ภาวะถดถอยของ Start Up ในเยอรมนี ที่แทบไม่มีใครกล้าเปิดตัว หรือเข้าไปลงทุน

หากพูดถึงตลาด Start Up ในช่วง 4-5 ปีก่อนถือว่าเป็นธุรกิจที่ได้รับความสนใจมากจาก Venture Capital Fund ที่จะระดมทุน และนำเงินทุนก้อนนี้ไปหาโอกาสการลงทุนที่จะสร้างผลตอบแทนให้กับกองทุน โดยที่ผ่านมามีการเข้าลงทุนใน Start Up มากมาย ซึ่งทำให้ Start Up ก็ได้รับประโยชน์จากการนำเงินไปลงทุน ขยายธุรกิจ แต่ในช่วงหลังมานี้เจอใครก็มักพูดว่า กระแสสตาร์ตอัพที่เคยบูมในบ้านเราช่วง 4-5 ปีก่อนอาจเริ่มดูซา ๆ ลงไป โดยส่วนหนึ่งคือเจอกับปัญหาคู่แข่งที่มากขึ้นทั้งจาก Start Up ด้วยกันเอง หรือแม้แต่ทางองค์กรขนาดใหญ่ที่ลงมาทำเอง ซึ่งองค์กรจะได้เปรียบในแง่ของแหล่งเงินทุน และแผนธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญกว่า

โดยปัญหานี้ดูเหมือนจะเกิดขึ้นกับหลาย ๆ ประเทศเช่นกันโดยเฉพาะในเยอรมนี ซึ่งจากสถิติในช่วงปี 2021-2022 พบว่า มีการก่อตั้งบริษัท Start Up รายใหม่ในเยอรมนีลดลงอย่างมาก โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม –กันยายน 2565 มีบริษัท Start Up ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ก่อตั้งใหม่ลดลง 30%

นอกจากนี้จากข้อมูลของบริษัท Morphais (ที่ปรึกษาด้านการลงทุน) ได้ออกมาเปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 มีการก่อตั้งบริษัท Start Up ใหม่ ๆ ลดลง 12% (จาก 834 บริษัท) พอถึงไตรมาสที่ 2 ก็ลดลงอีก 15% ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำ ให้การก่อตั้งบริษัท Start Up ลดลง อาจเป็นผลมาจากความกังวลใจต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงถดถอย

และในมุมมองของนาย Danny Rimer หุ้นส่วนของบริษัท Index Ventures และเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่มีประสบการณ์ในยุโรป ได้ออกมาเปิดเผยว่า “ใครก็ตามที่กล้าพอจะก่อตั้งธุรกิจ Start Up ในช่วงเวลานี้ เขาต้องมีความมั่นใจมากพอสมควรว่า ธุรกิจที่ก่อตั้งจะสามารถไปรอดในช่วงเวลานี้ เพราะตอนนี้ แทบไม่มีใครกล้าเปิดตัวหรือเข้าไปลงทุนในธุรกิจ Start Up”

เพียงแค่ประโยคนี้ประโยคเดียว ทำให้เราเห็นถึงอุปสรรคของ Start Up ได้อย่างชัดเจน ถึงแม้ว่าแต่ในมุมของเงินทุนไหลเวียนในตลาด Start Up ในเยอรมนี นั้นจะยังไม่ได้รับผลกระทบ โดยที่ยังคงมีเงินทุนไหลเวียนอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างดี แต่ปัจจุบันเยอรมนีเป็นอีกประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อในระดับสูง แม้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จะขยายตัว 0.3% ในไตรมาส 3/2565 แต่ต้องยอมรับว่ายังต้องเผชิญภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกที่ยากลำบาก ทั้งจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และสงครามในยูเครน ซึ่งประเด็นเหล่านี้สะท้อนออกมาให้เห็นจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกเยอรมนีเดือนส.ค.หดตัวเกินคาด

ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับมายังประเทศไทยต้องบอกว่า Start Up ก็ได้รับผลกระทบในแง่มุมเดียวกัน โดยที่เราต้องยอมรับว่าความไม่มั่นคงด้านการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีผลกระทบต่อสถานการณ์การลงทุนมาก นอกจากนี้เงินเฟ้อ หรืออัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจก็สำคัญมากเช่นเดียวกัน เพราะผู้ลงทุนใน Start Up ต้องเกาะติดดูว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะเดินหน้าไปในทิศทางใดร่วมด้วย

นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่ต้องการก่อตั้งบริษัท Start Up แล้ว ควรให้ความสำคัญกับเทรนด์ของธุรกิจเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) มากขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Start Up ที่ประสบความสำเร็จในเยอรมนีจะเป็นการเน้นธุรกิจที่นำผลงานวิจัยไปต่อยอดทำธุรกิจ และผู้ประกอบการในธุรกิจกลุ่มนี้ก็ได้แจ้งจดสิทธิบัตรเพิ่มขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Cylib จากเมือง Achen ที่ก่อตั้งโดยนาง Lilian Schwich ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกด้านการรีไซเคิลแบตเตอรี่ โดย Schwich ก็ได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาไปต่อยอดทำธุรกิจต่อเนื่อง ธุรกิจ Start Ups แบบ Deep tech นี้ ยังรวมไปถึงกลุ่มผู้พัฒนา Software ด้วยอัลกอริธึม (Algorithm) แบบใหม่ด้วย ซึ่งจากข้อมูลของ Morphais พบว่าแม้จะยังไม่สิ้นสุดปี 2022 แต่ก็พบว่ามีการก่อตั้ง Start Ups แบบ Deep tech แล้วกว่า 209 บริษัท ในขณะที่ ตลอดทั้งปี 2021 มีการก่อตั้ง Start Ups แบบ Deep tech เพียงแค่ 207 บริษัท และพอย้อนกลับไปที่ปี 2020 ก็มีการก่อตั้งบริษัท Start Ups แบบ Deep tech เพียง 107 บริษัทเท่านั้น

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เยอรมนี #Start Up