์ขนมขบเคี้ยว ที่รู้จักกันดีคือ ‘สาหร่ายเถ้าแก่น้อย’ ประกาศกำไรสุทธิครึ่งปีแรกของปี 2565 ออกมาเติบโตโดดเด่น แม้จะเผชิญกับภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง

แต่หากเจาะข้อมูลเข้าไปจะเห็นข้อมูลว่า สินค้าของบริษัทนี้ก็ไม่ได้ขายดีเหมือนกันทั้งหมด เพราะหนึ่งในสินค้าที่เคยได้รับการตอบรับค่อนข้างดีอย่าง ‘ชานมไต้หวัน’ ในวันนี้กลับกลายเป็นสินค้าที่ฉุดการเติบโตของบริษัทไปเสียอย่างงั้น หนำซ้ำในแง่ของการขยายตลาดกลับไปเติบโตได้ดีในต่างประเทศ ส่วนในประเทศนั้นกลับหดตัวอย่างชัดเจน

‘เถ้าแก่น้อย’ ประกาศกำไรสุทธิไตรมาส 2/2565 ออกมาที่ 70.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 218% จากปีก่อนมีกำไรสุทธิ 22.24 ล้านบาท และเมื่อมองภาพรวมของครึ่งปีแรกพบว่า มีกำไรสุทธิ 133.59 ล้านบาท เติบโต 70.31% จากช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 78.44 ล้านบาท

โดย ‘Business+’ ได้แกะข้อมูลจาก Annual report และพบสาเหตุที่ทำให้กำไรสุทธิของ ‘เถ้าแก่น้อย’ เติบโตอย่างก้าวกระโดดขนาดนี้มีจากสาเหตุหลัก ๆ 2 ข้อด้วยกัน

1. รายได้จากการขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 22.4% เมื่อเข้าไปดูถึงรายละเอียดจะเห็นว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากตลาดต่างประเทศ ทั้งจากจีน และสหรัฐอเมริกา มาเลเซีย และเวียดนาม ที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับตลาดในประเทศที่เติบโตลดลง โดยสิ้นไตรมาสที่ 2 เราพบว่า ‘เถ้าแก่น้อย’ มีสัดส่วนยอดขายในประเทศอยู่ที่ 38% ขณะที่ตลาดต่างประเทศอยู่ที่ 62%

โดยตลาดในประเทศมีรายได้จากการขายไตรมาสที่ 2 จำนวน 363.9 ล้านบาท ลดลง 5% ส่วนตลาดต่างประเทศ มีรายได้ 594.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48.6%

ขณะที่หากมองแยกเป็น 2 สินค้า พบว่ายอดขายในตลาดสาหร่าย ซึ่งเป็นสินค้าหลักเติบโตทุกช่องทาง โดยยังสามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดสาหร่ายอยู่ที่ 63% และมีการเติบโต 11% ใกล้เคียงกับมูลค่าของตลาดสาหร่ายรวม (อ้างอิงข้อมูลจาก AC Nielsen)

แต่ในส่วนของเครื่องดื่มชานมไต้หวัน ‘จัสท์ดริ้งค์’ กลับเริ่มหดตัว หลังจากเข้ามาเป็นกระแสในต้นปี 2564 ที่เริ่มทำการเปิดตัว สาเหตุอาจจะมาจากการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดเครื่องดื่ม ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกที่หลากหลาย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีแฟรนไชส์ชานมไข่มุกเกิดขึ้นจำนวนมากในไทย ทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่ยึดติดอยู่กับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง และยังมีผลกระทบส่วนหนึ่งมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง

ถึงแม้ข้อมูลจาก fortune business insights จะพบว่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลาดชานมไข่มุก จะมีมูลค่าตลาดสูง และคาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตขึ้นเป็นเลขเกือบ 2 หลัก คือ 9.3% ต่อปี แต่การที่ชานมไต้หวันของ ‘เถ้าแก่น้อย’ ที่ไม่เติบโตถือเป็นหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่บริษัทอาจจะต้องเร่งพัฒนาคุณภาพ และรสชาติให้เทียบเท่าชานมที่ชงสด และยังต้องเพิ่มความแปลกใหม่ให้กับผู้บริโภคอยู่เสมอ

2. กำไรขั้นต้นปรับตัวเพิ่มขึ้น โดย ‘เถ้าแก่น้อย’ มีกำไรขั้นต้นไตรมาสที่ 2 จำนวน 253.4 ล้านบาท คิดเป็น 26.4% ของรายได้จากการขาย หากคิดสัดส่วนกำไรขั้นต้นต่อยอดขายจะพบว่ามีการปรับเพิ่มขึ้น 2.9% จากไตรมาสเดียวกันปีที่ผ่านมา สาเหตุมาจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นทำให้ค่าใช้จ่ายการผลิตลดลงจากการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตคงที่ต่างๆ และมีค่าแรงต่อหน่วยที่ลดลงจากการรวมฐานการผลิตมาที่โรงงานโรจนะ (เกิดการประหยัดต่อขนาด)

นอกจากนี้ยังมีการใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงาน ทำให้มีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการบริหารต้นทุนในส่วนวัตถุดิบต่างๆ ได้ดี ทั้งในส่วนของสาหร่ายที่มีสัญญาซื้อทั้งปีและวัตถุดิบหลักบางตัวที่สามารถบริหารเรื่องราคาได้ดีในช่วงครึ่งปีแรกให้ผันผวนน้อยกว่าราคาตลาด

#แนวโน้มการเติบโต
สำหรับแนวโน้มธุรกิจในครึ่งปีหลังของปี 2565 ของ ‘เถ้าแก่น้อย’ เราอาจจะได้เห็นการเริ่มฟื้นตัวตามธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศที่จะกลับมาดีมากขึ้นจากการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว และการนำเสนอนวัตกรรมสินค้าใหม่ๆ สู่ตลาด ซึ่งจะทำให้มีแนวโน้มของยอดขายที่ดีขึ้นในส่วนของธุรกิจสาหร่ายและธุรกิจร้านอาหาร

ขณะที่ในส่วนของตลาดต่างประเทศ นั้น พบว่า สถานการณ์ COVID-19 ในประเทศจีน เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และคาดว่าจีนจะเปิดประเทศมากขึ้นในไตรมาส 4 เป็นอย่างช้า ซึ่งจะส่งผลดีต่อในเรื่องของยอดขายที่สูงกว่าในครึ่งปีแรก รวมถึงตลาดต่างประเทศอื่นๆ ที่บริษัทฯ ยังคงผลักดันอย่างต่อเนื่องในเรื่องของการขยายฐานลูกค้าและสินค้าใหม่ๆ รวมถึงสถานการณ์การขนส่งทางเรือเริ่มเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการจัดหาตู้คอนเทนเนอร์ได้เพียงพอต่อการส่งออก

อย่างไรก็ตามเรื่องต้นทุนของวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ยังคงเป็นความท้าทายในการบริหารจัดการต้นทุนของบริษัทฯ ในครึ่งปีหลัง ซึ่งบริษัทฯ ยังคงใช้นโยบาย GO FIRM เพื่อให้การบริหารค่าใช้จ่ายภายในให้มีประสิทธิภาพสูงสุดโดยไม่ให้ส่งผลต่อภาพรวมของกำไร

โดยที่นโยบาย GO FIRM ของ ‘เถ้าแก่น้อย’ คือการมุ่งปรับองค์กรให้กระชับ (Lean) คล่องตัวและรวดเร็วขึ้น เพื่อลดต้นทุน ทำให้บริษัทปรับตัวได้เร็วและมีความยืดหยุ่นพร้อมรองรับแผนงานในอนาคต

เขียนเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : SET

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เถ้าแก่น้อย #TKN #ขนมคบเคี้ยว