แกะข้อมูลการค้า ‘ไทย-มองโกเลีย’ ‘จุรินทร์’ โวอีก 5 ปีมูลค่า 3.6 พันลบ. เป็นไปได้แค่ไหน?

ไม่กี่วันที่ผ่านมา ‘ไทย-มองโกเลีย’ ได้ประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) และได้ลงนาม MOU ในการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้าเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งต่อจากนี้คาดการณ์ว่าเราจะได้เห็นการทำ Business Networking เพื่อเจรจาการค้าการลงทุนระหว่างกัน

หลังจากที่มีการลงนามทาง ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ได้ตั้งเป้ามูลค่าการค้าระหว่างไทยกับมองโกเลียจะเพิ่มขึ้นจาก 55 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างน้อยใน 5 ปีนี้จะเพิ่มเป็น 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 3,600 ล้านบาท)

และคาดหวังว่ามูลค่าการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศจะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยสนับสนุน นักลงทุนจากมองโกเลียให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยในด้านต่างๆ รวมทั้งเชิญชวนนักท่องเที่ยวชาวมองโกเลียเดินทางมาเยือนประเทศไทย

ซึ่งหลังการจัดตั้ง JTC ครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้คาดหวังว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันของ 2 ประเทศ และจะมีส่วนสำคัญในการช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้น

ทั้งนี้เมื่อ ‘Business+’ สำรวจจากข้อมูลการส่งออกระหว่างไทย-มองโกเลีย ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (2560-2564) พบว่ามีมูลค่าการค้าเฉลี่ยปีละ 55.64 ล้านดอลลาร์ โดยในปี 2564 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 53.94 ล้านดอลลาร์ หรือ ราว 1.78 พันล้านบาท ซึ่งหากจะสามารถเป็นไปตามเป้าหมายที่ ‘จุรินทร์’ วางเอาไว้คือ 3.60 พันล้านบาท จะต้องเติบโตอีก 1 เท่าตัวภายในระยะเวลา 5 ปี

และเมื่อเจาะเข้าไปดูในส่วนของสินค้าที่ไทยส่งออกไปมองโกเลียได้มากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 คือ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออก 22.49% ของมูลค่าการส่งออกในปี 2565 (ม.ค.-ก.ค.) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ม.ค.-ก.ค.2564) ซึ่งมีมูลค่า 50.99 ล้านบาท ขณะที่หากมองมูลค่าการส่งออกในปี 2564 ที่ผ่านมาไทยมีการส่งออกสินค้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไปยังมองโกเลีย 90.16 ล้านบาท

ส่วนอันดับ 2 คือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ที่มีสัดส่วน 10.17% ซึ่งในช่วงเดือน ม.ค.ถึง ก.ค.ที่ผ่านมา มีมูลค่า 47.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนที่มีมูลค่า 22.84 ล้านบาท

ทั้งนี้เมื่อประเมินแนวโน้มการเติบโตของ 2 สินค้าที่เป็นยอดส่งออกหลัก 2 อันดับแรกแล้ว เราพบว่า ผลิตภัณฑ์กระดาษที่ใช้ผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์จะยังเป็นกลุ่มที่ได้เห็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการบริโภคในประเทศ ขณะเดียวกันบรรจุภัณฑ์กระดาษจะได้อานิสงส์ตามการใช้งานสำหรับซื้อขายสินค้าออนไลน์

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรถยนต์ และอุปกรณ์และส่วนประกอบแล้วนั้น ถูกประเมินว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น แต่เป็นอัตราเติบโตที่ชะลอลงเล็กน้อย จากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ และปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์

นอกจากนี้ในมุมมองของ ‘Business+’ แล้ว มองโกเลียถือเป็นตลาดใหม่ สำหรับอุตสาหกรรมด้านอาหารไทยเพิ่งเริ่มเป็นที่รู้จักของชาวมองโกเลียอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะเริ่มตีตลาดได้

ขณะที่ มองโกเลียยังมีพรมแดนติดกับรัสเซีย ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้การเติบโตค่อนข้างจำกัด โดยปี 2564 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจมองโกเลียขยายตัวขึ้นเพียง 1.4% และในปี 2565 รัฐบาลมองโกเลียได้ปรับเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจลงเหลือเพียง 2.8% จากเดิมตั้งเป้าไว้ 5% เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ดังนั้น การบุกตลาดมองโกเลียจึงไม่ใช่เรื่องง่ายสักเท่าไหร่นักในเวลานี้

เขียนและเรียบเรียบ : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : กระทรวงพาณิชย์ ,สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ ้

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #การค้า #การส่งออก #ไทยมองโกเลีย