TED Fund เบื้องหลังและความหวังของ ‘สตาร์ทอัพไทย’

ปี 2022 น่าจะถือเป็นจุดเริ่มต้นยุคใหม่ของโลกใบนี้ในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และศาสนา โดยทั้ง 4 เรื่องนี้ เศรษฐกิจน่าจะถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดสำหรับการขับเคลื่อนสังคมในวันนี้ แต่สังคมภายใต้บริบทใหม่ในวันนี้จะไม่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยนวัตกรรมแบบเดิม ๆ อีกแล้ว การพัฒนา และผลักดันนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้

ประเทศไทยเองในวันนี้ก็มีหน่วยงานจำนวนมากที่มีบทบาทสำคัญ ในการเข้าไปช่วยผู้ประกอบการที่ตั้งใจจะพัฒนานวัตกรรม ให้สามารถตอบสนองต่อโลกเชิงพาณิชย์ ซึ่งหนึ่งในหน่วยงานที่มีชื่อเสียง และเป็นกำลังสำคัญในเรื่องนี้ก็คือ กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology and Innovation-Based Enterprise Development Fund) หรือ TED Fund ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมีภารกิจในการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจ การพัฒนาศักยภาพ และการตลาด เพื่อช่วยลดภาระความเสี่ยงด้านการลงทุนทางธุรกิจของผู้ประกอบการที่ต้องการประกอบธุรกิจบนพื้นฐานของเทคโนโลยีและนวัตกรรม

โดยปัจจุบัน TED Fund ได้ดำเนินโครงการจัดสรรเงินสนับสนุนผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งในกลุ่มของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startups) ใน 11 กลุ่มโครงการ ได้แก่ TED Fund Public Batch 1- 3, เครือข่ายอุทยานวิทย์ฯ (รุ่นที่ 1-2), Research Gap Fund – TED Fund และอื่น ๆ เป็นต้น ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) เผยว่า “เราคือกองทุนหมุนเวียนที่อยู่ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยเงินทุนหมุนเวียน ทางรัฐบาลจะมีพ.ร.บ. ของเขาเองที่ดูแลโดยกระทรวงการคลัง โดยกองทุนหมุนเวียนในประเทศตอนนี้มีอยู่กว่า 170-180 กอง ซึ่ง TED Fund คือหนึ่งในนั้น”

จุดเริ่มต้นของ TED Fund

TED Fund ก่อนหน้าพวกเขาสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อย่างในปัจจุบัน ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ในตอนนั้นมองว่า ประเทศไทยมีการให้เงินทุนวิจัยที่ค่อนข้างจะหลากหลาย และค่อนไปทาง Early Stage ของงานวิจัย เน้นให้นักวิจัยนำผลงานในห้องแล็บออกมาทำให้ใช้งานได้จริงให้มากที่สุด แต่ว่า ณ ตอนนั้น ทุนที่จะให้ไปเพื่อทำให้งานวิจัยถูกนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ หรือผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ได้จริงมีค่อนข้างน้อย ทางกระทรวงจึงมีดำริว่า น่าจะมีกองทุนในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นมา เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรมและเทคโนโลยีโดยเฉพาะ ตรงนั้นก็เลยเป็นที่มาของการมี TED Fund ขึ้นมา

หลักเกณฑ์คัดเลือกนวัตกรรม

TED Fund มีเกณฑ์แบ่งว่าผลิตภัณฑ์ไหนใช้ได้จริง หรือไม่จริง โดยดูจากรูปลักษณ์หน้าตาของมันว่าพร้อมใช้งานหรือไม่ แต่แค่ผลิตภัณฑ์ใช้งานได้จริงอย่างเดียวไม่พอ มันต้องมีความเชื่อมโยงกับลูกค้าด้วย คือนวัตกรรมนั้นจำเป็นต้องเข้าใจความรู้สึกของลูกค้าว่าพวกเขาจะใช้งานมันไหม หรือมีความคิดที่จะซื้อมันไหม

“ปัญหาในการทำงานของนักวิจัยในช่วงแรก ๆ คือ พวกเขาจะอิงกับหลักการ และทฤษฎีมากเกินไป แต่พอมันจะเข้าสู่ตลาดจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะนวัตกรรมเนี่ยมันไม่ใช่แค่เทคโนโลยีอย่างเดียว มันต้องขายได้ด้วย ซึ่งทุนของ TED Fund ก็จะเข้ามาช่วยใน Stage นี้ คือ หลักการต้องได้ รูปลักษณ์ต้องน่าใช้งาน และลูกค้ามีความต้องการที่จะซื้อมาใช้งานจริง”

การมาขอทุนจาก TED Fund ทาง ดร.ชาญวิทย์ เพิ่มเติมว่า นอกจากแผนในการทำธุรกิจแล้ว องค์ประกอบของทีมงานก็ถือเป็นส่วนสำคัญ เช่น ในทีมทีมหนึ่งประกอบไปด้วยนักวิจัย นักธุรกิจ และนักการตลาด เป็นต้น ทีมแบบนี้มีโอกาสจะสร้างประโยชน์ได้อย่างเต็มที่จากทุนที่เราให้ไปมากกว่าทีมที่มีแต่นักวิจัยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่หากในทีมมีนักวิจัยเพียงอย่างเดียวเท่านั้นทาง TED Fund ก็จะพาไปหาที่ปรึกษาของเราอย่าง TED Fellow ซึ่งเปรียบดั่งพี่เลี้ยงที่จะช่วยน้อง ๆ ทั้งหลายในการตั้งต้น

เราจำเป็นต้องเข้าใจว่านักวิจัยยังไงก็ไม่ใช่นักธุรกิจ วิธีคิดของทั้งสองกลุ่มไม่เหมือนกัน ถ้านักวิจัยจะผันตัวเองมาทำธุรกิจจำเป็นต้องมีความพร้อมในการทำธุรกิจด้วย คือถ้าไม่เป็นเจ้าของ ก็ต้องมีพันธมิตรที่จับมือกันมา ตรงนี้เป็นเหมือนบันไดขั้นแรก โดยฝั่ง TED Fund จะให้คำแนะนำในการหาทีมงาน พร้อมปรับเรื่อง Mindset ให้พร้อมจะทำธุรกิจ

TED Fund กับสถานการณ์ภายใต้โรคระบาด

2 ปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายของเหล่าสตาร์ทอัพเหมือนกัน ตรงนี้เหมือนเป็นการวัดใจว่าใครจะปรับตัวได้ หรืออยู่รอดได้ โดยทาง TED Fund ไม่ได้หยุดทำงานเรามีการนำเอาผลิตภัณฑ์ไปปรับปรุงพัฒนาต่อเรื่อย ๆ ซึ่งตรงนี้เราต้องใช้ สิ่งอำนวยความสะดวกจากห้องแล็บ รวมไปถึงการบริการในมิติต่าง ๆ แต่สถานการณ์โรคระบาดทำให้น้อง ๆ มาทำแล็บไม่ได้ นั่นทำให้เราต้องโยกย้ายไปทำสิ่งต่าง ๆ ผ่านออนไลน์มากขึ้น ซึ่งก็เปิดโอกาสให้ธุรกิจรูปแบบแพลตฟอร์มได้เติบโตท่ามกล่างวิกฤตนี้

แต่กลุ่มที่พัฒนาได้โดดเด่นก็เห็นจะเป็นด้านสุขภาพ และการแพทย์ น้อง ๆ กลุ่มนี้เห็นทางที่จะเติบโตได้มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงกลุ่มเกษตรกรรม และอาหารก็มาแรง เพราะคนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ช่วยรักษาสมดุลในร่างกายเติบโตไปได้ดีมาก ๆ

เหตุผลที่ภาคการเกษตรกรรมไปได้ดีก็เพราะประเทศเรามี Food Supply จำนวนมาก ซึ่งตรงนี้เป็นจุดแข็งของประเทศเราอยู่แล้ว เพราะเราเป็นฐานการผลิต รวมไปถึงธุรกิจสมุนไพรด้วยที่มาแรง และกำลังได้รับความสนใจมากขึ้น โดยคณะกรรมการ TED Fund จะมีการกำหนดอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้น (ลงทุนเป็นพิเศษ) เช่น สุขภาพและการแพทย์ เกษตรและท่องเที่ยว เป็นต้น แม้ท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมาจะแย่ลงไปบ้าง แต่ด้วยจุดแข็งของไทยเชื่อว่าอย่างไร ประเทศไทยก็เป็นสถานที่ที่ดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามาในประเทศนี้ได้เรื่อย ๆ อยู่ดี ซึ่งตอนนี้ทุกคนก็เตรียมพร้อมรอการเปิดประเทศแบบเต็มที่ซึ่งเมื่อไรที่เปิด การท่องเที่ยวจะกลับมาอย่างแน่นอนที่สุด

ด้านภาคการศึกษา ตอนนี้กำลังจะมีการปฏิรูปอุดมศึกษาในเร็ว ๆ นี้ด้วย เช่น ต่อไปจะไม่ต้องเรียน 4 ปี 8 ปี อีกแล้ว จะไม่มีข้อบังคับในลักษณะนี้อีก รูปแบบการเรียนในอนาคตจะเป็นแบบ Life Long Credit สมมติคุณเรียนไปแล้วสองปี อยากจะออกไปทำงาน แต่ต้องการจะเก็บเครดิตไว้ เพื่อในอีก 4-5 ปีข้างหน้าอยากจะกลับมาเรียนต่อได้ รูปแบบนี้ในอนาคตมันจะทำได้แล้ว (หลายมหาวิทยาลัยเริ่มทำไปแล้ว) นั่นทำให้สตาร์ทอัพตรงนี้มีโอกาสให้เติบโตเป็นอย่างมาก เพราะมีฐานข้อมูลที่กว้างขวางมาก ดังนั้นมหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่แหล่งให้ความรู้อีกต่อไป แต่จะต้องเป็นสถานที่แห่งการฝึกฝนความรู้ให้กับน้อง ๆ ด้วย Ed-Tech โตแน่นอนในมุมของ TED Fund

ปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จและล้มเหลว

ดร.ชาญวิทย์ เผยว่า ตัวกำหนดความสำเร็จและล้มเหลวคือเรื่อง Mindset และความเปิดกว้างในการทำธุรกิจ ถือเป็นเรื่องสำคัญ สตาร์ทอัพต่างประเทศค่อนข้างจะเปิดกว้างสำหรับการรับพันธมิตรเข้ามาทำงานร่วมกัน เขารู้ศักยภาพของตัวเองว่าเก่งด้านนี้ และเขาพร้อมจะไปหาทีมในมิติที่เขาไม่มีมาเสริม ตรงนี้ทำให้เขากลายเป็นสตาร์ทอัพที่แข็งแกร่ง ตรงนี้คือกุญแจแห่งความสำเร็จ อยากให้เด็กในบ้านเราเปิดใจสำหรับมิตินี้มากขึ้น เพราะหลายคนมีความต้องการที่อยากจะบริหารธุรกิจเอง แต่พอเราจะเข้าสู่ขั้นตอนการขยาย มันจำเป็นต้องมีพันธมิตรเข้ามาเจรจาเพื่อเป็นหุ้นส่วน ตรงนี้ถ้าเราเปิดกว้างพอมันจะทำให้เราสามารถขยายธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น

บ้านเราเด็กที่จะโตขึ้นมาเป็นสตาร์ทอัพสัดส่วนยังถือว่าน้อย โดยอายุเฉลี่ยเด็กในต่างประเทศเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยอายุที่น้อยกว่าเรา คนที่ทำธุรกิจนั้นส่วนใหญ่ เพราะไม่อยากเป็นลูกน้องใคร อยากตัดสินใจเองได้ อยากทำในสิ่งที่คิดเอาไว้ เมื่อประสบความสำเร็จแล้ว ตามรูปแบบสตาร์ทอัพโมเดล ก็ต้องมีคนอยากจะเข้ามาร่วมลงทุนด้วย เช่น ถ้าอยากได้หุ้นสัก 5% คิดเท่าไร ตรงนี้หลายคนรู้สึกว่ากำลังจะสูญเสียผลประโยชน์ ซึ่งถ้ามองในมิติของการขยายตัวไปสู่ระดับใหญ่กว่าแค่ท้องถิ่น มันเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้เลย ถ้าไม่เดินบนเส้นทางนี้ก็ต้องไปเดินอีกเส้นทาง ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายก็คือ สตาร์ทอัพร้านอาหารในประเทศญี่ปุ่น ที่ได้ดาวมิชลินแต่มีโต๊ะแค่ 10 ตัว แล้วเลือกเส้นทางการคุมคุณภาพเอา มุ่งขายคุณค่าแทน

จริง ๆ การมีคนเข้ามาร่วมถือหุ้น ในมิติหนึ่งมันเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ อย่างกรณีตัวอย่าง กระดานเทรดคริปโตเคอร์เรนซีเจ้าใหญ่ของไทยที่ถูกซื้อไปโดยสถาบันการเงินที่มีชื่อเสียง ตรงนี้มันก็เหมือนเป็นการสร้างความมั่นคงและน่าเชื่อถือให้กับสตาร์ทอัพเจ้านี้ไปด้วย เพราะคนซื้อดูเป็นบริษัทที่มั่นคง ซึ่งโมเดลตรงนี้ในต่างประเทศเขาทำกันเป็นเรื่องปกติ

“ผมเคยไปดูงานที่บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น ที่อังกฤษ เขาจะมีสตาร์ทอัพซึ่งทำงานอยู่ในพื้นที่ของเขาที่เป็น 10 บริษัท และถ้ารายไหนมีศักยภาพที่จะเติบโตขึ้นมา เขาก็จะซื้อกิจการ โดยทาง แกล็กโซสมิทไคล์น จะสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับทำงานให้ คุณเป็นสตาร์ทอัพที่อยากจะผลิตยาตัวนี้ และคุณก็ขอเข้ามาอยู่ในสถานที่ที่มีสิ่งต่าง ๆ อำนวยความสะดวกสำหรับทำงาน ซึ่งทาง แกล็กโซสมิทไคล์น ก็ปล่อยให้คุณใช้งานพื้นที่ของเขา โดยที่ไม่ได้มีการซื้อกิจการของคุณ แต่เมื่อไรที่ยาตัวนี้ถูกมองว่ามีศักยภาพ ทาง แกล็กโซสมิทไคล์น ก็จะเป็นเจ้าแรกที่เข้าไปคุย เพื่อดำเนินการในมิติอื่น ๆ ต่อไป เพราะยาหนึ่งตัวกว่าจะผลิตขึ้นมาได้ รวมถึงช่วงเวลาของการวิจัยด้วยกินระยะเวลากว่า 15 ปี

ต้องบอกว่า แกล็กโซสมิทไคล์น ทำวิจัยเองทุกอย่างไม่ไหว เขาก็เลยให้สตาร์ทอัพใหม่ ๆ ที่มีความรู้อยู่แล้วทำไป และตัวไหนที่มันพอจะเข้าสู่ตลาดได้ก็ซื้อมา แล้วเอาไปปั้นต่อเพื่อผลักดันเข้าสู่ตลาดต่อไป นี่คือวิถีของการโตในต่างประเทศ เพราะฉะนั้นสตาร์ทอัพไม่ใช่แค่ทำธุรกิจแล้วอยากโตจะโตได้ ยังไงก็ต้องมีรายใหญ่ที่มีบทบาทเข้ามาสนับสนุนไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่ดี ซึ่งพวกเขาก็เหมือนเป็นทั้งพี่เลี้ยง และอาจารย์ที่ดี ที่จะช่วยให้บริษัทเด็ก ๆ สามารถเติบโตไปได้อย่างมั่นคง

เขียนและเรียบเรียง : เอกพล มงคลพัฒนกุล

ติดตาม Business+ ได้ที่ https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #TEDFund #เทคโนโลยี #นวัตกรรม #สตาร์ทอัพไทย