ThaiESG

กองทุน Thai ESG จะกระตุ้นตลาดหุ้นไทยได้จริงไหม?

กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long–Term Equity Fund (LTF)) ถูกยกเลิกไปเมื่อปลายปี 2562 ด้วยเหตุผลที่ว่าให้สิทธิประโยชน์ด้านการลดหย่อนภาษีสำหรับคนที่ลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้สูง และอาจไม่เป็นธรรมกับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ลงทุนในกองทุน LTF เพราะ LTF นั้นสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี (ไม่เกิน 500,000 บาท) และยังมีโอกาสได้กำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนเมื่อถือหุ้นครบ 7 ปีปฏิทิน

ซึ่งเมื่อตลาดหุ้นไทยอยู่ในภาวะชะลอตัวลงก็ทำให้มีการคิดว่า กระทรวงการคลังจะนำกองทุน LTF กลับมาใช้กันอีกครั้ง เพื่อกระตุ้นเม็ดเงินลงทุน

แต่ล่าสุดมีข้อมูลของทีมงานภาคตลาดทุนที่ได้ทำงานร่วมกับทีมงานของกระทรวงการคลังว่าจะไม่มีการนำ LTF กลับมาใช้ใหม่ แต่จะปรับปรุงเงื่อนไขของกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) เพื่อให้มีความจูงใจกับนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น

ทีนี้มาดูกันค่ะว่า Thai ESG เกิดขึ้นจากอะไร และมีเงื่อนไขการลงทุนน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน?

โดย Thai ESG หรือ Thailand ESG Fund คือ กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน ซึ่งมีสิทธิพิเศษให้ผู้ลงทุนสามารถนำจำนวนเงินลงทุนมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เหมือนกับการลงทุนใน RMF, SSF, หรือ LTF

ซึ่งเกิดขึ้นเพราะรัฐบาลต้องการก้าวสู่เป้าหมายของ Net Zero จึงได้หันมาส่งเสริมกลุ่มธุรกิจยั่งยืนในประเทศด้วยการผลักดันและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนกับธุรกิจที่มีแนวคิด ESG

จนมีการอนุมัติหลักการมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยในช่วง 10 ปีภาษี (ปี 2566 – 2575) เพื่อจัดตั้งกองทุนลดหย่อนภาษีตัวใหม่ นั่นก็คือ กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน หรือ Thai ESG ที่ถูกเพิ่มขึ้นมาจากกองทุนลดหย่อนภาษีอีก 2 ตัวก่อนหน้านี้ อย่าง SSF และ RMF

โดยกองทุน Thai ESG มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดการออมเงินในระยะยาวอย่างยั่งยืน โดยมีนโยบายลงทุนในประเทศผ่านสินทรัพย์ เช่น หุ้นหรือตราสารหนี้ ที่มีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือความยั่งยืน และต้องได้รับการรับรอง SET ESG Ratings ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่น้อยกว่า 80% ของทรัพย์สินสุทธิ(NAV)

ซึ่งเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีของกองทุน Thai ESG มีดังนี้

– ไม่มีขั้นต่ำในการลงทุน

– ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินทั้งปี และวงเงินสูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท

– ต้องถือครอง 8 ปีขึ้นไป นับจากวันที่ลงทุน โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี สามารถเลือกซื้อได้เฉพาะปีที่ต้องการลดหย่อนภาษี

จะเห็นได้ว่ากองทุน Thai ESG มีทั้งเงื่อนไขที่คล้ายคลึงและแตกต่างกับกองทุน SSF และ RMF ในบางจุด ซึ่งการเลือกว่าจะลงกองทุนไหนนั้น แล้วแต่จุดประสงค์ของผู้ลงทุน

อย่างเช่น หากต้องการออมเงินเพื่อการเกษียณ ควรเลือกลงทุนกับกองทุน RMF เพราะมีเงื่อนไขการถือครองจนถึงอายุ 55 ปี และลงทุนต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี

แต่ถ้าต้องการเงินออมไว้ใช้ในอีก 8-10 ปีข้างหน้า ก็อาจเหมาะกับกองทุน SSF ที่มีเงื่อนไขการถือครอง 10 ปี ส่วน Thai ESG จะมีเงื่อนไขการถือครอง 8 ปี และเหมาะกับผู้ที่ต้องการสนับสนุนบริษัทที่จัดทำเรื่องความยั่งยืน

อย่างไรก็ตามการไม่นำ LTF กลับมาใช้และปรับเกณฑ์ให้ Thai ESG นั้น อาจจะต้องมีเงื่อนไขที่จูงใจมากขึ้นถึงจะกระตุ้นตลาดหุ้นได้

จึงมีการคาดการณ์กันว่าจะมีการปรับเกณฑ์ใหม่ ด้วยการเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษี จากเดิมไม่เกิน 1 แสนบาท เป็นไม่เกิน 3 แสนบาทและอาจจะให้ลดระยะเวลาถือครองหน่วยลงทุน จากเดิมต้องถือครอง 8 ปี เหลือเพียง 7 ปี ซึ่งการขยายวงเงินเพิ่ม แถมยังลดระยะเวลาถือครองลงก็เชื่อว่าจะทำให้ตลาดหุ้นของไทยมีความน่าสนใจขึ้นได้ค่ะ แต่อาจจะไม่มากมายนัก โดยเฉพาะเมื่อนำมาเทียบกับ LTF ซึ่งก่อนหน้านี้ลดหย่อนได้สูงสุด 5 แสนบาท ระยะเวลาไถ่ถอน 7 ปี ยังพบว่ามีเม็ดเงินลงทุนในกองทุน LTF นั้นเพียง 4-5% ของขนาดตลาดหุ้นไทย (Market Cap) ซึ่งถือว่าไม่ได้สูงอย่างมีนัยสำคัญ

ที่มา : SET
ติดตาม Business+ ได้ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS