หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคยอดฮิตของคนนั่งทำงานนาน
พฤติกรรมการนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนทำงาน แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง เตือนว่า พฤติกรรมเหล่านี้อาจเร่งให้กระดูกสันหลังเสื่อมเร็วขึ้นถึง 3 เท่า และนำไปสู่โรคที่พบบ่อยในกลุ่มคนวัยทำงาน นั่นคือ “หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท”
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เกิดจากอะไร
หมอนรองกระดูก เป็นเหมือนกันชนที่ช่วยรองรับแรงกระแทกระหว่างกระดูกสันหลัง ทำให้หลังสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างยืดหยุ่น แต่เมื่ออายุมากขึ้น หมอนรองกระดูกจะค่อย ๆ เสื่อมสภาพ ยุบตัว และสูญเสียความยืดหยุ่น ซึ่งอาจทำให้เคลื่อนออกจากตำแหน่งและกดทับเส้นประสาท
แม้อายุที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยหนึ่งของการเสื่อมของหมอนรองกระดูก แต่พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนวัยทำงานกลับเป็นตัวเร่งให้เกิดปัญหานี้เร็วขึ้น โดยเฉพาะการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน การนั่งประชุมต่อเนื่อง หรือการใช้โทรศัพท์มือถือในท่าเดิมซ้ำ ๆ หรือแม้กระทั่งการยกของหนักผิดท่า ซึ่งล้วนทำให้กระดูกสันหลังรับภาระหนักขึ้นโดยไม่รู้ตัว
เมื่อคุณมีอาการปวดหลังเป็นประจำ หลายคนมักจะคิดว่า ตนเองนั่งทำงานโดยไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ จนร่างกายทนไม่ไหว ซึ่งหมออยากจะบอกว่า หากพบอาการดังกล่าวอย่ารอช้า ให้เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที เพราะจริง ๆ แล้ว อาจจะมีอาการแทรกซ้อนจนนำไปสู่จุดเริ่มต้นของโรคได้
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เรามีโอกาสเสี่ยงหรือเข้าข่ายแค่ไหน อย่างไรที่จะเป็นอาการหมอนรองกระดูกแบบรุนแรง หรือหากกรณีเลวร้าย (Worst Case) ความรุนแรงอาจดันให้กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท (Spondylolisthesis) หรือใครหลายคนมักเรียกกันว่า “กระดูกทับเส้น” นั่นเอง
จากอาการปวดหลังเรื้อรัง…สู่หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
ในระยะแรก หมอนรองกระดูกที่เสื่อมจะเริ่มยุบตัว หากปล่อยไว้นาน อาจเคลื่อนออกจากตำแหน่งและกดทับเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการปวดร้าวลงขาหรือแขน หลายคนเข้าใจผิดว่า ต้องปวดมากถึงจะเป็นอันตราย แต่ในความเป็นจริง แม้อาการปวดจะไม่รุนแรง แต่หากมีอาการร้าวลงขา อ่อนแรง หรือชา อาจเป็นสัญญาณของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลให้เส้นประสาทถูกทำลายถาวร เสี่ยงต่อภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือสูญเสียการควบคุมระบบขับถ่าย
เปรียบเทียบง่าย ๆ เส้นประสาทก็เหมือนต้นหญ้า หากถูกเหยียบเพียงชั่วครู่ยังสามารถฟื้นตัวได้ แต่หากถูกกดทับซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน ต้นหญ้าจะค่อย ๆ เหลืองและแห้งตาย เช่นเดียวกับเส้นประสาทที่ถูกกดทับเป็นเวลานาน เซลล์ประสาทจะเสื่อมลง และไม่สามารถฟื้นตัวได้อีก
ปรับพฤติกรรม ลดความเสี่ยงหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
การดูแลและป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ สามารถช่วยลดความเสี่ยงของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ เริ่มจากการหลีกเลี่ยงการนั่งต่อเนื่องเป็นเวลานาน ควรลุกขึ้นยืนหรือยืดเหยียดร่างกายทุก 30-60 นาที เพื่อลดแรงกดบนกระดูกสันหลัง นอกจากนี้ การเลือกใช้เก้าอี้ที่รองรับสรีระ และปรับระดับให้เหมาะสม จะช่วยให้กระดูกสันหลังอยู่ในแนวที่ถูกต้อง ลดภาระของหมอนรองกระดูก
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น ว่ายน้ำ โยคะ หรือ พิลาทิส ซึ่งช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังและแกนกลางลำตัว ทำให้กระดูกสันหลังมีความมั่นคงมากขึ้น ลดความเสี่ยงของการกดทับเส้นประสาทในระยะยาว
การวินิจฉัยและเทคโนโลยีการรักษาที่แม่นยำขึ้น
ก็ต้องบอกว่า ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าไปมาก ทำให้เราต้องมาวินิจฉัยก่อนว่า การกดเบียดเส้นประสาทที่มีอาการปวดหลังล่าง ชา หรือเสียวเหมือนไฟช็อต ร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง มีอาการรุนแรงระดับใด และคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เราต้องพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย โดยปกติแล้ว หลังจากแพทย์ได้ทำการตรวจร่างกาย และทดสอบด้วยการเหยียดตรงของขาแล้ว
หากผู้ป่วยเป็นโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนร่วมด้วยจะไม่สามารถเหยียดขาตรงไปด้านหน้าได้ แพทย์จะส่งไป X-ray และ MRI เพื่อตรวจสอบว่า กระดูกสันหลังเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทอยู่ในระดับใด หากข้อกระดูกสันหลังเคลื่อนในระดับที่ 2 ขึ้นไป ควรได้รับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางโดยด่วน
หากมีอาการปวดหลังเรื้อรัง การตรวจวินิจฉัยจะช่วยให้รักษาได้ตรงจุดและทันท่วงที แพทย์จะตรวจอาการเบื้องต้น และแนะนำให้ ทำ X-ray ควบคู่กับ MRI เพื่อประเมินโครงสร้างกระดูกสันหลัง และระบุตำแหน่งที่หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท
หากอาการรุนแรงจนต้องเข้ารับการผ่าตัด Minimally Invasive Surgery (MIS) หรือการผ่าตัดแผลเล็ก เป็นทางเลือกที่ช่วยลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อโดยรอบ โดยใช้กล้องเอ็นโดสโคปขนาดเท่าปลายปากกา ทำให้เข้าถึงจุดที่ถูกกดทับได้อย่างแม่นยำ ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถกลับบ้านได้ภายใน 1 วัน
โรงพยาบาลเอส สไปน์ ยกระดับการดูแลและฟื้นฟูกระดูกสันหลัง
ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลเอส สไปน์ ได้รักษาผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังกว่า 100,000 ราย สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาสุขภาพกระดูกสันหลังเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม โรงพยาบาลเอส สไปน์ จึงมุ่งพัฒนาศักยภาพการรักษา เพื่อยกระดับการดูแลและฟื้นฟูกระดูกสันหลังให้ครอบคลุมและทันสมัยมากที่สุด
เขียนและเรียบเรียง : นายแพทย์ดิตถพงษ์ บุญอำพล ศัลยแพทย์และผู้บริหาร โรงพยาบาล เอส สไปน์
ติดตาม Business+ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
Youtube : https://www.youtube.com/@thebusinessplus7829
#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #Business