การบินไทย

การบินไทย กับ เกณฑ์ภาษาที่ 3 ในการรับสมัครแอร์ฯ

การบินไทย พึ่งประกาศรับสมัครพนักงานบนเครื่องบิน จำนวน 200 อัตรา เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ที่ผ่านมา ชาวเน็ตผู้ร่ำเรียนศิลป์ภาษา พากันตกตะลึง! เพราะคุณสมบัติขั้นต่ำด้านภาษาที่ 3 ที่สายการบินกำหนดไว้นั้น ดูสูงงงง ดูเกินเบอร์มากแม่!

 

แล้วตกลงการบินไทยตั้งคุณสมบัติสูงไปมั้ย การตั้งคุณสมบัติดังกล่าวจะตั้งไปเพื่ออะไร ลองมาคิดตามไปพร้อมกัน!

 

คุณสมบัติแอร์โฮสเตสสจ๊วต

คุณสมบัติในการสมัครแอร์

 

จากรูปคุณสมบัติด้านบนจะเห็นว่า เกณฑ์ภาษาอังกฤษมาตรฐานในการทำงานสายภาษาพึงได้ คือ Toeic 600 คะแนนขึ้นไป ซึ่งระดับคะแนนนี้ก็ใช้ในการสมัครงานในบริษัทดัง หลายแห่ง  เช่น

  • ตำแหน่ง Export Sales Representative ของ ปตท.
  • ตำแหน่ง Language & Culture Learning Center ของ CENTRAL GROUP 
  • ตำแหน่ง R&D Engineer บริษัท Nissan Motor Asia Pacific 

แต่พอมาเป็นภาษาที่ 3 กลับตั้งเกณฑ์ที่สูงมาก เช่น ด้านภาษาจีน หลายสายการบินรับสมัครแอร์สจ๊วต ที่ HSK4 แต่ การบินไทยใช้ HSK5

ระดับขั้น ของ HSK

การสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีน Hanyu Shuiping Kaoshi หรือที่เรียกติดปากกันว่าสอบ HSK ซึ่งมีระดับสูงสุดอยู่ที่ขั้น

  • HSK1 เป็นระดับแรกสุด รู้ศัพท์เบื้องต้นเล็ก น้อย แค่ 150 คำ
  • HSK2 จะเริ่มรู้การพูดคุยขั้นพื้นฐานในชีวิตประจำวัน เช่นกินข้าวรึยัง รู้ศัพท์ 300 คำ
  • HSK3 เพิ่มส่วนของการเขียน การแต่งประโยค สามารถพูดคุยทั่วไปได้ ไปเที่ยวไม่หลงทาง รู้ศัพท์ 600 คำ
  • HSK4  สามารถสื่อสารได้คล่องแคล่ว ใช้เพื่อขอทุนศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในจีนได้แล้ว รู้ศัพท์ 1200 คำ งานล่าม หรือมัคคุเทศน์ส่วนใหญ่จะรับระดับนี้ขึ้นไป
  • HSK5 เริ่มเข้าข่ายเจ้าของภาษา สามารถกล่าวสุนทรพจน์ และยื่นขอทุนต่อปริญญาโทในจีนได้ รู้ศัพท์ 2500 คำ
  • HSK6 มีความรู้เทียบเท่าเจ้าของภาษา รู้ศัพท์ 5000 คำ

การตั้งเกณฑ์ภาษาที่ 3 ของการบินไทยอยู่ในระดับที่เกือบจะพูดได้เหมือนกับเป็นเจ้าของภาษาอยู่แล้ว อีกทั้งผู้สมัครต้องอายุไม่เกิน 24 ปี ส่งผลให้ชาวเน็ตคิดว่าอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมือใหม่ แค่พูดจาสื่อสารกับลูกค้าเพื่อบริการก็เพียงพอ ไม่ถึงขนาดต้องไปนั่งถกปัญหาธรรมกับผู้โดยสาร คุยแบบนักวิชาการหรือเป็นทูตสัมพันธ์ไมตรี

 

การบินไทย

ผลกระทบ ต่อ การบินไทย

มาดูทางฝั่งการบินไทย ที่ประสบปัญหาขาดทุนอ่วมกว่า 6.4 พันล้านบาท ค่าใช้จ่ายหลักของการบินไทยคือ ค่าน้ำมันเครื่องบิน และค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงานโดยคิดเป็นสัดส่วนกว่า 43% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของบริษัท

พนักงานที่มีคุณสมบัติสูงย่อมต้องการค่าตอบแทนที่สูงกว่าปกติ หรือสวัสดิการที่ดีกว่า ซึ่งหากการบินไทยไม่ให้มากกว่าสายการบินอื่น พวกเขาก็ไม่จำเป็นจะต้องมาสมัคร เพราะสามารถทำเงินกับที่อื่นได้มากกว่า หรือพอสมัครแล้วรู้สึกไม่คุ้มค่าตัวก็จะลาออก กลับกันหากการบินไทยปรับเงินเดือนและสวัสดิการให้เพิ่มขึ้นก็จะยิ่งทำให้ขาดทุนหนักกว่าเดิม

กลยุทธ์การบินไทย

ทางรอดต่าง ที่การบินไทยออกมาต่อสู้กับภาวะขาดทุนไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถด้านภาษาที่ 3 ที่เพิ่มขึ้นในเชิงประจักษ์ เช่น

  1. SaveTG Co-Creation กลยุทธ์ควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพ การให้บริการ ให้พนักงานแสดงความคิดเห็นว่าควรจะปรับปรุงองค์กรอย่างไร
  2. Zero Waste Management ลดปริมาณของเหลือใช้ เช่น อาหารเหลือทิ้ง
  3. การรุกตลาดใหม่ บินตรงสู่เซนได
  4. จัดโปรโมชั่น เพิ่มรายได้โดยใช้ Digital Marketing
  5. THAI Synergy นำสินค้าและบริการไปขยายกิจการผสานพลังกับพันธมิตร
  6. TG Group การบินไทย เชื่อมต่อเครือข่ายการบินกับ ไทยสมายล์ 

 

แอร์โฮสเตส

ตั้งเกณฑ์คุณสมบัติเกินตำแหน่ง?

มาจนถึงจุดนี้ ทุกคนอาจจะยังสงสัยกันอยู่ว่า ทั้งที่มีข้อบ่งชี้ว่า การบินไทย รับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินด้วยคุณสมบัติทั่วไปจะไม่เป็นการดีกว่าหรือ?

อ้างอิงคำพูดของ Claudio Fernández-Aráoz ที่ปรึกษาอาวุโสของ Egon Zehnder International บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลกด้านการเฟ้นหาผู้บริหาร เขามองว่าการรับสมัครผู้ที่เก่งเกินเกณฑ์ตำแหน่ง จะสามารถช่วยจะสามารถช่วยบริษัทได้ดีกว่า เพราะพวกเขาจะมีวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกล ช่วยพัฒนาบริษัทได้ก้าวกระโดดมากกว่ารับพนักงานที่คุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่ง

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การบินไทยอยู่ในเครือ Star Alliance เครือข่ายพันธมิตรสายการบินขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีสิงคโปร์แอร์ไลน์ ที่รับสมัครแอร์สจ๊วต ที่ใช้ HSK 5 เช่นกัน ทำให้คิดได้ว่าการบินไทยอาจต้องการยกระดับมาตรฐานให้เท่าเทียมกันก็เป็นได้

อย่างไรก็ตามเรื่องภาษาที่ 3 ในการรับสมัครแอร์สจ๊วต ของสายการบินไทยก็เป็นเพียงหากมีความสามารถถึงระดับที่ตั้งไว้นี้ จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ” ถ้าคุณสมบัติด้านภาษาที่ 3 ไม่ถึงเกณฑ์ ก็ยังสามารถสมัครมาแข่งขันกับผู้สมัครรายอื่นแบบปกติได้ และในประเด็นอายุไม่เกิน 24 ปี ก็แสดงให้เห็นว่า การบินไทยมีมุมมองที่อยากพัฒนาองค์กรโดยการรับคนรุ่นใหม่ ให้โอกาสเด็กเก่งให้เฉิดฉายในมาตรฐานใหม่ที่สูงกว่าเดิม

ดังนั้นเกณฑ์ภาษาที่ 3 ที่หลายคนมองว่ามากเกินไป อาจจะส่งผลดีต่อการบินไทยมากกว่าที่คาดไว้ก็เป็นได้

อ้างอิง : 
thestandard

thebangkokinsight

jhammer

ลงทุนศาสตร์

กรมประชาสัมพันธ์

ศูนย์บริการสอบภาษาจีนแห่งอาเซียน

Business Plus