เปิดงบ ‘ไทยสมายล์’ ขาดทุนยาวจากปี 2556-2565 รวมขาดทุนสะสมทะลุ 2 หมื่นล้านบาท

ปิดฉากลงไปเรียบร้อยแล้วสำหรับสายการบิน ‘ไทยสมายล์’ หลังให้บริการเที่ยวบินสุดท้ายไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ถือเป็นการส่งท้ายปีและส่งท้ายสายการบินอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นไปตามแผนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทแม่ ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI

โดยแผนฟื้นฟูดังกล่าว มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทลูก อย่าง บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ผู้ให้บริการสายการบิน ‘ไทยสมายล์แอร์เวย์ในส่วนของการบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่งเกี่ยวกับประเด็นนี้ ‘การบินไทย’ ได้ทำหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ต่อประเด็นการปรับโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับ ‘ไทยสมายล์’ โดยระบุว่า ด้วยคณะกรรมการเจ้าหนี้ในการประชุมครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 มีมติเห็นชอบให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจกลุ่มธุรกิจการบินของบริษัทฯ ตามแนวทางที่คณะผู้บริหารแผยและฝ่ายบริหารนำเสนอ กล่าวคือ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด (ไทยสมายล์) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯถือหุ้นอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 99.99 ของหุ้นทั้งหมด

ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างดังกล่าว จะส่งผลให้เครื่องบินที่ปัจจุบันบริหารจัดการภายใต้ ‘ไทยสมายล์’ ย้ายมาบริหารจัดการภายใต้ การบินไทย โดยการปรับโครงสร้างดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเจ้าหนี้ ตามข้อ 5.7.2 ของแผนฟื้นฟูกิจการของ การบินไทยแล้วเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 และต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในแต่ละขั้นตอนเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวรวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย โดยคาดว่าการปรับโครงสร้างจะแล้วเสร็จภายในปี 2566

อนึ่ง ‘ไทยสมายล์’ ให้บริการภายใต้ใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate) หรือ AOC ที่แยกกันกับ ‘การบินไทย’ ส่งผลให้ ‘ไทยสมายล์’ เป็นผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการการดำเนินงาน การวางแผนฝูงบิน การบริหารตารางเวลาการบิน และการวางแผนเครือข่ายเส้นทางบินที่ให้บริการแยกจาก ‘การบินไทย’ อย่างชัดเจน จึงทำให้เกิดข้อจำกัดในการบริหารจัดการฝูงบินเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสถานการณ์การแข่งขันในตลาด อีกทั้งการแข่งขันด้านราคาที่เพิ่มมากขึ้นในเส้นทางการบินระยะสั้น (Short-Haul) จากผู้ให้บริการที่เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Carrier) ซึ่งให้บริการในราคาที่ต่ำกว่า ยังส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยสมายล์อีกด้วย

ทั้งนี้ ภายหลังการปรับโครงสร้าง ‘การบินไทย’ จะเป็นผู้บริหารจัดการการดำเนินงาน การวางแผนฝูงบิน การบริหารตารางเวลาบิน และวางแผนเครือข่ายเส้นทางการบินที่ให้บริการของฝูงบินทั้งของ ‘การบินไทย’ และของ ‘ไทยสมายล์’ ภายใต้ AOC ของ ‘การบินไทย’ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น โดยการปรับโครงสร้างดังกล่าวจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของกลุ่มธุรกิจการบินของ ‘การบินไทย’ ในหลายด้าน ได้แก่

1. การให้บริการภายใต้ AOC เดียว จะเพิ่มขีดความสามารถในการกำหนดเครือข่ายเส้นทางการบินตอบสนองความต้องการและความสะดวกของลูกค้าในการเชื่อมต่อ (Hub & Spoke) ได้มากขึ้น เนื่องจาก ‘การบินไทย’ มีเส้นทางที่สามารถให้บริการได้มากกว่า และการสับเปลี่ยนอากาศยานให้สอดคล้องกับระยะทางบินและความต้องการของตลาดผ่านการบริหารจัดการอากาศยานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างอากาศยานลำตัวแคบ (Narrow-Body Aircraft) ซึ่งเดิมให้บริการโดย ‘ไทยสมายล์’ และอากาศยานลำตัวกว้าง (Wide-Body Aircraft) ซึ่งให้บริการโดย ‘การบินไทย’ จะเป็นผลให้ ‘การบินไทย’ มีอัตราการใช้ประโยชน์อากาศยานสูงขึ้น และมีต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลงจากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale)

2. สร้างความเป็นเอกภาพในตราสินค้าของ ‘การบินไทย’ และ ‘ไทยสมายล์’ และขจัดความไม่ชัดเจนของตำแหน่งการตลาดระหว่างกลุ่มธุรกิจการบิน โดยการให้บริการและการบริหารการดำเนินงานที่เป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้ ‘การบินไทย’ อีกทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการสื่อสารด้านการตลาด ส่งผลให้ ‘การบินไทย’ สามารถลดต้นทุนการขายในด้านค่าสื่อสารการตลาด มีความได้เปรียบในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงาน

3. ลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน รวมถึงการบริหารทรัพยากรบุคคลด้านการปฏิบัติการบินในส่วนของนักบินและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เพื่อให้เกิดการบูรณาการระบบสนับสนุนการปฏิบัติการบินและทรัพยากรด้านต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลให้ ‘การบินไทย’ มีความสามารถในการบริหารจัดการรายได้และค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ดี การปรับโครงสร้างจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการให้บริการต่อผู้โดยสารของสายการบิน ‘ไทยสมายล์’ แต่อย่างใด เนื่องจากบุคลากรของ ‘ไทยสมายล์’ ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหาร พนักงาน นักบิน และพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน รวมทั้งการให้บริการผู้โดยสารจะเป็นส่วนหนึ่งของ ‘การบินไทย’ อีกทั้ง ‘การบินไทย’ ได้ดำเนินการศึกษาข้อมูลและผลกระทบในด้านต่าง ๆ รวมถึงด้านการเงิน ด้านความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ และด้านกฎหมายแล้ว ได้ข้อสรุปว่าการปรับโครงสร้างจะทำให้กลุ่มบริษัทฯ สามารถบรรลุผลตามแผนฟื้นฟูกิจการและแผนการปฏิรูปธุรกิจได้

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประกาศดังกล่าว ส่งผลให้ในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 สายการบิน ‘ไทยสมายล์’ ได้จัดกิจกรรมอำลาเที่ยวบินสุดท้าย จำนวน 4 เที่ยวบิน ได้แก่ เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-กระบี่, กรุงเทพฯ-ขอนแก่น, กรุงเทพฯ-เชียงราย และ กรุงเทพฯ-หาดใหญ่

โดยการปิดตัวลงของสายการบิน ‘ไทยสมายล์’ ส่งผลให้รหัสบิน WE ของ ‘ไทยสมายล์’ จะถูกยกเลิกตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.2566 ส่วนพนักงานจำนวน 800 คน และเครื่องบินแอร์บัส A320 จำนวน 20 ลำ จะถูกโอนไปยัง ‘การบินไทย’ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค.2567

สำหรับ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2556 ด้วยทุนจดทะเบียน 1,800 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลผลประกอบการย้อนหลังนับตั้งแต่การส่งงบการเงินบริษัทในปี 2556 ซึ่งเป็นปีแรกที่จดทะเบียนบริษัท จนถึงปีงบประมาณล่าสุด (ที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) คือปี 2565 พบว่ามีผลขาดทุนอย่างต่อเนื่อง รวมเป็นผลขาดทุนรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท ดังข้อมูลต่อไปนี้

ผลประกอบการย้อนหลังของ ‘บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด’ ปี 2556-2565

ปี 2556 มีรายได้รวมอยู่ที่ 0 บาท และขาดทุนสุทธิ 3.13 ล้านบาท (โดยสาเหตุที่ในงบการเงินปี 2556 ยังไม่มีรายได้ เนื่องจากข้อมูลจาก ‘การบินไทย’ ระบุว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ยังไม่ได้เปิดดำเนินธุรกิจ เนื่องจากอยู่ระหว่างขั้นตอนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (Airline Operator License: AOL) และใบอนุญาตสมควรเดินอากาศ (Airline Operator Certificate: AOC) รวมทั้งขอรหัสสายการบิน (Airline Designator Code) จาก IATA

ปี 2557 มีรายได้รวมอยู่ที่ 3,068.60 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 577.47 ล้านบาท

ปี 2558 มีรายได้รวมอยู่ที่ 4,762.23 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 1,852.78 ล้านบาท

ปี 2559 มีรายได้รวมอยู่ที่ 7,531.54 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 2,081.05 ล้านบาท

ปี 2560 มีรายได้รวมอยู่ที่ 10,182.16 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 1,626.75 ล้านบาท

ปี 2561 มีรายได้รวมอยู่ที่ 11,063.50 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 2,602.32 ล้านบาท

ปี 2562 มีรายได้รวมอยู่ที่ 14,573.68 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 112.58 ล้านบาท

ปี 2563 มีรายได้รวมอยู่ที่ 5,451.09 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 3,266.92 ล้านบาท

ปี 2564 มีรายได้รวมอยู่ที่ 3,762.97 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 3,792.11 ล้านบาท

ปี 2565 มีรายได้รวมอยู่ที่ 8,760.33 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 4,248.46 ล้านบาท

ที่มา : set, thaipbs, DBD DataWarehouse, Corpus X

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #ไทยสมายล์ #สายการบินไทยสมายล์ #ปิดตำนานไทยสมายล์ #ThaiSmileAirways #การบินไทย #THAI