เจาะใจคนรุ่นใหม่ มองอนาคตผ้าขาวม้าไทย บนเวที SX2022

ผ้าขาวม้าลายหมากรุกหลากสีที่ถูกมองว่าเชย ครํ่าครึ และนิยมใช้กันแต่ในหมู่ผู้สูงอายุ หรือคนในชนบท วันนี้ กำลังถูกปลุกกระแสจากคนรุ่นใหม่ รวมถึงคน Gen Z ที่อยากปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ผ้าขาวม้าไทยผ่านงานดีไซน์ และการตลาดดิจิทัล

โครงการ Creative Young Designers นับเป็นกิจกรรมสำคัญที่เชื่อมโยงสถาบันการศึกษา กับชุมชนทอผ้าขาวม้า และสโมสรฟุตบอล เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ พลิกโฉมผ้าขาวม้าให้กลายเป็นหลากหลายผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน และเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วย ในงานเสวนา “ยังอยากเล่า: CYD AAR และทายาทผ้าขาวม้า” (Creative Young Designers After Action Review) ซึ่งจัดขึ้นภายในงานมหกรรมด้านความยั่งยืน Sustainability Expo 2022 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้เปิดเวทีให้ตัวแทนจาก 13 สถาบันการศึกษา และ 3 ทายาทผ้าขาวม้าไทย ที่เข้าร่วมโครงการ Creative Young Designers ปี 2564 มาถอดบทเรียนจากประสบการณ์ตรงที่ได้ทำงานร่วมกับชุมชน และทำงานร่วมกับเพื่อนนักศึกษาจากต่างคณะ ต่างสถาบัน ตลอดจนมุมมองต่อผ้าขาวม้าไทย

อัย – พิชาญาภา ตุลยนิติกุล และ ลิล – สลิล แซ่อึ้ง นักศึกษาจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (สาขาการตลาด) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า ทีมจากชมรม SIFE (Students in Free Enterprise) เป็นการร่วมมือกันระหว่างคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี กับคณะศิลปกรรมศาสตร์ โดยมีโจทย์คือ จะนำความรู้และทฤษฎีไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าขาวม้า บ้านคึมมะอุ-สวนหม่อน อ.บัวลาย จ.นครราชสีมา ได้อย่างไร  ในแง่การตลาด อัยไม่ได้คิดแค่ว่า ทำอย่างไรจะขายสินค้าได้ แต่คิดว่าสินค้าจะนำเสนออัตลักษณ์ชุมชนอย่างไร ฉะนั้น การลงพื้นที่จะต้องทำความเข้าใจกับชุมชนเพื่อให้รู้ว่าอะไรเป็นจุดต่าง จุดเด่น จุดด้อย หรือจุดที่ต้องพัฒนาเพิ่ม ค้นหาว่า อะไรที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นและอยากสื่อออกไปให้คนภายนอกรับรู้ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งทีม SIFE ได้ข้อสรุปว่า ชุมชนทอผ้าจะต้องพัฒนาการตลาดและการดีไซน์ เพื่อสื่อสารให้คนรุ่นใหม่ต้องการสวมใส่เพราะมีความภูมิใจในคุณค่าและศิลปวัฒนธรรมไทย อีกทั้งยังนำเทรนด์แฟชั่นอีกด้วย “การผสมผสานระหว่าง creative design ความต้องการของชุมชน และการตลาด ถือเป็นความท้าทายที่ยากมากๆ คำว่า การตลาด ไม่ใช่แค่ผลิตสินค้าให้ขายได้ แต่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงเทรนด์ของสังคม สิ่งที่ SIFE คาดหวัง ไม่ใช่เป้าหมายด้านธุรกิจเท่านั้น แต่เป็นการสร้างภาพลักษณ์และทัศนคติต่อผ้าขาวม้า เพื่อส่งต่อคุณค่าและให้อยู่ในชีวิตประจำวันของเราได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการตลาดในอนาคต” ลิล ยังให้คำแนะนำน้อง ๆ ที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ว่า สิ่งแรกคือ การตั้งเป้าหมายว่าต้องการผลลัพภ์อะไร เหมือนกับการกำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กร เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงาน เรื่องที่สองคือ การกรอบเวลาการทำงานว่า จะวางไทม์ไลน์ และบริหารจัดการเวลาอย่างไร ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดที่มีให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เรื่องที่สาม คือ ความเข้าใจ เพื่อให้การทำงานร่วมกับเพื่อนต่างคณะ และชุมชนทอผ้าเป็นไปอย่างราบรื่น และบรรลุเป้าหมาย

หทัยฉัตร องคสิงห์ นักศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการออกแบบพัสตราภรณ์ (วิชาเอกแฟชั่น) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า การได้ประสบการณ์จริงจากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลและทำงานร่วมกับกลุ่มทอผ้าบ้านห้วยทราย และกลุ่มอาชีพผ้าฝ้ายอำพัน รวมถึงกลุ่มทอผ้าชาตพันธุ์ เช่น ม้ง ลั้ว ปกาเกอะญอ จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ได้เรียนรู้และเข้าใจถึงวิถีชุมชน วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มากกว่าข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งตนเองได้ช่วยสร้างสรรค์การออกแบบเพื่อให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์พื้นถิ่นเอาไว้ “การได้สัมผัสถึงกระบวนการผลิต ประกอบกับแนวทางการสอนของอาจารย์ ทำให้เรามีมุมมองที่กว้างขึ้น  และเกิดแนวคิดว่า หากจะสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่น ดีไซเนอร์ซึ่งถือเป็นคนปลายน้ำ ควรให้ความสำคัญกับคนผลิตเส้นใย และกลุ่มคนทอผ้าที่เป็นต้นน้ำด้วย ดีไซเนอร์จะเติบโตไปคนเดียวไม่ได้ ต้องพาคนที่อยู่ต้นน้ำให้เติบโตไปด้วยกัน”

เฟรชชี่ – ธัญชนก เกียรติโอภาส นักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งทำงานการออกแบบด้านการตลาดร่วมกับกลุ่มทอผ้าขาวม้าดารานาคี บ้านสะง้อ อ.เมือง จ.บึงกาฬ เล่าว่า นอกจากการพัฒนางานดีไซน์ให้ตีตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้แล้ว กลยุทธ์การตลาดที่จะสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งเป็นอีกโจทย์ที่สำคัญสำหรับผู้ผลิตผ้าขาวม้า โดยเฟรชชี่ ได้ทำ CI (Corporate Identity) ใหม่ เพื่อเจาะตลาดผ่านช่องออนไลน์ในหลาย ๆ แพลตฟอร์ม ทั้ง IG และ TikTok ที่กำลังได้รับความนิยมสูง จากเดิมที่กลุ่มดาราคีทำการตลาดผ่านเฟสบุ๊คอย่างเดียว”สิ่งที่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการขยายช่องทางการขายและการตลาด คือ การพัฒนาคอนเทนต์เพื่อให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เห็นว่า ผ้าขาวม้าสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย และจากประสบการณ์ที่เคยทำโปรเจ็คร่วมกับผู้ผลิตงานคราฟท์เพื่อส่งออกไปญี่ปุ่น ทำให้มีความเข้าใจว่า เราจะขายเฉพาะตัวสินค้าและมีแค่ป้ายราคาไม่ได้ แต่ต้องมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับตัวสินค้าว่ามีความพิเศษกว่าสินค้าที่เป็น mass อย่างไร ทำให้ผู้บริโภครับรู้ถึงคุณค่าที่ถ่ายทอดลงบนผืนผ้าขาวม้า”

ตูม – สิฐิปกร ญาณปัญญา นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พระนคร ซึ่งทำงานร่วมกับกลุ่มทอผ้าบ้านเสารีก จังหวัดอำนาจเจริญ เล่าว่า ในโครงการนี้ ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก เพราะทำให้ตูมมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับเพื่อนต่างคณะ แม้จะเกิดการตีกันเรื่องไอเดียในตอนแรก แต่ในที่สุด ก็มีการปรับแนวคิดเพื่อหาจุดที่ลงตัวร่วมกันได้และนำไปสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์ได้ รวมถึงการช่วยชุมชนในการทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งด้วย “ผมจะเน้นเรื่อง story telling เพื่อส่งต่อคุณค่าของสินค้าไปสู่ผู้บริโภค ซึ่งจะต้องศึกษาข้อมูลและพูดคุยกับชาวบ้านถึงกระบวนการทอผ้าขาวม้าที่เป็นภูมิปัญญาสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และเอกลักษณ์ที่แตกต่าง นอกจากนี้ อยากแนะนำน้อง ๆ ที่จะเข้าร่วมโครงการในปีต่อ ๆ ไปว่า สิ่งที่ท้าทายการทำงานก็คือ เรื่องเวลา ซึ่งทุกคนควรมีการจัดสรรเวลาให้ดี ใช้เวลาให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด”

ชล –  ชลสิทธิ์ ธนธีระวนิชยา นักศึกษาจากคณะบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยอมรับว่า การทำงานร่วมกับเพื่อนนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรม สาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อช่วยพัฒนาผ้าขาวม้าเทวาผ้าไทย กลุ่มทอผ้าบ้านนาคำไฮ จ.หนองบัวลำภู นับเป็นประสบการณ์ใหม่และเป็นประโยชน์มาก เพราะทำให้มองเห็นแนวคิดของเพื่อน ๆ ที่เรียนในสาขาอาชีพอื่น จากที่เคยมองมุมการตลาดเพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังมีความรู้ความเข้าใจงานด้านการออกแบบและการผลิตด้วย ชล ยอมรับว่า การทำงานร่วมกับเพื่อนต่างคณะ ต่างสถาบันเช่นนี้ นับว่าเป็นความท้าทายมาก เพราะมี mindset แตกต่างกัน ทั้งนักศึกษาและอาจารย์ แต่สิ่งสำคัญที่จะเอาชนะความท้าทายก็คือ ทุกคนต้องมองชุมชนเป็นหลัก ไม่ว่าการทำงานจะตอบโจทย์ของตัวเองอย่างไรแต่ชุมชนต้องมาก่อน ซึ่งจะทำให้ทั้งสองฝ่ายมองไปในมุมเดียวกันได้ สุดท้าย ก็สามารถผสานแนวคิดการตลาดกับการออกแบบเพื่อทำให้ผ้าขาวม้าเทวาผ้าไทยมีความโดดเด่น และคุณค่ามากยิ่งขึ้น “ในการพัฒนาผ้าขาวม้า เราอย่ามองแค่เรื่องการขาย เพราะมีลายละเอียดอื่นๆ อีกมาก เช่น กลุ่มทอผ้าบ้านนาคำไฮ หนองบัวลำภู จะใช้น้ำซาวข้าวหมัก และใช้สีจากธรรมชาติ โดยชาวบ้านจะทำเองหมดทุกขั้นตอนของการผลิต ซึ่งเราสามารถนำมาใช้สื่อสารการตลาดได้ ไม่ใช่แค่เป็นผ้าขาวม้ารักษ์โลกเท่านั้น แต่ทำให้คนที่ซื้อไปมีความรู้สึกว่าได้มีส่วนช่วยส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมรายได้ให้แก่ชาวบ้าน” ชลกล่าว

ขณะที่ ปิ่น – เกวลี กิตติอุดมพันธ์ นักศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบและแฟชั่น มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งร่วมทำงานกับกลุ่มทอผ้าบ้านนาหมื่นศรี จังหวัดตรัง เล่าว่า การลงพื้นที่ไปทำงานร่วมกับชุมชนแต่ละครั้งมีความหมายมาก เพราะนักศึกษาได้รับการถ่ายทอดถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น และกระบวนการผลิตอย่างละเอียด ได้สัมผัสถึงความผูกพันระหว่างชาวบ้านกับการทอผ้า และได้ส่งต่อวัฒนธรรมทอผ้าไปยังลูกหลานคนรุ่นใหม่ด้วย ปัจจุบัน ปิ่น กำลังศึกษาปีที่ 4 และอยู่ระหว่างการทำวิทยานิพนธ์ โดยเธอเลือกทำวิจัยผ้าขาวม้าที่จังหวัดร้อยเอ็ด และยังมีไอเดียที่จะเพิ่มโอกาสการใช้ผ้าขาวม้าแบบใหม่ ด้วยการดีซน์ผ้าขาวม้าในสไตล์ซาฟารี เพื่อให้ผ้าขาวม้าดูสนุกมากขึ้น สวมใส่ในชีวิตประจำวันได้ หรือใส่ไปเที่ยวได้ “เมื่อได้ไปเห็นวิถีชีวิตที่มีกี่ทอผ้าตามใต้ถุนบ้าน เห็นความรักของชาวบ้านที่มีต่อผ้าขาวม้าซึ่งใช้ความอดทนและใช้เวลานานในการบรรจงทอลวดลายลงบนผืนผ้า ก็ยิ่งทำให้อยากชูผ้าขาวม้าที่มีอยู่เดิมให้ดูมีศักยภาพและคุณมากยิ่งขึ้นด้วยการใส่แรงบันดาลใจเข้าไป เพื่อให้ผลงานมีการเล่าเรื่องมากยิ่งขึ้น โดยนำผ้าขาวม้าของชุมชนนาหมื่นศรีมาสร้างสรรค์เป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น ผลิตภัณฑ์หมอนอิง กระเป๋า พวงกุญแจ ของที่ระลึกต่าง ๆ แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเอาไว้”

ส่วน สิริวิชญ์ วิชุลดาวุธ นักศึกษา วิทยาลัยการออกแบบ สาขาแฟชั่นดีไซน์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยมองว่า ผ้าขาวม้าเป็นของโบราณ ไม่เหมาะกับคนรุ่นใหม่หรือวันรุ่ยที่จะนำมาใช้ แต่หลังจากเข้าร่วมโครงการและลงพื้นที่ทำงานร่วมออกแบบเสื้่อผ้าจากผ้าขาวม้ากับศูนย์หัตกรรมบ้านเขาเต่า และสโมสรฟุตบอลประจวบคีรีขันธ์ ทำให้สิริวิชญ์มีทัศนคติเปลี่ยนไป”เมื่อได้ไปเห็นการทอผ้าในพื้นที่และทำงานร่วมกับชุมชน ทำให้ผมรู้สึกชื่นชอบและเห็นคุณค่าของผ้าขาวม้า จนเป็นแรงบันดาลใจให้สร้างสรรค์ผ้าขาวม้าออกมาเป็นเสื้อกีฬาสำหรับสโมารพีที ประจวบ (PT Prachuap FC) ที่ดูทัยสมัยและใส่ได้ง่ายขึ้น”

Creative Young Designers ภายใต้โครงการ “ผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย” ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด และโครงการ eisa (Education Institute Support Activity) เป็นตัวอย่างความสำเร็จที่แสดงให้เห็นว่า การสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในรูปแบบประชารัฐสามารถสร้างแรงผลักดันและต่อยอดการพัฒนาชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม สำหรับปีนี้ มีการขยายเครือข่ายความร่วมมือมากยิ่งขึ้น โดยมีการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับ 17 ชุมชน และ 16 สถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าทอมือให้ก้าวไกลต่อไป