ในปี 2567 อุตสาหกรรมการบินโลกยังคงเติบโตทั้งความต้องการเดินทางของผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า โดยปริมาณการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 10.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่สำหรับ ‘การบินไทย’ สายการบินแห่งชาติของไทยกลับยังมีผลขาดทุนสุทธิ ซึ่งจริงๆแล้วการขาดทุนสุทธินั้น เกิดจากค่าใช้จ่ายจากการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อฟื้นฟูกิจการซึ่งเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น หากมองกันที่กำไรจากการดำเนินงานยังมีพัฒนาการที่ค่อนข้างดี
โดยบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ประกาศงบปี 2567 ออกมาขาดทุนสุทธิไป 26,934 ล้านบาท จากปี 2566 มีกำไรสุทธิ 28,096 ล้านบาท ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีรายได้ในปีที่แล้ว 187,989 ล้านบาท เติบโตเกือบ 17% เทียบกับปี 2566 ที่มีรายได้ 161,067 ล้านบาท
ซึ่งรายได้ที่มีการเติบโตมากที่สุดหากมองที่จำนวนเงิน คือ รายได้จากค่าโดยสารและค่าน้ำหนักส่วนเกินที่พุ่งแตะ 154,968 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมามากถึง 22,231 ล้านบาท และรายได้ในส่วนอื่นก็เพิ่มขึ้นทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น ค่าระวางขนส่งและไปรษณียภัณฑ์ รวมถึงรายได้กิจการอื่น
เมื่อรายได้เพิ่มขึ้นทุกส่วนแล้วอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้การบินไทยขาดทุนสุทธิ เรามาดูที่ค่าใช้จ่ายกันก่อน ในปีที่แล้วการบินไทยมีค่าใช้จ่ายรวม 146,474 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25,618 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2566 ซึ่งค่าใช้จ่ายของการบินไทยหลักๆ มี 2 ส่วนคือ
- ค่าน้ำมันเครื่องบิน 50,474 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.7% แม้ว่าราคาน้ำมันเฉลี่ยของปีที่แล้วจะต่ำกว่าปี 2566 แต่เกิดจากปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นตามเที่ยวบิน และได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
- ค่าใช้จ่ายในการด่าเนินงานไม่รวมค่าน้ำมันเครื่องบิน 96,000 ล้านบาท โดยค่าซ่อมแซมบำรุงอากาศยานเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในปีที่ผ่านมา จาก 11,038 ล้านบาทในปี 66 เป็น 20,428 ในปี 67 คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 9,390 ล้านบาท หรือพุ่งขึ้น 85% เลยทีเดียว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการซ่อมแซมเครื่องบินที่ได้รับโอนมาจากไทยสมายล์ที่ถึงรอบการซ่อมใหญ่
นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายหลักอีก 3 ส่วนคือ
– ค่าบริการเครื่องบิน ที่ประกอบด้วย ค่าบริการภาคพื้น ค่าธรรมเนียมสนามบิน ค่าบริการควบคุมทางอากาศ และค่าใช้จ่ายห้องรับรองพิเศษสำหรับผู้โดยสายที่เพิ่มขึ้น 30.6%
– ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น 14.4%
– ค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงาน ซึ่งประกอบด้วย เงินเดือนพนักงาน ค่าจ้างแรงงานภายนอก ค่าล่วงเวลา และสวัสดิการอื่นๆ เพิ่มขึ้น 18.8% จากการปรับขึ้นเงินเดือนของนักบินและลูกเรือที่เคยปรับลดในช่วง COVID-19 และยังมีการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีของพนักงานอีกด้วย
เมื่อเอารายได้ 187,989 ล้านบาท มาหักกับค่าใช้จ่ายทั้ง 2 ส่วนนี้ทำให้การบินไทย ยังเหลือกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินทั้งหมด 41,515 ล้านบาท ซึ่งถ้าหักเพียงแค่ส่วนของค่าใช้จ่ายรวม การบินไทยในปี 2567 ก็ยังสูงกว่าปี 2566 ที่มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน 40,211 ล้านบาท
แต่เมื่อเรานำตัวเลขนี้มาลบกับต้นทุนทางการเงินในปี 2567 ที่สูงถึง 18,781 ล้านบาท จะทำให้เหลือกำไรจากการดำเนินงาน ที่ยังไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว อย่างเช่นรายการพิเศษต่างๆ ที่ไม่ได้มีทุกปี 22,734 ล้านบาท (41,515-18,781) เทียบกับปี 2566 ที่มีกำไรจากการดำเนินงาน 24,600 ล้านบาท
มาถึงตรงนี้ทำให้เราวิเคราะห์ได้ว่า การบินไทย ถึงแม้จะมีการฟื้นตัวทางรายได้จากผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น แต่ยังมีค่าใช้จ่ายพี่เพิ่มขึ้นตาม และมีต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น 1,866 ล้านบาท ซึ่งต้นทุนทางการเงินนั้นจริงๆแล้ว เกิดจากการบันทึกดอกเบี้ยของสัญญาเช่าดำเนินงาน และการบันทึกต้นทุนทางการเงินตามรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 หรือ TFRS9 สำหรับหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการไม่ได้เกี่ยวกับการดำเนินงานตามปกติ
ทีนี้มาดูส่วนที่ทำให้การบินไทยขาดทุนสุทธิกันบ้าง
สิ่งที่ทำให้บริษัทฯ ขาดทุนสุทธินั้น มาจาก 5 ส่วนหลักๆ ที่เรียงจากค่าใช้จ่ายมากที่สุดไปน้อยที่สุดได้ดังนี้
- ขาดทุนจากการปรับโครงสร้างหนี้ 45,271 ล้านบาท เป็นผลขาดทุนทางบัญชีที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจากการแปลงหนี้เป็นทุนจามแผนฟื้นฟูกิจการ ส่วนใหญ่คือการใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้ที่ราคาตามแผนฟื้นฟูกิจการต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรม
- ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ 6,483 ล้านบาท จากการด้อยค่าเครื่องบิน และเครื่องยนต์
- ปรับปรุงสินค้าคงเหลือในกลุ่มที่ไม่มีฝูงบิน 1,329 ล้านบาท ซึ่งเป็นการตั้งประมาณค่าเผื่อมูลค่าสำหรับสินค้าคงเหลืออะไหล่เครื่องบินที่ยกเลิกการใช้งาน
- ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งเกิดจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่เกิดขึ้นแล้ว 1,203 ล้านบาท
- เงินชดเชยกรณีเลิกจ้างงาน 119 ล้านบาท โดยเป็นการจ่ายชดเชยพนักงานกรณีเลิกจ้างทั้งในและต่างประเทศ หลังเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ ต้องลดต้นทุนเพื่อเพิมศักยภาพการแข่งขัน
เมื่อนำต้นทุน และค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้มาหักลบกับรายได้รวมจะทำให้การบินไทยมีผลขาดทุนสุทธิในส่วนที่เป็นบริษัทใหญ่ทั้งหมด 26,934 ล้านบาท เป็นเหตุผลที่ทำให้การบินไทยยังขาดทุนสุทธิ ถึงแม้ในปี 2567 มีผู้โดยสารทั้งหมด 16.14 ล้านคนเพิ่มจากปี 2566 ราว 2,300,000 คน
อย่างไรก็ตามต่อจากนี้การบินไทยยังคงต้องดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการให้แล้วเสร็จภายในเดือน พฤษภาคม และตามกำหนดการแล้ว การบินไทยจะกลับเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นไทยไตรมาส 2/2568