Sugar

ราคาน้ำตาลจะพุ่งไปถึงจุดไหน? เมื่อรายใหญ่ของโลกหั่นผลผลิตลง 1 ใน 3 ส่วน

ในช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่าราคาน้ำตาลโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนช่วงกลางเดือนเม.ย.2566 สัญญาซื้อขายน้ำตาลทรายดิบที่ใช้อ้างอิงราคาทั่วโลกได้ขึ้นไปทำจุดสูงสุดในรอบ 11 ปี และราคาน้ำตาลที่สูงมากขณะนี้ยังมีโอกาสที่จะสูงขึ้นไปอีก เพราะเมื่อเราวิเคราะห์จากสภาพอากาศที่เลวร้ายลงทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ทำการเพาะปลูกอ้อย และหัวบีท (Beet) จากผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก รวมเข้ากับความต้องการอ้อยมาผลิตเอทานอลเพื่อใช้ในพลังงานทดแทนจะยิ่งทำให้ความต้องการอ้อยทั่วโลกสูงขึ้น เป็นแรงผลักดันราคาน้ำตาลโลกให้พุ่งอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ‘Business+’ พบข้อมูลว่า นับตั้งแต่ปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ทั่วโลกสามารถผลิตน้ำตาลได้ลดลง โดยมี 4 สาเหตุหลักๆ ด้วยกัน สาเหตุแรก มาจากเกษตรกรในยุโรปลดพื้นที่การเพาะปลูกหัวบีท หรือ หัวผักกาดแดงลงจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งจัดในฤดูร้อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตที่จะนำไปผลิตน้ำตาลในบางส่วน เพราะน้ำตาลทั่วโลกนั้น ผลิตจากอ้อย 80% และผลิตจากหัวบีท 20%

สาเหตุที่ 2 คือ การปรับลดการเพาะปลูกที่ลดลงอย่างมากในประเทศผู้ผลิตที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะประเทศอินเดีย ประเทศไทย ประเทศจีน และปากีสถาน โดยเฉพาะประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก (รองจากประเทศบราซิล) ได้ปรับลดประมาณการการผลิตน้ำตาลภายในประเทศลงเกือบ 3% สำหรับปีการเพาะปลูกที่เริ่มต้นในเดือนต.ค. 2565 จนถึงเดือนก.ย. 2566

สาเหตุที่ 3 ผลจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน และราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ลดการส่งออกน้ำตาล เพื่อสำรองไว้ใช้ในประเทศ (เก็บไว้ใช้เองเพื่อรองรับความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงาน) โดยเฉพาะบราซิล (ผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก) ประกอบกับผลผลิตอ้อยลดลงจากสภาพอากาศแห้งแล้งและน้ำค้างแข็ง ทำให้ผลผลิตน้ำตาลของบราซิลลดลง 15.7%

สาเหตุที่ 4 ทั่วโลกมีความต้องการใช้อ้อยเพื่อผลิตเอทานอลในสัดส่วนที่มากขึ้นตามความต้องการพลังงานทดแทนที่สูงขึ้น  นอกจากนี้อุปสงค์ที่ฟื้นตัวขึ้นหลังจากการระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ความต้องการน้ำตาลในตลาดเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก

ทั้ง 4  สาเหตุนี้เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลโดยตรงต่อราคาน้ำตาลโลก และเพื่อตอบคำถามว่า ราคาน้ำตาลจะพุ่งสูงไปถึงจุดไหน? เราได้พบข้อมูลจาก National Oceanic and Atmospheric Administration ว่า มีโอกาส 62% ที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงมิถุนายน ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณลมมรสุมในเอเชีย ซึ่งหากเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญยาวนาน และรุนแรงก็จะทำให้ตลาดน้ำตาลพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเอลนีโญ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากกระแสลมมีกำลังอ่อนและเปลี่ยนทิศทางพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปฟิซิกไปด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปฟิซิก ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหล ไปยังทวีปอเมริกาใต้แทน ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลียขาดฝนและเกิดความแห้งแล้ง แต่กลับกันจะทำให้ชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้กลับมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เอลนีโญ ที่รุนแรงก็จะส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกอ้อยและหัวบีท

ขณะที่ในมุมมองของนักวิเคราะห์ด้านน้ำตาล ก็ได้ให้ความเห็นตรงกันว่า ราคาน้ำตาลมีแนวโน้มจะพุ่งขึ้นไปอีกระยะ เพราะสภาพอากาศที่เลวร้ายของโลก โดยเฉพาะกับประเทศผู้ปลูกพืชให้น้ำตาลรายใหญ่ โดย นักวิเคราะห์ด้านน้ำตาลของสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) มองว่า ราคาน้ำตาลมีแนวโน้มที่จะพุ่งขึ้นอีกในระยะสั้นจนถึงระยะกลาง เนื่องจากแนวโน้มสภาพอากาศที่ย่ำแย่ของบรรดาประเทศเพาะปลูกพืชให้น้ำตาลรายใหญ่ของโลก ด้าน นักวิเคราะห์ด้านน้ำตาลจากบริษัท DNEXT แสดงความเห็นว่า กลุ่มผู้ผลิตอาหาร เช่นขนมหวาน จะผลักต้นทุนที่สูงขึ้นไปให้กับกลุ่มผู้บริโภค และการเพิ่มขึ้นของราคาขนมจำพวกลูกกวาดและเครื่องดื่มผสมน้ำตาลก็จะยิ่งทำให้บริษัทผู้ผลิตน้ำตาลปรับขึ้นราคาน้ำตาลให้สูงขึ้นด้วย

ด้าน มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และ Climate Prediction Center องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ได้พยากรณ์ว่า ความน่าจะเป็นที่จะเกิดลานีญาอยู่ที่ 99% ช่วง พ.ย.65-ม.ค.66 และจะค่อย ๆ ลดลงจากนี้ไป กำลังของลานีญาจะค่อย ๆ ลดลงด้วย โดยจะเปลี่ยนเป็นเฟสกลางด้วยความน่าจะเป็น 71% ในช่วง ก.พ.-เม.ย. 66 จากนั้นช่วง ก.ค.-ก.ย.66 ความน่าจะเป็นที่จะเกิดเอลนีโญจะเพิ่มเป็น 49% ดังนั้น เราอาจเจอเริ่มเจอภัยแล้งและอากาศร้อนกว่าปกติช่วงไตรมาส 4 ของปี 66 เป็นต้นไป

ทีนี้มาดูในมุมของราคาน้ำตาลในประเทศไทยกันบ้าง

ราคาน้ำตาลไทยส่งสัญญาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปีหน้า ตามทิศทางราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณหีบอ้อยของไทยและอินเดียลดลง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญเผชิญความร้อนรุนแรง อาจส่งผลต่อปริมาณการเก็บเกี่ยวอ้อยในรอบถัดไป  ซึ่งไทยนั้นถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับต้นๆ ของโลก โดยปี 2564 ผลผลิตน้ำตาลทรายดิบทั่วโลกอยู่ที่ 180.2 ล้านตัน ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก คือ บราซิล (23.3% ของปริมาณการผลิตทั่วโลก) อินเดีย (18.7%) สหภาพยุโรป (8.4%) จีน (5.9%) สหรัฐฯ (4.7%) และไทย (4.2%)

ขณะที่การส่งออกของไทย มีสัดส่วนคิดเป็น 61% ของปริมาณจำหน่ายน้ำตาลทั้งหมดของไทย โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ อินโดนีเซีย (สัดส่วน 18.9% ของปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำตาลทั้งหมด) กัมพูชา (9.0%) เวียดนาม (6.2%) เกาหลีใต้ (5.0%) และไต้หวัน (4.3%) ดังนั้น การที่ราคาน้ำตาลพุ่งสูงขึ้นก็จะส่งผลดีต่อผู้ผลิตน้ำตาลของไทย และยังส่งผลดีต่อมูลการการส่งออกน้ำตาลของไทยด้วยเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่จะต้องกังวลเป็นเรื่องของการผลักภาระต้นทุนให้กับผู้บริโภค เพราะน้ำตาลเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าที่มากมาย ทั้งเครื่องดื่ม และอาหาร ดังนั้นยิ่งราคาน้ำตาลแพงขึ้นมากเท่าไหร่ ในมุมผู้บริโภคก็อาจจะได้เจอกับราคาสินค้าในตลาดที่สูงขึ้นตามมา

ที่มา : gistda , WMO

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #ราคาน้ำตาล #ราคาน้ำตาลโลก #น้ำตาลโลก #ตลาดน้ำตาล