ธุรกิจนวด-สปาไทย จะเป็นอย่างไรต่อจากนี้? หลังช่วง COVID-19 กิจการปิดถาวรสูงถึง 70%!

ธุรกิจนวด-สปาไทย จะเป็นอย่างไรต่อจากนี้? หลังช่วง COVID-19 กิจการปิดถาวรสูงถึง 70%!

หนึ่งในธุรกิจที่อยู่คนไทยมาอย่างยาวนาน จนเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของประเทศในสายตาชาวต่างชาติ คือธุรกิจ ‘นวดแผนไทย’ รวมไปถึง ‘ธุรกิจสปา’ ที่มักจะอยู่คู่กันเสมอ โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ธุรกิจนี้เป็นที่นิยมและดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี คือลักษณะของธุรกิจที่เป็นธุรกิจเพื่อการบำบัดและดูแลสุขภาพ โดยผู้คนมักเข้าใช้บริการธุรกิจประเภทนี้เพื่อการผ่อนคลายความเหนื่อยล้า

 

อย่างไรก็ดี ในช่วงของการแพร่ระบาด COVID-19 ถือเป็นช่วงวิกฤตของ ‘ธุรกิจนวดและสปา’ เป็นอย่างมาก เนื่องจากด้วยรูปแบบของธุรกิจประเภทนี้ที่ลูกค้าต้องเข้ารับบริการในพื้นที่ของกิจการโดยตรง แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ภาครัฐมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคออกมา ซึ่งหลัก ๆ คือการลดการพบปะของผู้คน และลุกลามไปจนถึงการสั่งปิดกิจการที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ง่าย หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือ ‘ธุรกิจนวดและสปา’ ที่โดนสั่งปิดไปด้วย

 

จากข้อมูลพบว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ธุรกิจนวดในประเทศมีการปิดตัวแบบถาวรมากถึง 70% เนื่องจากการขาดรายได้เป็นระยะเวลานาน และ COVID-19 ไม่เพียงกระทบแค่ผู้ประกอบการในประเทศเท่านั้น โดยจากการสำรวจข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมสปาทั่วโลกในเดือนมีนาคม 2563 พบว่า 31% คาดการณ์ว่าจำนวนการเข้าใช้บริการสปาลดลงมากกว่า 70% ในช่วงการระบาดของ COVID-19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากธุรกิจนวดและสปาสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้งหลังคลายล็อกดาวน์ และโดยเฉพาะภายหลังการเปิดประเทศอย่างเต็มตัว พบว่า ‘ธุรกิจนวดและสปา’ ในประเทศมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้น จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ระบุว่าการยกเลิก Test & Go ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565 ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อนยกเลิก โดยเฉลี่ยเข้ามาวันละ 15,000-18,000 คน ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่ 1 มกราคม – 22 พฤษภาคม 2565 เข้ามาในไทยแล้ว 1,016,103 คน หากเทียบเฉพาะไตรมาส 1 ปี 2565 ซึ่งถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2564 ถึง 2,368% และมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 1,424% นอกจากนี้ ททท. ได้ตั้งเป้ากระตุ้นให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยให้ได้ 10 ล้านคน ในปี 2565 เพื่อสร้างรายได้รวมกว่า 1.8 ล้านล้านบาท

 

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปในปี 2562 พบว่าก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประมาณ 40 ล้านคน นำมาซึ่งรายได้ราว 2 ล้านล้านบาท เมื่อบวกกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีรายได้ราว 1 ล้านล้านบาท ทำให้ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมกว่า 3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของจีดีพี

 

จากข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อ ‘ธุรกิจนวดและสปา’ ในไทย ที่ถือเป็น signature ในสายตาชาวต่างชาติที่เมื่อมาท่องเที่ยวในประเทศไทยแล้วก็มักจะนำกิจกรรมการเข้ารับบริการจากร้านนวดหรือสปาเข้าไปในโปรแกรมการท่องเที่ยวด้วย

 

นอกจากนี้ ข้อมูลจากการสำรวจของผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมสปาทั่วโลกในเดือนมีนาคม 2563 พบว่า 31% คาดการณ์ว่าจำนวนการเข้าใช้บริการสปาลดลงมากกว่า 70% ในช่วงการแพร่ระบาด COVID-19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากผู้คนหันมาให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มความต้องการในการเข้าใช้บริการธุรกิจสปา นอกจากนี้ด้วยไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป รายได้ที่เพิ่มขึ้น และจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น คาดว่าจะสามารถขับเคลื่อน ‘ธุรกิจนวดและสปา’ ได้ตลอดระยะเวลาที่คาดการณ์ โดยเฉพาะธุรกิจสปาบำบัด จากความต้องการของผู้ใช้บริการที่ต้องการบรรเทาความวิตกกังวลและความเครียดจากสถานการณ์รอบข้าง

 

ในแง่ของมูลค่าทางการตลาดนั้น ตลาดสปาทั่วโลกมีมูลค่า 47.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 และคาดว่าจะขยายตัวในอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ที่ 12.1% จากปี 2564-2571 เป็นผลมาจากวิถีชีวิตที่เร่งรีบในเมืองที่เพิ่มขึ้น, การเติบโตของการท่องเที่ยวขาเข้าและขาออก, คววามต้องการมีสุขภาพที่ดีของผู้คน, ความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากตลาดเกิดใหม่ และการตระหนักรู้ เป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจสปา

 

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางแนวโน้มธุรกิจที่สดใส ขณะเดียวกันธุรกิจนวดและสปาไทยในปัจจุบัน กลับประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยข้อมูลจากประธานชมรมผู้ประกอบการนวดไทยล้านนา ระบุว่า ขณะนี้ร้านนวดแผนไทยในจังหวัดเชียงใหม่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน จากแรงงานที่ขึ้นทะเบียนในช่วงก่อนการแพร่ระบาด COVID-19 มีอยู่กว่า 9,000 คน แต่ปัจจุบันคาดว่าจะเหลืออยู่เพียงร้อยละ 40 หรือประมาณ 3,600 คนเท่านั้น เนื่องจากช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ร้านนวดแผนไทยยังไม่สามารถให้บริการได้ ทำให้แรงงานเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือหันไปทำอาชีพอื่นเพื่อเลี้ยงชีพ และการเรียกแรงงานกลับมาทำงานเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ซึ่งนับเป็นโจทย์สำคัญสำหรับผู้ประกอบการ ‘ธุรกิจนวดและสปา’ ที่จะต้องหาพนักงานเข้ามาเติมเต็มในธุรกิจให้ได้

 

ส่วนภาคแรงงานที่มีความสนใจในการเข้าทำงานในกิจการประเภทนวดและสปานั้น ทาง ‘กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน’ ได้เตรียมความพร้อมจัดหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานที่สนใจทำงานในธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในปี 2565 ซึ่งหนึ่งในหลักสูตรที่มีความเกี่ยวข้องกับ ‘ธุรกิจนวดและสปา’ คือการเพิ่มทักษะฝีมือในสาขาอาชีพเฉพาะ ได้แก่ นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมสปาตะวันตก (หัตถบำบัด) ซึ่งถือเป็นประโยชน์สำหรับภาค ‘ธุรกิจนวดและสปา’ เป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของจำนวนผู้สมัครเข้าทำงานที่มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นผู้มีทักษะเฉพาะด้านอีกด้วย

 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ‘กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน’ ได้ดำเนินการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานด้านการท่องเที่ยวไปแล้วจำนวน 4,400 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2565)

 

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

 

ที่มา : Grand View Research, มติชน, สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์, Nation, มีค่า

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

 

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ธุรกิจนวด # ธุรกิจสปา #ธุรกิจนวดและสปา