สุดยอด 3 สปีคเกอร์จากวงการอัพไซเคิล ชวนทำความยั่งยืน..ให้กลายเป็นธุรกิจ ลดปัญหาขยะล้นเมือง ใน “SX Talk Series ครั้งที่ 3”

ปัจจุบัน “นวัตกรรมอัพไซคลิ่ง (Upcycling) เป็นวิธีการแก้ปัญหาขยะล้นเมืองที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่โดยการนำขยะมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ผ่านมุมมองจาก 3 สปีคเกอร์จากวงการอัพไซเคิล ที่มาชวนคิด ชวนลงมือทำธุรกิจเพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง ภายใต้ธีม “The Way to Smart Upcycling หมุนเวียนฉลาดล้ำกับนวัตกรรมอัพไซเคิล” ตอกย้ำแนวคิดการทำธุรกิจด้วยการนำวัสดุเหลือใช้ ที่ถูกมองว่าเป็นขยะมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้งานได้อีกครั้ง บนเวที SX Talk Series ครั้งที่ 3

‘เปลี่ยนมุมมองการทำธุรกิจ..ให้ยั่งยืน เป็นการทำความยั่งยืน..ให้กลายเป็นธุรกิจ’ กับ คุณธีรชัย  ศุภเมธีกูลวัฒน์ Design Director and Co-Founder of Qualy บริษัท นิว อาไรวา จำกัด เจ้าของแบรนด์ Qualy นำขยะมาสร้างสรรค์ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ตอบโจทย์แนวคิด Design for a Sustainable World        เล่าว่า  “จากจุดเริ่มต้นที่เรามองเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้นโดยเฉพาะขยะพลาสติก แบรนด์ Qualy จึงได้นำขยะมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ด้วยคอนเซ็ปต์ Design for a Sustainable World โดยบอกเล่าปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตร การออกแบบผลิตภัณฑ์และแพคเกจจิ้งรักษ์โลก และเรายังได้มีโอกาสร่วมกับแบรนด์อื่น ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสร้างการรับรู้เรื่องความยั่งยืนให้คนทั่วไป เช่น ‘พระสติ’ พระเครื่องที่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งได้ต่อยอดด้วยการร่วมมือกับมูลนิธิกระจกเงา ชวนคนมาสนับสนุนสินค้า แล้วทางมูลนิธิจะนำรายได้ไปจ้างงานคนชรา คนไร้บ้านต่อไป ถือเป็นการอัพไซเคิลชีวิตคนให้กลับมาดีอีกครั้ง ถึงแม้วัสดุที่นำมาใช้จะเป็นขยะแต่เราก็คิดทุกขั้นตอนว่าจะนำมาใช้อย่างไรให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด วันนี้จึงอยากให้ทุกคนมองว่าการทำงานเรื่องความยั่งยืนเป็นสิ่งที่มีคุณค่า แน่นอนว่าเป้าหมายของธุรกิจคือรายได้ แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราเลือกทำงานที่ไม่ทำลายทรัพยากร และเปลี่ยนมุมมองที่ว่าจะทำธุรกิจให้ยั่งยืนได้อย่างไร มาเป็นจะทำอย่างไรให้ความยั่งยืนกลายเป็นธุรกิจ”

‘ของมันต้องมี’ แฟชั่นอัพไซเคิล คุณไม่ได้จ่ายแค่ค่าสินค้า แต่เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีของลูกหลานในอนาคต’  คุณยุทธนา อโนทัย เจ้าของ The ReMaker กล่าวว่า “ในวงการแฟชั่นมีคำว่า ‘Fast Fashion’ หมายถึง สินค้าที่มาไวไปไว เป็นสินค้าตามซีซั่นต่าง ๆ ที่แบรนด์จะนำมาลดราคาเมื่อต้องเปิดตัวคอลเลกชั่นใหม่ สำหรับผู้บริโภคเองก็รู้สึกว่า ‘ของมันต้องมี’ เพราะชุดเดิมไม่ตามเทรนด์ ทั้งที่ความจริงแล้วเสื้อผ้าหนึ่งชุดมีอายุการใช้งานที่นาน แต่เมื่อเรามองไม่เห็นคุณค่าที่แท้จริงของมัน สุดท้ายจึงทำให้เกิดขยะแฟชั่นตามมา เช่น ในต่างประเทศเสื้อหนังใส่กันหนาว เป็นสิ่งที่คนมักจะซื้อใหม่กันทุกซีซั่น ส่วนเสื้อตัวเดิมก็กลายเป็นขยะและถูกส่งต่อเป็นสินค้ามือสองขายในประเทศไทย ซึ่งถ้ายังขายไม่ได้อีก วันหนึ่งก็จะถูกนำไปกำจัด The ReMaker จึงเกิดไอเดียอยากนำเสื้อหนังเหล่านี้มาอัพไซเคิลให้เป็นสินค้าแฟชั่นที่สวยงาม พร้อมใช้งานอีกครั้ง เช่น กระเป๋า รองเท้า เครื่องประดับ ซึ่งผมไม่มีพื้นฐานความรู้เรื่องการตัดเย็บหรือการดีไซน์เลยด้วยซ้ำ แต่ผมมีแพชชั่นที่อยากทำ และอยากให้มันกลายเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคมีความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้าอัพไซเคิลมากขึ้นว่าราคาที่เขาจ่ายไป ไม่ใช่แค่ค่าสินค้า แต่เขาจ่ายเพื่อสิ่งแวดล้อมที่กำลังมีปัญหา และจ่ายเพื่อลูกหลานของเขาจะได้ชีวิตอยู่บนโลกที่มีสภาพแวดล้อมที่ดีต่อไปในอนาคต”

ปิดท้าย ‘อาสาทำด้วยใจ..อัพไซเคิลขยะริมหาดเป็นรองเท้าคู่ใหม่ เพิ่มรายได้ชุมชน เพื่อโลกยั่งยืน’  ของ คุณปฏิญญา อารีย์ ผู้จัดการทั่วไป ทะเลจร และผู้ประสานงาน Trash Hero Pattani กล่าวว่า “เวลาไปเที่ยวทะเลสิ่งที่เราเห็นนอกจากผู้คน ต้นไม้ ชายหาด คือ ขยะ ทำให้รู้สึกว่าเราควรจะลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ก็เลยรวมตัวกันกับเพื่อนตั้งกลุ่ม ‘Trash Hero Pattani’ ชวนอาสาสมัครออกไปเก็บขยะทุกสัปดาห์ ภายใต้แนวคิด ‘We Clean We Educate We Change’ ทำงานด้วยหัวใจที่มีความสุขอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อให้พื้นที่นั้นสะอาดปราศจากขยะ 7 ปี ที่ผ่านมากลุ่มเราเก็บขยะไปได้ถึง 36,615.5 กิโลกรัม หนึ่งในนั้นคือ ขยะรองเท้าเก่า ที่เรานำมาบดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ผสมกาวขึ้นรูปเป็นแผ่น อัดเป็นบล็อก จากนั้นส่งให้กลุ่มแม่บ้านในจังหวัดปัตตานีผลิตเป็นรองเท้าคู่ใหม่ภายใต้แบรนด์ ‘ทะเลจร’ หลายคนถามว่าขยะรองเท้ามันมีมากพอให้เรานำมาทำสินค้าตลอดไปจริงหรือ ซึ่งกลุ่ม Trash Hero เอง เคยไปเก็บขยะที่เกาะเกาะ อาดัง-ราวี เกาะหลีเป๊ะ ภายในเวลา 3-4 เดือน เขาเก็บขยะได้ 80,000 กิโลกรัม เป็นขยะรองเท้ามากถึง 8,000 กิโลกรัม เพราะขยะพวกนี้ไม่ได้มาจากนักท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่มาได้จากทั่วโลก ถ้าคุณจัดการขยะไม่ดีแล้วขยะไหลลงสู่แม่น้ำมาจนถึงทะเล ก็ไม่มีใครมาตามเก็บแล้ว ดังนั้นเป้าหมายสูงสุดของทะเลจรคือเราอยากให้โครงการนี้ปิดตัวตัวลง เพราะไม่มีขยะให้เราเก็บ ให้นำมาอัพไซเคิลอีกต่อไป เพื่อโลกที่ยั่งยืน”

สำหรับ SX Talk Series ครั้งต่อไป จะชวนกันไปคิด ชวนกันไปคุยเรื่องความยั่งยืนกับใครและเรื่องอะไรนั้น ถ้าไม่อยากพลาดกดติดตามข่าวสารและกิจกรรมของ SX Talk Series ได้ทาง FB Page : Sustainability Expo, www.sustainabilityexpo.com และแอดไลน์ @sxofficial