นักศึกษาภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี แสดงไอเดียสุดเจ๋งในนิทรรศการศิลปนิพนธ์ ณ เวนิชอาร์ทสเปซ วัชพล
จิตรกรนักปฏิบัติมืออาชีพ 67 ชีวิต จาก 4 สาขาวิชาของภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) จัดแสดงนิทรรศการศิลปนิพนธ์ครั้งที่ 28 ณ เวนิชอาร์ทสเปซ วัชพล กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีเป็นประธานในพิธีเปิด
ซึ่งทุกคนต่างรังสรรค์ผลงานจนเกิดเป็นศิลปะที่มีความเฉพาะตัว และเปิดโอกาสให้สาธารณชนเข้าร่วมชมและประเมินคุณค่าผลงาน โก๋ – พีรพล อินทร์ตุ้ม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาศิลปะไทย วัย 25 ปี จิตรกรผู้ร่วมจัดแสดงผลงานครั้งนี้ เล่าถึงผลงานของตนด้วยในชื่อผลงาน ‘สัมพันธภาพในความขัดแย้ง’ (ชิงนาง) ที่อธิบายถึงเรื่องราวความเป็นมาของสังคมทั้งในปัจจุบันและอดีต ผ่านการใช้สัญญะที่มีในวัตถุ สิ่งของ ที่ตนสะสมและผูกพันมาตั้งแต่วัยเด็ก นำมาเล่าเรื่องราว ร้อยเรียงให้เกิดความหมาย ใช้เทคนิคการจัดวางองค์ประกอบ จัดท่าทางของวัตถุ สิ่งของต่าง ๆ อย่างมีระบบและแฝงไปด้วยนัยยะที่สำคัญ
“ผลงานสัมพันธภาพในความขัดแย้ง (ชิงนาง) ได้หยิบยกความเป็นไทยจากเรื่องรามเกียรติ์ ตอนศึกชิงนาง เข้ามาขยายความ โดยใช้โมเดลรูปปั้นวีนัสสีขาว วางองค์ประกอบตรงกลาง เปรียบเสมือนนางสีดา และนำเอาโมเดลฮีโร่ที่ตนเองสะสมไว้ตั้งแต่เด็กมาเป็นองค์ประกอบร่วม คล้ายกับกำลังต่อสู้หรือกำลังทำสงคราม และจัดวางองค์ประกอบทั้งหมดให้เหมือนกับละครเวที” เจ้าของผลงาน อธิบาย
ส่วนผลงานอีกหนึ่งชิ้น มีลักษณะคล้ายกัน แต่พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง มีองค์ประกอบของภาพมากกว่า ใช้โมเดลสะสมจำพวกสัตว์ ตัวการ์ตูนต่าง ๆ และรถถัง ที่สื่อให้เห็นถึงการต่อสู้ ดิ้นรน รวมถึงการอยู่ร่วมกัน และมีความพิเศษตรงที่ของทุกชิ้นวางอยู่บนกระจกสีดำ ซึ่งจะให้เงาสะท้อน แฝงไปด้วยนัยยะที่หลายคนต่างตีความไปในทิศทางเดียวกันในเรื่องของสัจธรรมชีวิตและการกระทำ
โก๋ อธิบายการสร้างสรรค์ผลงานโดยเริ่มต้นจากการนำโมเดลของสะสมมาจัดวางตามจิตนาการ จัดแสงให้ดูมีมิติ มีความหมาย แล้วถ่ายภาพ จากนั้นนำมาวาดด้วยสีอะคริลิคลงบนเฟรมผ้าใบ และได้ตัดทอดความจริงออกไปบ้าง แต่ยังแฝงด้วยความหมายที่ตนเองต้องการจะสื่อออกไป โดยมี อาจารย์คมกริช สวัสดิรมย์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ทั้งสองภาพอาจต่างกันที่องค์ประกอบ แต่ให้ความสนุกของสีและชวนให้คิด ตีความตามการรับรู้ของผู้เข้าชมแต่ละคน
จากของสะสมเกือบ 200 ชิ้น ที่มีคุณค่าต่อจิตใจ สนนราคาตั้งแต่หลักสิบหลักร้อยจนถึงหลักพัน ถูกเลือกมาเป็นโมเดล ก่อเกิดเป็นงานศิลปนิพนธ์ในครั้งนี้ “รู้สึกภาคภูมิใจ ที่หลายคนเข้ามาชมผลงานและร่วมกันตีความ ประเมินคุณค่าผลงานไปในทิศทางที่ดี” ถือเป็นจุดเปลี่ยนอันยิ่งใหญ่ ก่อนที่จะสำเร็จการศึกษา และออกไปทำงานตามความฝันที่ตั้งใจไว้ นั่นคือ การเป็นจิตรกรมืออาชีพ
เมื่อย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่เรียนที่โรงเรียนอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี และ มทร.ธัญบุรี โก๋เคยได้รับรางวัลมากมาย เช่น พ.ศ.2555 รางวัลยอดเยี่ยมวาดเส้นสร้างสรรค์ รางวัลยอดเยี่ยมองค์ประกอบศิลป์ วิทยาลัยช่างศิลปะสุพรรณบุรี รางวัลชนะเลิศผลการประกวดวาดภาพเด็กและเยาวชนเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ.2556 รางวัลยอดเยี่ยมด้านจิตรกรรม วิทยาลัยช่างศิลปสุพรรณบุรี รางวัลทุนนริศรานุวัดติวงศ์
พ.ศ.2560 เข้าร่วมแสดงผลงานจิตรกรรมบัวหลวงครั้งที่39 พ.ศ.2561 – 2562 เข้าร่วมโครงการ Young Artist Talent ครั้งที่ 9-10 พ.ศ.2561 ได้รับทุนจากมูลนิธิรัฐบุรุษพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ทั้งยังเข้าร่วมโครงการดาวเด่นบัวหลวง 101 ปีที่11 และพ.ศ.2562 ได้รับรางวัลที่ 3 ศิลปกรรมกรุงไทยครั้งที่ 4
“ความภาคภูมิใจที่ไม่ลืมเลือนและเป็นเกียรติมากที่สุดในชีวิต เมื่อ พ.ศ.2556 ได้เข้าเฝ้าและทูลเกล้าฯ ถวายผลงานศิลปะแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” โก๋ เล่า
นิทรรศการศิลปนิพนธ์ครั้งที่ 28 ณ เวนิชอาร์ทสเปซ วัชพล กรุงเทพฯ เปิดให้ชมฟรีตั้งแต่วันนี้ – 20 เมษายน 2562 สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ได้ Facebook : Episode 67 Art Thesis Exhibition และหากต้องการสอบถาม แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านศิลปะเพิ่มเติม โทร.099-0527478.