“SX 2022” ชี้วิธีการสร้างความยั่งยืนให้กับความยั่งยืน

มหกรรมการพัฒนาอย่างยั่งยืน Sustainability Expo 2022 ที่จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 26 กันยนยนถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้เชิญผู้นำรัฐบาล ศาสนา และองค์กรนานาชาติหาแนวทางที่จะทำให้การพัฒนาอย่างยั่งยืนละก่อเกิดความยั่งยืนจริง ๆ ในการสนทนาหัวข้อ “How to Sustain Sustainability” โดยมี พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) อธิการบดีกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติ ร่วมวงสนทนาด้วย

พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ เปิดเวทีด้วยการตั้งคำถามให้คิดก่อนว่าความยั่งยืนหมายถึงอะไร โดยมองในมุมของศาสนา และอธิบายลึกลงไปในรากศัพท์ทั้งภาษาอังกฤษ ละติน ไทย สันสกฤตว่าคำว่า sustain มาจากรากเดียวกันที่มีความหมายถึงความสมดุล “คำว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนจึงมีความขัดแย้งในตัวเอง เพราะการพัฒนาหมายถึงการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ส่วนความยั่งยืนหมายถึงความคงที่ เราอาจจะต้องนิยามคำว่า sustainable development ขึ้นใหม่เพื่อให้สะท้อนถึงการที่เราสามารถรักษาสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดสมดุลซึ่งจะคงอยู่ได้นาน และความสมดุลนี้หมายถึงความสมดุลตามกฎของธรรมชาติ ไม่ใช่จากบริบทขิงการกระทำของมนุษย์”

นอกจากนี้ พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ ยังได้อธิบายว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงริเริ่มนั้น ไม่ได้หมายถึงเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การผลิตเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีความหมายลึกซึ้งไปกว่านั้น และหัวใจหลักของปรัชญานี้ก็คือการก่อให้เกิดสมดุลเช่นกัน “ความพอเพียงคือการดำรงชีพอย่างอย่างชาญฉลาด และรักษาความสมดุลระหว่างมนุษย์ สิ่งแวดล้อม และวิธีที่เราใช้ทรัพยากรทุกอย่าง ทุกวันนี้เราติดกับดักของคำใหม่ๆ คำที่ยิ่งใหญ่ สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะนิยามคำใดขึ้นมา ทุกเรื่องก็ยังคงวนกลับมาที่สามัญสำนัก (common sense)”

องค์การสหประชาชาติ กำหนดเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนไว้แล้ว และได้มีกรอบแนวทางปฏิบัติไว้อย่างแน่ชัด แต่ในส่วนการลงมือดำเนินการเพื่อให้เกิดความยั่งยืนนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายและการนำไปใช้ของแต่ละประเทศ แต่ละองค์กร ในฐานะตัวแทนภาครัฐ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวสรุปภาพรวมว่า “ในส่วนของกระทรวงฯ รับผิดชอบการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDG ข้อ 12, 13, 14 และ 15 โดยมีการดำเนินการไปแล้วหลายเรื่อง กล่าวคือ ใน SDG 12 ซึ่งว่าด้วยการจัดการขยะพลาสติก รัฐบาลไทยได้ประกาศว่าจะยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติก 100% เพื่อส่งเสริมให้มีการนำเศษหรือขยะพลาสติกภายในประเทศมารีไซเคิลหรืออัพไซเคิล เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่อย่างเต็มที่ภายในปี ค.ศ. 2025  ส่วนใน SDG 13 ที่เกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ ประเทศไทยได้ดำเนินการตามข้อตกลงปารีสข้อ 6.2 เรื่องการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต มีการจัดตั้งคาร์บอนเทรดดิ้ง บอร์ดโดยร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและองค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) รวมถึงมีแผนเปลี่ยนรถประจำทางในกรุงเทพฯ จากรถที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซลมาเป็นรถขับเคลื่อนระบบไฟฟ้าทั้งหมดหลายพันคัน 

ส่วนการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDG ข้อ 14 ที่ว่าด้วยทรัพยากรธรรมชาติในท้องทะเล ได้มีการฟื้นฟูสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ประกาศเขตอนุรักษ์ การออกมาตรการและกฎหมายเกี่ยวกับการประมงซึ่งได้ช่วยปลดล็อคประเทศไทยออกจากบัญชีสีแดงของ IUU (Illegal Unreported and Unregulated Fishing หรือการทำประมงผิดกฎหมายตามแนวปฎิบัติขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ) ส่วนการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDG 15 ที่ว่าด้วยทรัพยากรธรรมชาติบนบก ได้มีการดำเนินการหลายด้านเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยซึ่งสัดส่วนมากถึง 10% ของโลก”

นางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติ กล่าวว่า “จากการดำเนินงานที่ผ่านมา องค์กรสหประชาชาติได้เห็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องจัดการ 6 ข้อ ได้แก่ 1) การจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันยังขาดข้อมูลที่สมบูรณ์ จึงทำให้การวางแผนต่าง ๆ เป็นไปได้ไม่เต็มศักยภาพ และต้องอาศัยเทคโนโลยีและความร่วมมือเพื่อปรับปรุงปัญหานี้ 2) การเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น การสื่อสารที่ง่ายขึ้นเพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน 3) การเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้มีส่วนร่วมกับการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDG 4) การเปิดให้ตลาดทุนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อให้มีเงินทุนเพียงพอต่อการปรับเปลี่ยนและพัฒนาที่จะส่งผลต่อความยั่งยืน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 5) การลงทุนเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ 6) การมีส่วนร่วม และต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้

“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ได้มีการจัดทำรายงานผลการดำเนินการตาม SDG โดยสมัครใจ และมีการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ทั่วประเทศ ซึ่งนับเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เราหวังว่าประเทศไทยจะเป็นผู้นำในการเผยแพร่หลักการนี้ให้แก่ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก แสดงให้คนทั่วโลกเห็นตัวอย่างผลสำเร็จจากการดำเนินการตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และร่วมกันสร้างรากฐานที่จะสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลกต่อไป” นางกีตากล่าว