4 กลยุทธ์ขับเคลื่อน ‘ศรีตรังโกลฟส์’ สู่เส้นทางของผู้นำตลาด

‘ศรีตรังโกลฟส์’ เป็นผู้ผลิตถุงมือยางธรรมชาติรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลกที่ใช้กลยุทธ์การกระจายความเสี่ยง และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอย่างต่อเนื่อง จนก้าวล้ำหน้าคู่แข่ง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนสร้างความได้เปรียบเชิงแข่งขัน และนำพาพวกเขาสู่ผู้นำอุตสาหกรรมที่มีความเป็นเลิศด้านผลการดำเนินงาน และการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

คุณวิทย์นาถ สินเจริญกุล Executive Director บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT กล่าวว่า 4 ปัจจัยหลักที่นำ STGT มาสู่ความสำเร็จในแง่ของการเติบโตของธุรกิจ ประกอบด้วย

1. ความยืดหยุ่น: โดย STGT เป็นบริษัทที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในอุตสาหกรรมในรูปแบบไหนก็จะสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้ทันท่วงที เพื่อให้แผนธุรกิจสอดคล้องกับตลาดในปัจจุบัน และอนาคตได้อย่างรวดเร็ว

2. การผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์: โดย STGT มีเป้าหมายคือการผลิตสินค้าที่ต้องตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ในราคาที่สามารถแข่งขันในตลาดได้ และสิ่งสำคัญคือ สินค้าต้องมีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ

3. การพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิต: โดย STGT ให้ความสำคัญด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการพัฒนาเครื่องจักรให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลาเพื่อพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก

4. การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และมาตรฐาน: โดย STGT มุ่งเน้นที่จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และรักษามาตรฐาน รวมถึงคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานระดับสากล และให้ความสำคัญกับลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรอบด้าน

นั่นทำให้ STGTกลายเป็นบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือสูง และยังคงเป็นผู้นำที่สามารถอยู่ในอุตสาหกรรมถุงมือยางได้อย่างยาวนาน

คุณวิทย์นาถ กล่าวเพิ่มเติมว่า STGT ได้วางแผนให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่นสูง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกระจาย Location ของโรงงานในแต่ละพื้นที่ให้มีระยะห่างกันออกไป และไม่กระจุกตัวอยู่ในที่เดียว รวมไปถึงสร้างโรงงานให้อยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบเพื่อให้สามารถหาแหล่งวัตถุดิบมาทดแทนได้ง่าย

นอกจากนี้ ในแง่ของการกระจายฐานลูกค้าทาง STGT สามารถกระจายตลาดได้มากถึง 170 ประเทศทั่วโลก และไม่ได้พึ่งพารายได้จากตลาดใดตลาดหนึ่งเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ในช่วงที่บางประเทศมีปัญหาค่าเงิน หรือการนำเข้า STGT จึงได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย และสามารถใช้ยอดขายจากตลาดอื่นที่ไม่ได้รับผลกระทบมาทดแทนได้ นอกจากนี้ STGT ยังให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยน และพัฒนาเทคโนโลยีด้านการผลิตอย่างสม่ำเสมอ จึงทำให้สามารถปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดได้ตลอดเวลา

“เราพัฒนาเครื่องจักรให้มีความยืดหยุ่นสูง เช่น ผลิตได้ทั้งยางสังเคราะห์ และยางธรรมชาติ ดังนั้น หากตลาดมีการปรับเปลี่ยน หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านราคา ก็ทำให้เราสามารถสวิตช์ไปมุ่งเน้นผลิตสินค้าประเภทอื่นได้ทันที ขณะที่ในส่วนของซัพพลายเออร์เรามีหลากหลาย ไม่ได้พึ่งเจ้าใดเจ้าหนึ่ง นั่นทำให้เรามีความยืดหยุ่นสูง และสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว”

ในแง่ของผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาที่เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง คุณวิทย์นาถ มองว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถือเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากความต้องการถุงมือยางในตลาดโลกเติบโตก้าวกระโดดจาก COVID-19 ส่งผลให้กำไรขั้นต้นของบริษัทสูงถึง 40-50% จากกรณีปกติจะอยู่ที่ 10-15% ซึ่ง STGT ได้ใช้โอกาสที่เข้ามานี้สะสมความมั่งคั่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และนำเงินทุนมาใช้ขยายธุรกิจเพื่อต่อยอดการเติบโตในอนาคต

“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถือเป็น Special case ดังนั้น เราจะไม่มองตรงนั้นเป็นหลัก เพราะเรารู้อยู่แล้วว่ามันจะเข้ามาเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่ได้ยั่งยืน เราจึงวางแผนล่วงหน้า โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเราสร้างกระแสเงินสดเข้าสู่บริษัท และนำเงินเหล่านั้นมาใช้ขยายโรงงาน ดังนั้นถึงแม้ช่วงต่อจากนี้มาร์จินจะปรับตัวลดลง เราก็ยังมี Volume การขายที่สูงขึ้นเข้ามาทดแทน”

ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาองค์กรรอบด้าน
ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกอุตสาหกรรม STGT ได้มุ่งเน้นในเรื่องของการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนา 3 ด้านด้วยกัน ประกอบด้วย
1. ใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาเครื่องจักรสำหรับการผลิตเพื่อให้สามารถผลิตถุงมือได้ในปริมาณที่มากขึ้น โดย STGT พัฒนาความเร็วในการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีเครื่องจักรสำหรับการผลิตถุงมือยางธรรมชาติที่มี Speed สำหรับการผลิต 900 ชิ้นต่อนาที ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องผลิตถุงมือยางธรรมชาติที่มีความเร็วที่สุดในโลก

2. ใช้เทคโนโลยีเข้ามาควบคุมระบบการทำงาน เพื่อให้กระบวนการทุกอย่างสามารถตั้งค่า และควบคุมได้ผ่านจอมอนิเตอร์ หรือห้องควบคุมพนักงาน ซึ่งจะช่วยลดความซับซ้อนในการดูแลเครื่องจักร และช่วยให้การทำงานเป็นไปได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น

3. ใช้เทคโนโลยีเข้ามาควบคุมคุณภาพการผลิต โดยนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้สำหรับการควบคุมคุณภาพของสินค้าและการผลิต เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

สำหรับความท้าทายของอุตสาหกรรมยางต่อจากนี้ STGT มองว่าเป็นเรื่องของเทคโนโลยีการผลิต รวมถึงปัจจัยลบด้านต้นทุนวัตถุดิบ และราคายางที่ค่อนข้างผันผวน ดังนั้น STGT จึงต้องบริหารด้านราคาขาย และต้นทุนให้ดีที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาข้อได้เปรียบของ STGT คือ การใช้พลังงานชีวมวล (Biomass) 100% ทำให้บริษัทฯ สามารถควบคุมต้นทุนได้เป็นอย่างดี และไม่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามตลาดโลก

“เป้าหมายของ STGT คือต้องการรักษาตลาดของตัวเองที่เติบโตจากช่วง COVID-19 เอาไว้ให้ได้มากที่สุด ขณะที่ต้องพยายามผลักดันการใช้ยางธรรมชาติในตลาดโลกให้มากขึ้น เพราะยางธรรมชาติถือว่าเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ในแง่ของการรักษาสิ่งแวดล้อม จากกระบวนการผลิตจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาต่ำกว่ายางสังเคราะห์ นอกจากนี้ยังตั้งเป้าที่จะทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ รวมถึงตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายกำลังการผลิตขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 100,000 ล้านชิ้น ภายในปี 2028” คุณวิทย์นาถ กล่าวในตอนท้าย

ที่มา : การสัมภาษณ์พิเศษ