กลุ่มพูลผล และกลุ่มบริษัท เอส เอ็ม เอส เปิดโรงงานผลิตหลอดพลาสติกชีวภาพ TAPIOPLAST® เดินหน้าขยายสินค้ากลุ่ม Bioplastic ตอกย้ำผู้นำตลาด ตอบโจทย์การดูแลสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้า “ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

บริษัท สยาม มอดิฟายด์ สตาร์ช จำกัด ภายใต้กลุ่มบริษัท เอส เอ็ม เอส ได้จัดพิธีเปิดโรงงานผลิตหลอดพลาสติกชีวภาพ TAPIOPLAST® โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่มุ่งตอบโจทย์การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับนโยบายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ของกลุ่มบริษัท เอส เอ็ม เอส ที่มีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เพื่อสร้างความยั่งยืนในอนาคต

ดร.วีรวัฒน์ เลิศวนวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เอส เอ็ม เอส ภายใต้กลุ่มพูลผล เปิดเผยว่า โรงงานผลิตหลอดพลาสติกชีวภาพ TAPIOPLAST® มีพื้นที่โรงงาน 100 ตารางเมตร มีกำลังการผลิตสูงสุด 400,000 เส้นต่อวัน หรือ 12 ล้านเส้นต่อเดือน ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับโรงงาน TAPIOPLAST® ซึ่งเป็นโรงงานที่จัดตั้งขึ้นสำหรับผลิตสินค้าในกลุ่ม Bioplastic โดยใช้พื้นที่ของ บริษัท สยาม มอดิฟายด์ สตาร์ช จำกัด คะอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี

สำหรับผลิตภัณฑ์หลอดพลาสติกชีวภาพ TAPIOPLAST® เป็นหลอดดูดเครื่องดื่มเย็น แบบสลายตัวได้ทางธรรมชาติ มีทั้งรูปแบบ หลอดตรง หลอดงอ หลอดช้อน รวมถึง หลอดชาไข่มุก โดยสามารถผลิตหลอดตรง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6, 8 และ 12 มม. เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้หลากหลาย มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้า Horeca หรือ กลุ่มธุรกิจโรงแรม (Hotel), ร้านอาหาร (Restaurant), กาแฟและธุรกิจจัดเลี้ยง (Café and Catering) ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการลดขยะพลาสติก และต้องการตอบโจทย์เรื่องรักษ์โลกผ่านสินค้าและบริการในแบรนด์ของตัวเอง รวมไปถึงกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้งานตามบ้านทั่วไปที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย

ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายในการขยายตลาดให้เติบโตขึ้นทุกปี โดยคาดว่าในปีที่ 5 จากนี้ จะสามารถส่งมอบสินค้าได้ 12 ล้านเส้นต่อเดือน คิดเป็น 80% ของกำลังการผลิต และสามารถขยายตลาดสินค้านวัตกรรมของบริษัทฯ ให้กว้างขึ้น จากเดิมที่มีการจำหน่ายเฉพาะสินค้าแป้งดัดแปรเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อนำไปผลิตต่อเท่านั้น  “การผลิตหลอดพลาสติกชีวภาพ TAPIOPLAST® เป็นก้าวแรกที่บริษัทฯ มีการลงทุนเพื่อผลิตสินค้าพร้อมใช้งานสำหรับลูกค้าปลายทาง ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้แบรนด์ TAPIOPLAST® เป็นที่รู้จักในตลาดของผู้บริโภคโดยตรงมากยิ่งขึ้น” ดร.วีรวัฒน์ กล่าว

บริษัทเป็นผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพจากมันสำปะหลัง เป็นรายแรกของประเทศไทย ภายใต้เครื่องหมายการค้า TAPIOPLAST® สำหรับผลิต ถุงขยะ ถุงหูหิ้ว หลอด ฟิล์มคลุมดินสลายตัวได้ทางชีวภาพ ฯลฯ โดยปัจจุบันสินค้า Bioplastic หรือ “พลาสติกชีวภาพ” มีสัดส่วนตลาดที่ประมาณ 1% ของการผลิตพลาสติกทั้งหมด ทั้งนี้ จากกระแสการดูแลสิ่งแวดล้อม รวมถึงนโยบายของภาครัฐในหลายๆ ประเทศ ผลักดันให้ตลาด Bioplastic เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีสินค้า Bioplastic ในท้องตลาด 2.2 ล้านตันทั่วโลก และคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณสูงถึง 6.29 ล้านตันในปี 2570 โดยวางเป้าหมายสินค้า TAPIOPLAST® ของบริษัทฯ จะมีส่วนแบ่งตลาด 10% ของสินค้า Bioplastic ทั้งหมดที่จำหน่ายทั่วโลกภายในปี 2573

“กลุ่มบริษัท เอส เอ็ม เอส นำเสนอเส้นทางสู่ความยั่งยืนผ่านการใช้สินค้า TAPIOPLAST® ซึ่งสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ง่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและตอบโจทย์เรื่องการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นความภูมิใจของกลุ่มบริษัทเอส เอ็ม เอส ที่จะนำผู้บริโภคและลูกค้าของเราไปสู่เส้นทางของการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกชีวภาพให้เติบโตขึ้น ทั้งตอบโจทย์ BCG Economy ซึ่งถือเป็นทางออกสำคัญที่มุ่งสู่ความยั่งยืนอีกด้วย” ดร.วีรวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับกลุ่มบริษัท เอส เอ็ม เอส หนึ่งในกลุ่มพูลผล ซึ่งก่อตั้งมากกว่า 38 ปี เป็นผู้นำในการผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปรคุณภาพสูงของประเทศไทยและของโลก ที่ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมที่หลากหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเป็นผู้ริเริ่มนำแป้งมันสำปะหลังซึ่งเป็นสินค้าสำคัญทางการเกษตรมาดัดแปรโดยใช้เทคโนโลยีอันทันสมัย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่มันสำปะหลัง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อาหาร กระดาษ สิ่งทอ กาว อาคารและสิ่งก่อสร้าง รวมถึงพลาสติกชีวภาพ โดยบริษัทฯ ถือเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากแป้งมันสําปะหลังดัดแปรรายแรกของประเทศไทย

ปัจจุบันกลุ่มบริษัท เอส เอ็ม เอส มีโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปรทั้งหมด 3 แห่ง ในจังหวัดปทุมธานี ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 400,000 ตันต่อปี ส่งผลให้กลุ่มบริษัท เอส เอ็ม เอส ครองตำแหน่งเป็นผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปรของคนไทยรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้ ในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรม และการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและชุมชน