‘บสย.’ คือใคร? ทำไมจึงมีบทบาทต่อการขอสินเชื่อ

บ่อยครั้งที่เวลามีการประกาศสินเชื่อจากสถาบันการเงิน โดยเฉพาะสถาบันการเงินรัฐ หนึ่งในเงื่อนไขการขอสินเชื่อที่พบได้บ่อยคือการใช้หลักประกันเงินกู้ ซึ่งมักจะปรากฏชื่อของ ‘บสย.’ ให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง อย่างเช่นกรณีล่าสุดของธนาคารออมสิน ที่ได้เปิดตัว ‘สินเชื่อธนาคารประชาชน เพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ’ ออกมาเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้หลุดพ้นจากหนี้นอกระบบ โดยเมื่ออ่านรายละเอียดของสินเชื่อก็พบว่าในส่วนของหลักประกันเงินกู้ ได้มีการระบุเงื่อนไขในส่วนนี้ไว้ว่า “ใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นหลักประกันเงินกู้” ทำให้หลาย ๆ คนที่ไม่รู้จักกับ ‘บสย.’ มาก่อน อาจจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า ‘บสย.’ คือใคร? และทำไมถึงมีบทบาทกับการขอสินเชื่อ วันนี้ Business+ หาคำตอบมาให้แล้ว

รู้จัก บสย.
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ ‘บสย.’ หรือชื่อเต็ม คือ ‘บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม’ เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ สังกัดรัฐวิสาหกิจ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม พ.ศ. 2534 โดยรับโอนทรัพย์สิน หนี้สิน และความรับผิดชอบของกองทุนประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (กสย.) เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 ทำหน้าที่ช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ สร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพ แต่ขาดหลักประกัน หรือหลักประกันไม่เพียงพอได้รับวงเงินที่เพียงพอกับความต้องการ

บสย. จัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อะไรบ้าง?
1.ช่วยเหลืออุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมให้ได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินจำนวนมากขึ้น
2.ช่วยให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจในการให้สินเชื่อแก่อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม
3.เร่งการกระจายสินเชื่อไปยังอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมทั่วประเทศได้เร็วขึ้น
4.ช่วยให้การพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมบรรลุเป้าหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

หลังจากทำความรู้จักกับ ‘บสย.’ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็คงจะเป็นคำตอบให้กับคำถามที่ว่าทำไม ‘บสย.’ จึงมีบทบาทต่อการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินของผู้ประกอบการรายย่อย นั่นก็เพราะผู้ประกอบการรายย่อยมักเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนที่อยู่ในระบบ เนื่องจากมักติดปัญหาในด้านหลักฐานแสดงฐานะทางการเงินที่เป็นเอกสารทางการ อย่างเช่นสลิปเงินเดือน, ใบรับรองเงินเดือน หรือเอกสารการเดินบัญชีเฉกเช่นพนักงานประจำที่รับเงินเดือนจากองค์กร ทำให้การขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินมักเป็นเรื่องยาก ดังนั้น การมี ‘บสย.’ เป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อ จะช่วยสร้างความอุ่นใจให้กับธนาคารในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพราะไม่ต้องกังวลกับปัญหาหนี้สูญ เนื่องจากหากผู้ประกอบการมีปัญหาเรื่องการผ่อนชำระ หรือผิดนัดชำระหนี้ ธนาคารจะสามารถเรียกเก็บเงินจาก ‘บสย.’ ได้

สำหรับรูปแบบใช้บริการค้ำประกัน ‘บสย.’ มี 2 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่

รูปแบบที่ 1 มีขั้นตอนดังนี้
1. ผู้ประกอบการ SMEs ยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน
2. สถาบันการเงินพิจารณาอนุมัติสินเชื่อตามหลักเกณฑ์ของสถาบันการเงินและยื่นคำขอค้ำประกันสินเชื่อไปยัง ‘บสย.’
3. ‘บสย.’ พิจารณาคำขอค้ำประกันสินเชื่อและส่งหนังสือค้ำประกันให้สถาบันการเงิน
4. สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs

รูปแบบที่ 2 การค้ำประกันแบบไดเร็คการันตี (Direct Guarantee) มีขั้นตอนดังนี้
1. ผู้ประกอบการ SMEs ยื่นคำขอหนังสือค้ำประกันจาก ‘บสย.’
2. ‘บสย.’ พิจารณาและออกหนังสือรับรองการค้ำประกันให้ผู้ประกอบการ SMEs ใช้นำไปขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน (*’บสย.’ สามารถนำหนังสือรับรองการค้ำประกันให้สถาบันการเงินโดยตรงตามที่ SMEs เห็นชอบ)
3. สถาบันการเงินพิจารณาอนุมัติคำขอสินเชื่อตามหลักเกณฑ์ของสถาบันการเงินนั้น ๆ แล้วแจ้งความประสงค์มายัง ‘บสย.’
4. ‘บสย.’ ออกหนังสือค้ำประกันส่งให้ธนาคาร จากนั้นสถาบันการเงินให้สินเชื่อผู้ประกอบการ SMEs

ที่มา : gsb, tcg

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #บสย #สินเชื่อ #ผู้ประกอบการรายย่อย #สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย #บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม #SMEs