สสว.จับมือ มทร.ธัญบุรี ยกระดับเทคโนโลยีข้าวอินทรีย์ศรีสะเกษ

สสว. ร่วมกับ มทร.ธัญบุรี พัฒนาศักยภาพเครือข่ายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรอย่างต่อเนื่อง เปิดเวทีแรกวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดข้าวชุมชน ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ ยกระดับเทคโนโลยีข้าวอินทรีย์ศรีสะเกษ ภายใต้โครงการสนับสนุน SME ปี 2563

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มโน สุวรรณคำ ผู้อำนวยการกองกลาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ผู้รับผิดชอบกิจกรรม เผยว่า ทาง มทร.ธัญบุรี ได้รับมอบหมายจาก สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ให้ดำเนินการกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร ภายใต้โครงการสนับสนุน SME ปี 2563 ดำเนินการรวมกลุ่มผู้ประกอบการแบบองค์รวม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อให้เกิดความร่วมมือและเชื่อมโยงอย่างเข้มแข็ง สามารถพึ่งพากันภายในกลุ่ม เกิดเป็นความยั่งยืน เน้นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับการผลิต การลดต้นทุน การปรับปรุงคุณภาพ พัฒนาศักยภาพของผู้ให้บริการเครือข่าย (Service Provider: SP) และผู้ประสานงานเครือข่าย (Cluster Development Agent: CDA) และเชื่อมโยงความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานของภาครัฐ เอกชน รวมถึงสถาบันการเงิน ซึ่งจะเป็นช่องทางในการเสริมสร้างให้เกิดความเข้มแข็งอย่างรอบด้านของคลัสเตอร์

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

การต่อยอดเทคโนโลยีวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดข้าวชุมชน ต.ผักไหม ร่วมกันปรึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้นำและทีมคณาจารย์ มทร.ธัญบุรี “ถุงอบแห้งข้าวเปลือก” เทคโนโลยีข้าวอินทรีย์ศรีสะเกษ ที่นำมาปรับใช้ ภายใต้งานวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยี นำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต งานวิจัยต่อยอดจากการลงพื้นที่การบริหารจัดการน้ำเมื่อปีที่แล้ว นอกจากปัญหาในเรื่องของน้ำแล้ว ความชื้นของข้าวเป็นอีกปัญหา ช่วยคิดค้นเทคโนโลยีลดความชื้นของข้าว พัฒนาและวิจัยถุงอบแห้งข้าวเปลือก ช่วยเหลือเกษตรกร ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีราคาที่เหมาะสม และผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ขยายผลต่อจากอำเภอ สู่ระดับจังหวัดต่อไป

นางจันทรา หาญสุทธิชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลผักไหม เล่าว่า ตำบลผักไหมทำนาเป็นอาชีพหลัก เด่นในเรื่องของข้าวอินทรีย์ โดยได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการคลัสเตอร์เทคโนโลยีเพื่อการเกษตร ของทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ได้รับทุนสนับสนุน สสว. ดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งปี 2562 ทางมหาวิทยาลัยเข้ามาอบรมและถ่ายทอดความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำ โดยเป็นองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่เกษตรกรนำไปปรับใช้ในการทำนาได้ ในการต่อยอดพัฒนาในปี 2563 หวังว่าทางมหาวิทยาลัยนำองค์ความรู้ ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาถ่ายทอดให้กับแต่ละตำบลในอำเภอห้วยทับทัน มาหนุนเสริมพัฒนาในเรื่องคุณภาพของข้าวอินทรีย์ ทำให้เทคโนโลยีข้าวอินทรีย์เป็นที่ยอมรับ ตลอดจนองค์ความรู้ ทักษะต่าง ๆ เช่น ในเรื่องการประชาสัมพันธ์ และการตลาด เสริมพลังให้กับเกษตรกรต่อไป

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

นายไพฑูรย์ ฝางคำ ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดข้าวชุมชน ต.ผักไหม เล่าว่า เดิมเกษตรกรที่ชุมชนเป็นเกษตรกรรายย่อย แบบตัวใครตัวมัน มองว่าไปไม่รอด ไม่มีพลัง จึงได้ร่วมตัวโดยใช้กลไกขของวิสาหกิจชุมชนมาเรียนรู้ร่วมกัน โดยเมื่อปี 2562 มีโอกาสเข้าอบรมเรื่องคลัสเตอร์ และได้เข้าศึกษาดูงานของกลุ่มคลัสเตอร์เมลอน จังหวัดสุพรรณบุรี โดยทางกลุ่มสามารถผลิตและเชื่อมโยงการตลาดได้จริง สร้างรายได้ให้กับกลุ่ม มองว่าการร่วมตัวของคลัสเตอร์เกิดประโยชน์กับเกษตรกร สามารถพัฒนาในเรื่องของการผลิตและการตลาด มีรายได้เข้ามายังกลุ่ม จากกลุ่มเล็ก ๆ ไปสู่กลุ่มใหญ่ จึงเกิดกลุ่มคลัสเตอร์เทคโนโลยีข้าวอินทรีย์ ทาง สสว.และ อาจารย์ มทร.ธัญบุรี ได้เข้ามาพัฒนาเทคโนโลยีให้กับกลุ่ม ในเรื่องของการบริหารน้ำ ในปีนี้อาจารย์ได้ต่อยอดเทคโนโลยี “ถุงอบแห้งข้าวเปลือก” เนื่องจากปัญหาช่วงเก็บเกี่ยวข้าว เป็นช่วงฤดูฝน ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของความชื้น โดยหวังว่าถุงอบแห้งข้าวเปลือก ดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงในการสูญเสียผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว ขายได้ราคา ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

ทางด้าน นายวรรณา จันทร์หอม ประธานแปลงใหญ่ข้าว ตำบลเมืองหลวง เล่าว่า การทำนาแบบเดิม ๆ คงไม่เหมาะ กับการก้าวกระโดดไปยังโลกาภิวัตน์ ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ต้องนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพื่อเป็นการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนการสร้างเครือข่ายเพิ่มช่องทาง การเข้าอบรมหาความรู้ แลกเปลี่ยน โดยการเข้าร่วมโครงการเมื่อปีที่ผ่านมา นำองค์ความรู้เทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำไปปรับใช้ ทำให้ได้ผลผลิตที่ดี จึงอยากให้เกษตรกรในตำบลเมืองหลวงเข้าร่วมโครงการนี้ จากการประชาสัมพันธ์โครงการเกษตรกรสนใจมาเข้าร่วมกว่า 60 คน หวังว่าผู้เข้าร่วมโครงการได้รับองค์ความรู้ใหม่ และนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ทำให้มีคุณภาพดีขึ้น

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

สำหรับโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการและพัฒนาองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจ หลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ กิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์เทคโนโลยีเพื่อการเกษตร ภายใต้โครงการสนุบสนุนเครือข่าย SME ปี ลงพื้นที่พัฒนาคลัสเตอร์เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรอีก 5 จังหวัดได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ,สุพรรณบุรี, ราชบุรี ,นครศรีธรรมราช และชัยภูมิ เพื่อพัฒนาและนำงานวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยียกระดับการผลิต สร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกร