ศัลยกรรมไทย

‘ตลาดเสริมความงามไทย’ โตกว่าตลาดโลก อีก 4 ปี มูลค่าแตะ 2.5 แสนล้านบาท 2 ผู้เล่นรายใหญ่ ‘มาสเตอร์พีซ-เดอะคลีนิกค์’ ชิงส่วนแบ่งเดือด!

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเรื่องความสวยความงามในปัจจุบันแทบจะเป็นสิ่งที่ทุกคนให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งรูปแบบการเสริมความงามนั้นจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตามเทรนด์ ไม่มีข้อกำหนด ในอดีตการเสริมความงามมักไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธาณะ แตกต่างจากปัจจุบันที่มีการเปิดเผยเป็นวงกว้าง จึงมักมีการทำการตลาดผ่านการ “รีวิว”

ซึ่งการที่ผู้บริโภคเลือกเสริมความงามนั้น เพื่อปรับภาพลักษณ์ให้ตัวเองดูดีขึ้น แก้ไขจุดที่คิดว่ายังบกพร่องในร่างกาย เมื่อภาพลักษณ์ดูดีขึ้นการแบ่งคำจำกัดความในสังคมก็มีมากขึ้น โดยคำที่เราเห็นกันอย่างแพร่หลาย คือ บิวตี้ พรีวิลเลจ (beauty privilege) คือ คนที่รูปลักษณ์ตรงตามมาตรฐานมักจะได้การปฏิบัติและโอกาสที่ดีกว่าคนทั่วไป จึงทำให้ทุกคนอยากที่จะดูดีในทุก ๆ วัน

ทั้งนี้หากพูดถึง “อุตสาหกรรมเสริมความงาม” มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากผู้บริโภคหันมาสนใจตัวเองมากขึ้น มีความวิตกกังวลกับริ้วรอย หย่อนคล้อย ซึ่งจะเริ่มปรากฏในช่วงอายุ 25-30 ปี แต่จะเด่นชัดมากขึ้นในช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป โดยจากข้อมูลของสหประชาชาติ ระบุว่า ในปี 2573 จำนวนประชากรโลก ช่วงอายุ 25-65 ปี จะมีประมาณ 4,300 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของจำนวนประชากรทั่วโลกทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีจำนวนประชากรกลุ่มนี้ประมาณ 3,900 ล้านคน 9.8%

อีกทั้งจากรายงานของ Grand View Research ที่ได้ประเมินมูลค่าตลาดเสริมความงามทั่วโลก คาดว่า ในปี 2570 มูลค่าตลาดจะขึ้นไปแตะระดับ 2.16 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.14 ล้านล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 13.9% (CAGR ปี 2563-2570) เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 2.5 เท่า โดยมูลค่าตลาดเสริมความงามในกลุ่มที่ไม่ใช่การศัลยกรรม (Noninvasive Procedures) มีสัดส่วนมากกว่าการเสริมความงามโดยการศัลยกรรม (Invasive Procedures) ที่ระดับ 56% ของมูลค่าตลาดเสริมความงามทั่วโลก

อย่างไรก็ดี ทั้งการเสริมความงามในกลุ่มที่ไม่ใช่การศัลยกรรม และการเสริมความงามโดยการศัลยกรรม ต่างมีแนวโน้มเติบโตโดดเด่นทั้งคู่ โดยการฉีดสารลดเลือนริ้วรอย หรือการฉีดโบท็อกซ์ (Botox Injections) ได้รับความนิยมมากที่สุดในกลุ่มเสริมความงามที่ไม่ใช่การศัลยกรรม ขณะที่การเสริมหน้าอก ได้รับความนิยมมากที่สุดในกลุ่มการเสริมความงามโดยการศัลยกรรม

สอดคล้องกับรายงานฉบับล่าสุดของสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยนานาชาติ (International Society of Aesthetic Plastic Surgeons) หรือ ISAPS ที่ระบุว่า การผ่าตัดเสริมความงามที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ การเสริมหน้าอก โดยมีผู้เข้ารับการเสริมหน้าอก คิดเป็นสัดส่วน 16% ของการผ่าตัดเสริมความงามทั้งหมด และการเสริมความงามแบบไม่ผ่าตัดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ การฉีดโบท็อกซ์ คิดเป็นสัดส่วน 43% ของการเสริมความงามแบบไม่ผ่าตัดทั้งหมด

ตลาดเสริมความงามของไทยยังมีแนวโน้มเติบโต โดยได้รับแรงหนุนสำคัญทั้งจากกลุ่มลูกค้าชาวไทย และกลุ่ม Medical Tourism ที่ฟื้นตัว และโน้มขยายตัวต่อเนื่องในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้จากข้อมูลของ Grand View Research คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดเสริมความงามของไทย จะขึ้นไปแตะระดับ 7.51 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.48 แสนล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 16.6% (CAGR ปี 2563-2570) เพิ่มขึ้นจากปี 2563 เกือบ 3 เท่า

โดย ‘Business+’ มองว่าอุตสาหกรรมเสริมความงามในไทยเติบโตได้ดีกว่าตลาดโลก ซึ่งไทยโตเฉลี่ย 16.6% ขณะที่ตลาดโลกโตเพียง 13.9% ดังนั้นการตกแต่งเสริมความงามในไทยยังคงเป็นที่นิยม ทั้งนี้จึงได้ทำการสำรวจตลาดเสริมความงามพบผู้เล่นรายใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่ 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท เดอะคลีนิกค์ คลินิกเวชกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ KLINIQ และ บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MASTER ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในนาม “โรงพยาบาลศัลยกรรมมาสเตอร์พีซ” โดยทั้งสองต่างก็มีจุดแข็งที่แตกต่างกัน

สำหรับเดอะคลีนิกค์ให้บริการในรูปแบบคลินิก ปัจจุบันมี 37 สาขาทั่วประเทศ บริการเด่น ๆ คือ นวัตกรรมการยกกระชับและปรับรูปหน้า การดูแลรูปร่างก็มีการสลายไขมันด้วยความเย็น รวมถึงใช้เครื่องมือ เทคโนโลยี ระดับมาตรฐานสากล โดยผลประกอบการปี 2565 บริษัทมีรายได้หลัก ๆ มาจากแผนกผิวหนังและความงามที่เติบโตถึง 84.7% ทำให้มีกำไรสุทธิ 205.57 ล้านบาท

ขณะที่มาสเตอร์พีซให้บริการในรูปแบบโรงพยาบาล เป็นศูนย์รวมบริการด้านความงามแบบครบวงจร ดำเนินทุกขั้นตอนภายใต้มาตรฐานของโรงพยาบาล พร้อมทั้งเลือกใช้เครื่องมือทางการแพทย์ที่มีเทคโนโลยีอันทันสมัย โดยทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ พร้อมบุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะทาง  ซึ่งปี 2565 บริษัทมีรายได้หลักจากการศัลยกรรม โต 80.51% โดยรายได้เพิ่มขึ้นในทุกหัตถการ ทั้งศัลยกรรมเสริมจมูก ศัลยกรรมหน้าอก ศัลยกรรมดูดไขมัน ศัลยกรรมยกคิ้ว และศัลยกรรมอื่นๆ ซึ่งสนับสนุนให้มีกำไรสุทธิที่ 300.92 ล้านบาท

ซึ่งจากข้อมูลที่นำเสนอนั้น หากเทียบผลประกอบการงวดปี 2565 มาสเตอร์พีซ ทำผลงานได้โดดเด่นกว่าเดอะคลีนิกค์ และการเติบโตของรายได้ที่เป็นปัจจัยหลักที่เข้ามาสนับสนุนนั้นมาจากส่วนที่แตกต่างกัน จึงเป็นที่น่าติดตามว่าปี 2566 นี้ ทั้งสองจะใช้กลยุทธ์ใดใช้แข่งขันกับคู่แข่งทั้งรายเก่า รายใหม่ เพื่อชิงส่วนแบ่งทางตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี

ที่มา : Krungthai COMPASS, SET

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #ศัลยกรรม #เสริมความงาม #ความงาม