หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองประธานกรรมการ บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด (ลำดับที่ 5 จากขวา)เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี คุณยุทธพร พิรุณสาร ปลัดจังหวัดนนทบุรี (ลำดับที่ 5 จากซ้าย) รวมถึงคณะผู้บริหารและตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ มาร่วมงาน
บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด หรือทีเอพี ปักหมุดพันธกิจด้านความยั่งยืน “TAP Road to Net Zero” เดินหน้าขับเคลื่อนสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral Organization) ภายในปี 2573 และมุ่งสู่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2583 ล่าสุดได้เปิด “โครงการสวนเหลืองปรีดียาธร” เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อกักเก็บคาร์บอนโดยเริ่มจากพื้นที่ในโรงผลิตและขยายไปยังชุมชนในจังหวัดนนทบุรี โดยตั้งเป้าปลูกต้นไม้จำนวนกว่า 5,000 ต้น ภายในปี 2566 ซึ่งคาดว่าจะกักเก็บคาร์บอนได้เฉลี่ยราว 45-75 ตันคาร์บอนต่อปี พร้อมนำโครงการฯ ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตและคาดเป็นโครงการนำร่องที่จะขยายผลสู่ชุมชนรอบโรงผลิต เพื่อสอดคล้องและตอบรับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมดีภายใต้ “นนทบุรี 6 ดี สู่เมืองน่าอยู่”
โครงการสวนเหลืองปรีดียาธร เกิดจากการที่บริษัทฯ ตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อันเนื่องมาจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้นจนทำลายชั้นบรรยากาศ ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมในภาพรวม เรามีความตั้งใจที่จะเป็นกำลังสำคัญในการมีส่วนร่วมบรรเทาปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในจังหวัดนนทบุรี โดยเริ่มจากการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านการปลูกต้นไม้ในพื้นที่โรงผลิต และชุมชนโดยรอบในจังหวัดนนทบุรีให้ได้มากที่สุด รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ ตลอดจนริเริ่มจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพื่อเปิดโอกาสให้คนในชุมชนและผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในพันธกิจนี้ไปด้วยกัน
สำหรับแผนการดำเนินการในเบื้องต้นนั้น เผยว่าจะมีการขยายผลโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ บริษัทฯ จะเป็นกำลังหลักในการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมภายในพื้นที่ชุมชนใกล้เคียง อาทิ การร่วมปลูกต้นไม้ในพื้นที่โรงเรียนและสถานพยาบาล พร้อมจะมีการติดตาม ตรวจวัด ประเมินผล และจัดทำรายงาน เพื่อกำหนดทิศทางวางแผนงานเพิ่มเติมในลำดับต่อไป
“โครงการสวนเหลืองปรีดียาธร” และ “ต้นเหลืองปรีดียาธร” ถูกเรียกขานและจดทะเบียนตามนามของหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานในพิธี เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติ ในฐานะอดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และรองประธานกรรมการ บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด
อนึ่ง ตัวโครงการฯ ถือเป็นโครงการนำร่องที่ขับเคลื่อนภายใต้พันธกิจ “TAP Road to Net Zero” เพื่อบรรลุเป้าหมายไปสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral Organization) ภายในปี 2573 โดยดำเนินงานผ่านกลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อม 4Rs ได้แก่ Reduce, Replace, Remove และ Report สอดคล้องกับแผนแม่บทความยั่งยืน “Brew A Better World” ของบริษัทที่มุ่งพัฒนาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบ โดยการนำพื้นที่ส่วนหนึ่งของโรงผลิตมาปรับใช้เป็นพื้นที่เพาะ “ต้นเหลืองปรีดียาธร” ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างส่วนต่อขยายพื้นที่สีเขียวและกักเก็บคาร์บอนเพิ่มเติมจากโครงการปลูกสวนป่า 10 ไร่ โดยมีต้นไม้กว่า 2,000 ต้นบนพื้นที่เปล่าด้านหลังโรงผลิต ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นอกจากนี้ พื้นที่เพาะปลูกภายในโครงการฯ ยังจะถูกนำไปขึ้นทะเบียน โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program; T-VER) โดยองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ในฐานะกลไกหนึ่งของการรักษาและสร้างสมดุลของความหลายหลายทางชีวภาพ
นอกเหนือจากการนำโครงการสวนเหลืองปรีดียาธร ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่โดยรอบโรงผลิตแล้ว บริษัทฯ ยังขยายแผนการปลูกต้นไม้ไปในพื้นที่ชุมชนใน ตำบลราษฎร์นิยม และตำบลไทรใหญ่ให้แล้วเสร็จเพิ่มเติมภายในปี 2566 ตลอดจนมุ่งขยายพื้นที่สีเขียวออกเป็นวงกว้างไปสู่พื้นที่โดยรอบอื่น ๆ ภายในจังหวัดนนทบุรีอีกด้วย
กลุ่มพนักงานบริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด และตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ภายในบริเวณสวนเหลืองปรีดียาธร
โครงการสวนเหลืองปรีดียาธร ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการขยายพื้นที่สีเขียวผ่านการประสานงานกับภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนความร่วมมือจากภาคประชาชน เพื่อผนึกกำลังช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดนนทบุรี พร้อมทั้งเป็นสัญญาณตอบรับเชิงบวกในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การบรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) อย่างยั่งยืน