เปิดข้อมูล TEMU แพลตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์ที่เข้ามาสะเทือน E-Commerce ทั่วโลก!

แพลตฟอร์ม TEMU ซึ่งทำธุรกิจ E-Commerce เจ้าใหม่จากประเทศจีนเพิ่งบุกเข้ามาเปิดตลาดในไทยไม่นานมานี้ ด้วยกลยุทธ์ขายสินค้าราคาถูกเพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาดจากเจ้าอื่น ด้วยโมเดลธุรกิจคือ เป็นการขายจากโรงงานจีนสู่ลูกค้าโดยตรง ด้วยการรวมออเดอร์สินค้าจากทั่วโลกที่สั่งตรงเข้ามาและส่งต่อไปยังโรงงาน ซึ่งแต่ละโรงงานที่ผลิตจะไม่มีแบรนด์  เน้นขายถูก ผลิตให้ได้ scale ที่สุด

ซึ่งโมเดลนี้ทำให้พ่อค้าแม่ค้าคนไทยไม่สามารถเป็นร้านใน TEMU ได้ จนทำให้เกิดความกังวลว่าจะเข้ามาทำให้ส่งผลเสียต่อผู้ประกอบการคนไทยอย่างมาก และยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพราะ TEMU นั้น ไม่ได้จดทะเบียนในไทยจึงไม่ได้เข้าสู่ระบบภาษี เพียงแต่มีการจัดเก็บ VAT ของกรมศุลกากร ในกลุ่มสินค้านำเข้ามูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ดังนั้น เงินทุกบาทที่คนไทยซื้อสินค้าใน TEMU จะถูกส่งไปที่ประเทศจีนโดยตรง ไม่ได้เสียภาษีให้ไทยจนกว่า กระทรวงการคลังจะทำให้แพลตฟอร์มเชื่อมต่อกับระบบจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นได้ช่วยต้นปี 2568

ทีนี้เรามาดูข้อมูลกันว่า  TEMU มีข้อมูลทางการเงินอะไรที่น่าสนใจบ้าง

temo

TEMU มีเจ้าของคือ PDD Holdings ซึ่งมีฐานอยู่ในจีน และยังเป็นเจ้าของ Pinduoduo (พินตัวตัว) อีกหนึ่งแอปช้อปปิ้งเบอร์ 3 ของจีน ซึ่ง Temu ก่อตั้งในปี 2565 และกลายเป็นแอพที่มีคนรู้จัก ด้วยยอดดาวโหลดที่พุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากการทุ่มเม็ดเงินมหาศาลในช่วงการแข่งขันซูเปอร์ปี 2567 โดยออกโฆษณาระหว่างพักการแข่งขัน 6 ครั้ง และแจกรางวัลมูลค่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำให้จำนวนการค้นหา TEMU บนกูเกิลพุ่งสูงขึ้นมากในช่วงที่โฆษณาออกอากาศ ทำให้ TEMU กลายเป็นแอพที่มีคนดาวโหลดสูงที่สุดในสหรัฐ

หากย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงเปิดตัวเมื่อเดือนกันยายน 2565  ในเวลาไม่ถึงปี แพลตฟอร์มนี้มีผู้ใช้งานจริงทะลุ 100 ล้านคนในสหรัฐอเมริกาภายในเวลาไม่ถึงปี และข้อมูลล่าสุด ณ เดือนกรกฎาคม ปี 2566 มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 130 ล้านครั้ง

ซึ่งเมื่อนำมาเทียบกับ SHEIN แพลตฟอร์มขายเสื้อผ้า สัญชาติจีน มีผู้ใช้เพียง 13.7 ล้านคน ในสหรัฐอเมริกา (74.7 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งน้อยกว่าฐานผู้ใช้ของ Temu เพียงแค่ในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว) ในขณะที่ ผู้ใช้ Amazon Prime ในสหรัฐอเมริกามี 112 ล้านคน

ซึ่งเมืองแรกที่ TEMU บุกตลาดคือ บอสตัน สหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 2022 หลังจากนั้นก็บุกตลาดในโซนตะวันตกอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันได้เริ่มขยายมายจังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไทยเป็นอันดับ 3 ที่ TEMU บุกตลาดหลังเจาะเข้าไปยังมาเลเซียกับฟิลิปปินส์เป็นที่เรียบร้อย

โดยสัดส่วนของยอดดาวโหลดแอพ TEMU ทั่วโลกมีดังนี้

สหรัฐ 42.1% , สหราชอาณาจักร 7.7% , ฝรั่งเศส 6.9% , เยอรมัน 6.8% , อิตาลี 5% ,สเปน 4.6% และอื่นๆ 27%

อย่างไรก็ตามหากมองในมุมของรายได้ มีการประมาณการว่ารายได้ต่อปีของ TEMU ในปี 2023 อยู่ที่ 6,000 ล้านดอลลาร์ เทียบกับคู่แข่งอย่าง Shein อยู่ที่ 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรายได้ที่น้อยกว่าของ TEMU เกิดจากการที่บริษัทเน้นขายสินค้าลดราคา ทำให้มีค่าใช้จ่ายต่อลูกค้าโดยเฉลี่ยต่ำกว่ามากแม้จะมีฐานผู้ใช้ที่มากกว่าก็ตาม

ในแง่ของกำไรสุทธินั้น มีการคาดการณ์กันว่า TEMU ยังไม่ได้ทำกำไรได้ในขณะนี้ บทความใน WIRED ระบุว่าบริษัทขาดทุนเฉลี่ย 30 ดอลลาร์ต่อคำสั่งซื้อ หรือคิดเป็นเงินไทยก็ขาดทุนราว 1,050 บาทต่อ 1 ออเดอร์ โดยรวมขาดทุน 588 – 954 ล้านดอลลาร์ต่อปี คิดเป็นเงินไทยราว 19,404-33,390 ล้านบาทต่อปี

ซึ่งการขาดทุนมากขนาดนี้มาจากการที่บริษัทลดราคากระหน่ำ ชนิดที่ทำให้มาร์จิ้น หรืออัตรากำไรขั้นต้นต่อการขายสินค้าแทบไม่เหลือ และยังทุ่มงบการตลาดที่เข้มข้นเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในสหรัฐอเมริกา โดยมีรายงานว่า TEMU ใช้งบทางการตลาดราว 1 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือน

ในมุมมองของ Business+ แล้วถึงแม้ TEMU จะมีการเติบโตของยอดขายอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังต้องประสบกับผลขาดทุน จากการทุ่มเงินทำการตลาด และขายสินค้าราคาต่ำที่สุดเพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาด อีกทั้งโมเดลธุรกิจของ TEMU ยังทำให้เกิดความขัดแย้ง และส่งผลเสียต่อตลาด E-Commerce ของประเทศอื่นๆ เช่น สินค้าคุณภาพต่ำ/เป็นของปลอม รวมไปถึงปัญหาด้านภาษีที่อาจถูกหลายๆประเทศเข้ามาควบคุมในอนาคต ดังนั้น การเติบโตทางธุรกิจของ TEMU อาจจะไม่ยั่งยืน โดยเฉพาะกับเทรนด์ของโลกที่เน้นเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม และการไม่ละเมิดสิทธิทางปัญญา และสิทธิมนุษย์ชน

ที่มา : mobiloud

ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus

Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #เทมู #TEMU