สรุปแนวคิดจาก ‘หนังสือ The Lean Startup’ ที่องค์กรระดับโลกใช้

ก่อนที่เราจะเริ่มพัฒนาโปรดักต์หนึ่ง หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าเราควรใช้เวลาในการศึกษาตลาดและพัฒนาสินค้าให้สมบูรณ์แบบหมดจด ซึ่งอาจจะกินเวลาหลายเดือนหรืออาจถึงขั้นปี แต่ในยุคปัจจุบันที่ความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนั้น ขั้นตอนดังกล่าวอาจช้าเกินไป ดังนั้นวันนี้ Business+ จะมาเขียนถึงแนวคิดจากหนังสือ The Lean Startup ของคุณ Eric Ries ที่จะเสนอให้ทำตรงกันข้ามกับแนวคิดแบบดั้งเดิม

หลักการสำคัญของ The Lean Startup ก็คือการ Build-Measure-Learn หรือภาษาไทยคือ สร้าง-วัดผล-เรียนรู้ โดยเจ้าของสตาร์ตอัปควรเริ่มต้นด้วยการตั้งสมมติฐาน หรือหา Pain Point ของตลาดก่อน แล้วจึงสร้างโปรดักต์ที่เป็น Most Viable Product หรือ MVP แปลตรงตัวว่า สินค้าที่ใช้งานได้มากที่สุด โดยคุณ Ries ระบุว่า MVP จะต้องเป็นโปรดักต์ขั้นพื้นฐานที่สามารถส่งมอบคุณค่า หรือแก้ Pain Point ให้แก่ผู้บริโภคได้

หลังจากนั้น เจ้าของสตาร์ตอัปควรทดลองออก MVP ในวงแคบหรือกับจำนวนลูกค้าที่จำกัด แล้ววัดผลตอบรับโดยการสังเกตพฤติกรรมของผู้บริโภคต่อโปรดักต์ใหม่ ทั้งนี้การวัดค่าที่คุณ Ries เสนอในหนังสือมีเป้าหมายหลักคือการเรียนรู้ความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง อย่างเช่น การวัดจำนวนการซื้อซ้ำของโปรดักต์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่บ่งชี้ถึงความชื่นชอบในตัวโปรดักต์ได้ดีกว่าตัวเลขเช่น อัตราส่วนผลตอบแทนต่อการลงทุน เป็นต้น

หลังจากที่ได้วิเคราะห์ข้อมูลมาอย่างดีแล้วก็มาถึงขั้นตอนการตัดสินใจว่าเราควรเริ่มต้นใหม่ด้วยการปรับเปลี่ยนโปรดักต์หรือสมมติฐานตั้งต้นของเราไปเลย หรือถ้าสมมติฐานของเราถูกต้องแล้ว เราจึงค่อยนำโปรดักต์นั้นมาต่อยอดต่อไป ซึ่งกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบนี้ควรกระทำซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะสามารถหาโปรดักต์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ข้อดีของ Lean Startup คือ ขั้นตอนต่าง ๆ จะใช้เวลาไม่มากนัก จึงเหมาะกับสตาร์ตอัป อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้สามารถปรับใช้ได้กับทุกองค์กรไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัทระดับโลกหลายแห่งที่ใช้แนวคิดนี้ โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือบริษัท Meta เจ้าของแพลตฟอร์ม Facebook และ Instagram นั่นเอง

เมื่อหลายปีก่อน Meta ที่ขณะนั้นยังใช้ชื่อว่า Facebook ต้องเจอกับคู่แข่งอย่าง Snapchat ที่สามารถดึงดูดผู้ใช้รุ่นใหม่จากฟีเชอร์การอัดคอนเทนต์ ที่จะหายไปใน 24 ชั่วโมง ลงบนแพลตฟอร์ม ทำให้ Facebook หันมาออก MVP ของตัวเอง ซึ่งก็คือ Stories ใน Instagram เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้ใช้เป้าหมายมาจาก Snapchat โดย Stories ในช่วงเริ่มต้นแทบจะไม่มีฟีเชอร์อะไรให้เล่นแบบทุกวันนี้ และยังเปิดให้ผู้ใช้เข้าถึงในจำนวนที่จำกัด

อย่างไรก็ตาม Stories ดังกล่าวได้รับผลตอบรับที่ดี จน Facebook สามารถนำข้อมูลต่าง ๆ มาต่อยอดเพิ่มฟีเชอร์ต่าง ๆ และปล่อยออกให้ผู้ใช้ในวงกว้างมากขึ้น จนปัจจุบัน Stories กลายเป็นฟีเชอร์ยอดนิยมของ Instagram แล้ว

นี่คือตัวอย่างขององค์กรที่ใช้ Lean Startup จนออกโปรดักต์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ อย่างไรก็ตามแนวคิด Lean Startup นี้ก็มีข้อจำกัดอยู่ ได้แก่ แนวคิดนี้ไม่สามารถปรับใช้ได้กับองค์กรที่มีต้นทุนในการพัฒนาสินค้าสูง เช่น ผู้ผลิตเครื่องบิน เป็นต้น หรือ บางครั้งการออก MVP บ่อย ๆ ก็อาจส่งผลให้ภาพลักษณ์แบรนด์เสียได้ นอกจากนี้แนวคิดดังกล่าวควรปรับใช้กับองค์กรที่มีวัฒนธรรมที่เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างปัญหาภายในองค์กร อีกด้วย

 

ที่มา: หนังสือ The Lean Startup โดย Eric Ries, หนังสือ No Filter: The Inside Story of Instagram โดย Sarah Frier

ผู้เขียนและเรียบเรียง: พรบวร จิรภัทร์วงศ์

 

ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus

Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

Youtube : https://www.youtube.com/@thebusinessplus7829