“40,000,000 บาท” คือมูลค่าของพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ ที่เจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ไปเช่ามาเมื่อหลายสิบปีก่อน โดยเงินจำนวนดังกล่าวสามารถใช้ซื้อบ้านหรือคอนโดฯ หรูในกรุงเทพฯ หรือที่ดินหลายไร่ในพื้นที่ต่าง ๆ ได้สบาย
แต่รู้หรือไม่ว่า พระเครื่องราคา 40 ล้านบาทอาจยังไม่ถือว่าแพงที่สุด เพราะในปัจจุบัน มีพระเครื่องจำนวนหนึ่งที่ถูกประเมินว่าอาจมีราคาสูงถึง 50 ล้านบาท หรือบางรุ่นก็อาจมากถึง 100 ล้านบาท
แล้วทำไมหลายคนถึงยอมจ่ายเงินเช่าพระเครื่องในมูลค่าที่สูงขนาดนี้ได้ Business+ จะมาเล่าถึงตลาดพระเครื่องในไทย โดยยกตัวอย่างจากกรณีศึกษาในหนังเรื่อง “เดอะสโตน พระแท้ คนเก๊” ที่เพิ่งเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เร็ว ๆ นี้
ก่อนอื่นขอเล่าถึงตลาดพระเครื่องในไทยก่อน โดยต้องบอกว่า วัฒนธรรมการสร้างวัตถุศักดิ์สิทธิ์ หรือเครื่องรางของขลังต่าง ๆ ของไทยนั้นมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว แต่จะมาในรูปลักษณ์อย่างตะกรุด หรือ ผ้าประเจียด เป็นต้น ส่วนพระเครื่อง ที่เรียกว่า พระพิมพ์ จะนิยมนำไปฝังหรือเก็บไว้ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาเช่น วัด เพราะในตอนนั้น ผู้คนยังไม่มีความเชื่อว่าพระพิมพ์จะมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ช่วยให้แคล้วคลาดปลอดภัยได้อย่างของขลังอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ประเทศไทยเริ่มรับวัฒนธรรมและเทคโนโลยีจากต่างชาติเข้ามามากขึ้น ทำให้มุมมองต่อพระเครื่องเปลี่ยนไปทำให้ถูกมองว่าเป็นเครื่องรางของขลังมากขึ้น ในขณะที่ ชนชั้นสูงหลายคนก็เริ่มมองว่าการเก็บสะสมของเก่ายังแสดงถึงฐานะได้ด้วย ประกอบกับการที่ไทยสามารถผลิตเหรียญพระเครื่องได้แล้วจากการรับเทคโนโลยีการพิมพ์เหรียญเข้ามา
ด้วยเหตุนี้ ความนิยมของพระเครื่องในแบบวัตถุนิยมจึงเริ่มขึ้น โดยช่วงแรกเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงและผู้มีฐานะ โดยของเก่าต่าง ๆ และพระเครื่องนั้นนอกจากจะช่วยบ่งบอกถึงฐานะของเจ้าของแล้ว ยังถือเป็นวัตถุมงคลที่เป็นที่พึ่งทางใจอีกด้วย ทำให้ต่อมา วัฒนธรรมดังกล่าวก็แพร่กระจายเป็นวงกว้าง จนเกิดการขุดกรุสมบัติเก่าตามวัดร้างหาพุทธรูปเก่า ๆ และเกิดเป็นตลาดพระเครื่องที่นั่งขายกันตามแผงลอยขึ้นมา
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน ตลาดพระเครื่องเติบโต จนมีวิวัฒนาการการขายกันในตัวตึกหรือบนห้างฯ อย่างเช่น ห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่างามวงศ์วาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ตัวเอกของ เดอะ สโตน ชื่อ “เอก” นำพระเก่าของพ่อไปขายเพื่อหาเงินมารักษาอาการป่วยของพ่อ โดยสำหรับภาพรวมตลาดพระเครื่องในประเทศไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยประเมินไว้ในปี 2562 ว่า สูงถึงประมาณ 17,000 – 23,000 ล้านบาท เลยทีเดียว
ทีนี้มาถึงคำถามสำคัญว่า ทำไมพระเครื่องถึงขายได้เป็นล้าน ซึ่งเพื่อให้เห็นภาพง่าย ๆ ลองมาดูตัวอย่างจากเรื่อง เดอะ สโตน โดยหลังจากที่เอกได้ลองเอาพระเก่าของพ่อไปให้สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยประเมินนั้น ก็ได้รู้ความจริงว่า พระเครื่องของพ่ออาจเป็น “พระสมเด็จเฮียรัตน์” ในตำนานซึ่งหายสาบสูญจากวงการมากว่า 30 ปี ที่มีเจ้าของเก่าก็คือ “เฮียวิรัตน์” โดยในภาพยนตร์มีการกล่าวอ้างถึงความขลังของพระเครื่องดังกล่าวที่ช่วยคุ้มครองผู้สวมใส่ ทำให้มีการตีว่าอาจมีมูลค่าถึง 100 ล้านบาท
จากตัวอย่างข้างต้น เราก็จะเห็นได้ว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พระเครื่องมีราคาสูงก็คือเรื่องราว หรือ “สตอรี” ของพระเครื่องนั้น ซึ่งยิ่งมีประวัติการสร้างอภินิหารอะไรต่าง ๆ มากเท่าไร พระเครื่องนั้นก็ยิ่งแพง เพราะมีคนอยากได้มาครอบครองจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่พระเครื่องดังกล่าวผลิตออกมาในจำนวนที่จำกัด หรือปลุกเสกโดยพระอาจารย์เกจิชื่อดัง พระเครื่องนั้นก็จะยิ่งราคาแพงขึ้นไปอีก
นอกจากนี้เอง การที่พระเครื่องมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ก็ย่อมทำให้คนที่เป็นเจ้าของนั้นอยากจะเก็บสะสมไว้เพื่อคุ้มกันภัย ไม่อยากขายแลกกับเงิน เจ้าของจึงมีอำนาจต่อรองมากกว่าผู้ซื้อเป็นอย่างมาก ส่งผลให้สามารถโก่งราคาขึ้นได้ง่าย สะท้อนออกมาจากคำพูดของ “หมวย” เซียนพระในเรื่อง เดอะ สโตน ที่กล่าวว่า ราคาพระเครื่องขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ซื้อขาย
นอกจากนี้ หากมองในอีกมุม พระเครื่องก็เหมือนกับสินทรัพย์เพื่อการลงทุนชนิดหนึ่ง โดยในปัจจุบัน พระเครื่องกลายเป็นตลาดการลงทุนเต็มรูปแบบ มีการประมูลพระในงานระดับประเทศและสากล มีสถาบันตรวจสอบแท้ปลอม มีใบรับรอง มีนิตยสารพระ และมีเว็บไซต์กลาง ทำให้คำพูดของเซียนพระหรือสถาบันที่เกี่ยวข้องนี้มีผลอย่างมากต่อมูลค่าของพระเครื่อง
ในขณะเดียวกัน พระเครื่องที่ผลิตมาเป็นระยะเวลานานหลายสิบปีแล้วก็จะได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ เซียนพระหลายคนก็ย่อมอยากเก็บไว้กับตัวเพื่อเก็งกำไร ส่งผลให้พระเครื่องบางรุ่นมีอุปสงค์ที่สูงมาก แต่อุปทานต่ำ จึงมีราคาสูง โดยสินทรัพย์การลงทุนลักษณะนี้เราเรียกว่า Passion Investment อย่างในเรื่อง เดอะ สโตน พระเครื่องของพ่อเอกก็เป็นพระสมเด็จที่ผลิตมานานมากแล้ว และยังมีจำนวนจำกัด ทำให้มีราคาสูงถึง 100 ล้านบาท
อ่านมาถึงตรงนี้ พระเครื่องก็มีความคล้ายกับ “งานศิลปะ” ตรงที่ผู้ซื้อตีมูลค่าจากงานจาก สตอรี และ “ศิลปิน” ซึ่งก็คือพระเกจิที่ปลุกเสกพระ และ “ความเห็นของนักวิจารณ์” ซึ่งก็คือคำพูดของเหล่าเซียนพระหรือสถาบันที่เกี่ยวข้อง และสุดท้ายคือ “ความแรร์” ซึ่งก็คือความหายากของพระเครื่องรุ่นนั้นเอง
ที่มา: นิตยสารศิลปวัฒนธรรม, thairath
ผู้เขียนและเรียบเรียง: พรบวร จิรภัทร์วงศ์
ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS