‘กยศ.’ ต่อเวลาลดหย่อนหนี้ เอื้อผู้กู้ชำระเงินคืน

เป็นที่รู้กันของบรรดาผู้กู้ยืมเงินเพื่อใช้ในการศึกษาจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือที่คุ้นหูกันดีในชื่อ ‘กยศ.’ ว่าในทุก ๆ วันที่ 5 กรกฎาคม ของทุกปี คือวันครบกำหนดชำระคืนเงินกู้กลับเข้ากองทุน

แต่จากสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันที่มีทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 หรือแม้แต่ปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซา ต่างก็กระทบต่อทั้งวิถีชีวิตของผู้คนและความสามารถในใช้หนี้ด้วยกันทั้งสิ้น จากปัญหานี้ ทำให้ ‘กยศ.’ ออกมาตรการลดหย่อนหนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้กู้ให้สามารถชำระหนี้ได้ด้วยภาระดอกเบี้ยที่ลดลง

โดย ‘กยศ.’ มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลามาตรการลดหย่อนหนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือและให้โอกาสผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ดังนี้

1. ลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากเดิม 1% ต่อปี เป็น 0.01% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้

2. ลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และต้องการปิดบัญชีในคราวเดียว

3. ลดเบี้ยปรับ 100% สำหรับผู้กู้ยืมเงินทุกกลุ่มที่ชำระหนี้ปิดบัญชี ดังนี้

3.1 ผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี สามารถชำระได้ที่ธนาคารกรุงไทยและธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยทุกสาขา

3.2 ผู้กู้ยืมเงินที่ถูกดำเนินคดีแล้ว ต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิและนัดหมายวันที่ประสงค์จะชำระหนี้ปิดบัญชีได้ที่ https://www.studentloan.or.th/promotion โดยผู้กู้ยืมเงินต้องชำระค่าทนายความและค่าฤชาธรรมเนียมศาลให้เสร็จสิ้นก่อนปิดบัญชี

4. ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ (ไม่ค้างชำระ)

5. ลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด

จากมาตรการดังกล่าว นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือผู้กู้แล้ว ยังถือเป็นการสนับสนุนผู้กู้ในการชำระหนี้คืนกองทุนไปในตัวอีกด้วย โดยในแต่ละปีมีผู้กู้กยศ.จำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ชำระหนี้ตามสัญญาจนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีในที่สุด

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ‘กยศ.’ เผยว่าขณะนี้อยู่ในระหว่างเตรียมฟ้องร้องดำเนินคดีกับลูกหนี้ราว 180,000 คน จากจำนวนผู้กู้ยืม 6,215,161 คน โดยผู้กู้ที่จะถูกฟ้องร้องมีมูลค่าหนี้เฉลี่ยคนละ 120,000 บาท ส่วนสาเหตุที่ ’กยศ.’ จำเป็นต้องดำเนินการทางกฎหมาย เนื่องจากไม่สามารถติดต่อลูกหนี้ได้ และหากล่าช้าอาจหมดอายุความ

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่กำลังจะโดนฟ้องร้อง ทาง ‘กยศ.’ ก็ได้แนะนำให้ติดต่อกลับไปที่กองทุน เพื่อรับคำปรึกษาและการช่วยเหลือด้านการผ่อนชำระ อาทิเช่น หักชำระหนี้ขั้นต่ำสุดครั้งละ 10 บาท โดยตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นมา กองทุนได้ลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% ต่อปี สำหรับผู้กู้ที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี และลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเหลือ 0.01% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ รวมทั้งลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และต้องการปิดบัญชีในคราวเดียว รวมถึงลดเบี้ยปรับ 100% สำหรับผู้กู้ยืมเงินทุกกลุ่มที่ชำระหนี้ปิดบัญชี และลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ (ไม่ค้างชำระ)

นอกจากข้อมูลการเตรียมฟ้องร้องลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระแล้ว ‘กยศ’ ยังได้มีการหารือร่วมกับ ‘เครดิตบูโร’ เพื่อจัดทำระบบข้อมูลกลาง สำหรับการตรวจสอบเครดิตผู้กู้ยืมในการตรวจสอบสถานะหรือจำนวนหนี้คงค้างจนเป็นหนี้เสีย และมีการผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ ลักษณะเดียวกับระบบเครดิตบูโร โดย ‘กยศ.’ จะทำเป็นระบบภายในของกองทุนเองเพื่อสร้างประวัติการชำระหนี้ของผู้กู้ยืม โดยหากผู้กู้ยืม ‘กยศ.’ ผิดนัดชำระหนี้เป็นเวลานานหรือปล่อยให้กลายเป็นหนี้เสีย จะมีการขึ้นบัญชีของระบบดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ผู้ที่มีความสัมพันธ์ในเครือญาติ อาทิเช่น พี่ น้อง ลูก หลาน ของผู้ที่มีประวัติเสียไม่สามารถทำเรื่องขอกู้ยืมเงินจาก ‘กยศ.’ ได้ในอนาคต ซึ่งการนำระบบที่คล้ายกันกับเครดิตบูโรมาใช้นี้ ถือเป็นอีกวิธีในการกระตุ้นให้ลูกหนี้ชำระคืนเงินมากยิ่งขึ้น

คงได้เห็นผลกระทบของการค้างชำระหนี้ ‘กยศ.’ กันแล้ว ทั้งนี้ หากใครยังไม่ได้ชำระคืนในปีนี้ ขอแนะนำให้รีบเคลียร์ตัวเองเพื่อทำการชำระเงินคืนกองทุนตามสัญญา เพราะถ้าหากผิดนัด จะนำมาซึ่งผลกระทบมากมายเกินกว่าการพยายามใช้หนี้คืนอย่างแน่นอน

 

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ที่มา : studentloan, ch7, thairath

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #กยศ. #studentloan