อุตสาหกรรม Smart Home โลก กำลังจะถูกเปลี่ยนมือจาก ‘สหรัฐฯ’ ไปสู่ ‘จีน’

อุตสาหกรรม Smart Home ยังเป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นหนึ่งใน Mega Trend ของโลก โดยทิศทางของอุตสาหกรรมโลกถูกประเมินว่าจะเป็นขาขึ้นไปจนถึงปี 2027 ซึ่งปัจจัยหลักที่ผลักดันทั้งภาพรวมอุตสาหกรรมคือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรทั่วโลกไปสู่สังคมผู้สูงอายุ และความต้องการประหยัดพลังงาน ซึ่งส่งผลให้มูลค่าของตลาดอุปกรณ์ Smart Home ทั่วโลกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งในระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้เล่นหลักระดับโลกต่างกอบโกยเงินได้อย่างมหาศาล ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดที่เชือดเฉือน แม้ว่าจะเกิดปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานโลกติดขัด หรือแม้กระทั่งปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขึ้น กดกำลังซื้อสินค้าให้ลดน้อยลงไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความมั่งคั่งของบริษัทระดับโลกนี้ลดน้อยลงแม้แต่น้อย

แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือ ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ จะยังคงครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด แต่อีกไม่กี่ปีข้างหน้าประเทศจีนอาจกลายเป็นประเทศที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแทน หลังจากที่จีนสามารถสร้างรายได้จากตลาด Smart Home มากขึ้นต่อเนื่องจนเริ่มหายใจรดต้นคอสหรัฐฯ เข้ามาทุกที

หากมองกันที่ภาพรวมในปี 2022 ที่ผ่านมารายได้ของตลาด Smart Home ทั่วโลกเติบโตได้สูงถึง 17.5% ซึ่งเมื่อเราย้อนกลับไปดูข้อมูลในเชิงสถิติจะเห็นได้ว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้โดยปกติแล้วมีการเติบโตเฉลี่ยค่อนข้างสูง ยกตัวอย่างการประเมินจาก Statista ที่คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ในช่วงปี 2022-2027 จะอยู่ที่ 12.47% ต่อปี ซึ่งอัตราเติบโตระดับนี้จะทำให้รายได้จากตลาด Smart Home ทั่วโลกขึ้นมาสู่ระดับ 222.90 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2027

โดยพบว่าสินค้าที่มีสัดส่วนมากที่สุด คือ Smart Appliances หรือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งสินค้าประเภทนี้ถือเป็น Smart Home ที่สร้างรายได้สูงที่สุดในโลกมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความที่สินค้าประเภทนี้เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคทั่วไปต่างคุ้นเคยกับการใช้งานมาอยู่แล้ว และยังสามารถตอบโจทย์การใช้งานได้จริง ด้วยวิธีการใช้งานไม่ซับซ้อน โดยสินค้าที่ทำยอดขายได้ดี คือ Smart TV และ Air Conditioner รวมถึงตู้เย็น เตาอบ เครื่องชงกาแฟ เครื่องปั่นน้ำผลไม้ และเครื่องล้างจาน

ซึ่งรายได้ของสินค้าประเภทนี้มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากปี 2020 ที่มีสัดส่วน 29.07% ขึ้นมาสู่ระดับ 40.55% ในปี 2021 โดยสาเหตุของการเติบโตคือการระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้คนต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้านยาวนานขึ้นทำให้อุปสงค์สำหรับ Smart Appliances เพิ่มขึ้นมากถึง 11.48% ภายใน 1 ปีเท่านั้น ขณะที่ในปี 2023 ได้มีการคาดการณ์ว่า Smart Appliances ของโลกจะมีสัดส่วนรายได้ 53.97% จากรายได้รวม

ทั้งนี้หากเจาะเข้าไปในส่วนของสินค้าประเภท Smart TV จะเห็นว่าเจ้าตลาดยังคงเป็นแบรนด์ Samsung บริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ ซึ่งถือครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 โดย Samsung ถือเป็นบริษัทที่ทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่เติบโตเป็นประเทศอุตสาหกรรมและมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ส่วนแบรนด์ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับที่ 2 คือแบรนด์ LG บริษัทจากเกาหลีใต้ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ในเกาหลีใต้ (รองจาก Samsung , Hyundai และ SK Group) ที่น่าสนใจคือแบรนด์ที่มีส่วนแบ่งเป็นอันดับ 3 ของสินค้า Smart TV คือ TCL ผู้ผลิตสมาร์ททีวีอันดับ 1 ของประเทศจีน โดยที่ยอดขายขยับขึ้นมาจนใกล้เคียงกับ LG และอาจจะแซงหน้าได้ในไม่ช้า เพราะยอดจัดส่งตอนนี้ห่างกันเพียงหลักล้านเครื่องเท่านั้น

สินค้าที่สร้างรายได้มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก คือ Control & Connectivity หรือ อุปกรณ์สำหรับเชื่อมต่อและควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) ที่ติดตั้งตามเครื่องใช้ไฟฟ้าและหลอดไฟ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านสามารถทำงานได้แบบอัตโนมัติ และยังครอบคลุมไปถึงอุปกรณ์สั่งการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นลำโพง หรือระบบไฟฟ้าที่สั่งการด้วยเสียง แม้อุปกรณ์เหล่านี้ในเมืองไทยอาจจะยังไม่เป็นที่นิยม และยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย

ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดปัญหาจากระบบของแต่ละแบรนด์ ซึ่งมีมาตรฐานแตกต่างกันทำให้รองรับการใช้งานของอุปกรณ์ที่ต่างกันตามไปด้วย จึงทำให้ผู้เล่นในตลาด Control & Connectivity ยังมีเพียงไม่กี่เจ้า อย่างเช่น Google Assistant, Amezon Alexa หรือ HomeKit ของ Apple ซึ่งทั้ง 3 แบรนด์เป็นบริษัทสัญชาติอเมริกาทั้งหมด อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่าระบบเหล่านี้จะถูกพัฒนาให้เสถียรมากขึ้น จึงยังคงมองว่าแนวโน้มในปี 2023 สินค้าประเภท Control & Connectivity ทั่วโลกจะมีสัดส่วนรายได้ 28.16%

สินค้าที่สร้างรายได้เป็นอันดับที่ 3 คือ ระบบรักษาความปลอดภัย (Security) โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2023 จะมีสัดส่วนรายได้จากทั่วโลก 20.89% ซึ่งสินค้าที่ได้รับความนิยมสูง เป็นอุปกรณ์ประเภทกล้องวงจรปิด ประตู หน้าต่างอัตโนมัติ ซึ่งทั้งหมดนี้เชื่อมต่อด้วย IoT ทั้งหมด ซึ่งบ้านจัดสรรยุคใหม่ส่วนใหญ่แล้วจะมีการติดอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยมาพร้อมตั้งแต่แรก ซึ่งถือว่าเป็นเทรนด์ที่กระตุ้นให้บ้านหลังอื่นๆ ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้เมื่อเราเจาะข้อมูลไปยังผู้เล่นระดับโลกในส่วนของบริษัทรักษาความปลอดภัยสำหรับ Smart Home ในปี 2022 จะพบข้อมูลจาก brandessenceresearch ว่า ผู้นำด้านรักษาความปลอดภัยอันดับ 1 ที่มีรายได้สูงสุดคือ G4S บริษัทรักษาความปลอดภัยเอกชนข้ามชาติในสหราชอาณาจักร ซึ่งทำรายได้ 57 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนอันดับที่ 2 ตกเป็นของ Hikvision บริษัทข้ามชาติสัญชาติจีน ซึ่งมีรายได้ 12 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนอันดับที่ 3 คือ Legrand Legrand บริษัทกลุ่มอุตสาหกรรมของฝรั่งเศส ซึ่งทำรายได้ 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

ส่วนสินค้าที่คาดการณ์ว่าจะสร้างรายได้มากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ในปี 2023 ของกลุ่ม Smart Home คือ Home Entertainment ด้วยสัดส่วน 13.71% ตามด้วยสินค้าประเภท Comfort & Lighting สัดส่วน 11.71% และสินค้าEnergy Management สัดส่วน 10.86%

อ่านมาถึงตรงนี้จะเห็นพัฒนาการในตลาด Smart Home ของประเทศจีน ที่เริ่มเข้ามาครองส่วนแบ่งการตลาด จนสามารถติดอันดับ 1-3 แบรนด์เจ้าตลาดในเกือบทุก Segment ไล่เรียงจากกลุ่ม Smart Appliances ที่สร้างรายได้มากที่สุดในโลก จีนก็มีแบรนด์ TCL อยู่อันดับ 3 ของโลกสำหรับสินค้าประเภท Smart TV ขณะที่กลุ่ม Security จีนก็มีแบรนด์ Hikvision ซึ่งสร้างรายได้เป็นอันดับที่ 2 ของโลก ซึ่งตอนนี้ Segment ที่จีนยังไม่มีสัดส่วนโดดเด่นคงเหลือเพียงกลุ่ม Control & Connectivity ที่เจ้าตลาด 3 อันดับแรกยังเป็นของสหรัฐฯ และยุโรป แต่ก็เท่ากับว่าจีนได้ครองส่วนแบ่งการตลาดในสินค้า 2 กลุ่มจาก 3 กลุ่มที่สร้างรายได้มากที่สุดของโลกไปแล้ว

ถึงแม้ภาพรวมแล้วเจ้าตลาดของโลกยังเป็นสหรัฐฯ แต่ข้อมูลเหล่านี้ก็ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าประเทศจีนกลายเป็นคู่แข่งคนสำคัญที่เข้ามาทำให้ตำแหน่งผู้นำอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ สั่นคลอน

ซึ่งตรงกับข้อมูลที่ Business+ ได้วิเคราะห์เข้าไปยังส่วนแบ่งการตลาดของ Smart Home แบ่งเป็นรายประเทศ เราจะเห็นว่าถึงแม้ปัจจุบันสหรัฐฯ ยังคงเป็นเจ้าตลาดอันดับ 1 โดยในปี 2022 ที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้มากที่สุดในโลกด้วยตัวเลขที่สูงถึง 31,450 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ในอนาคตอีก 4 ปีข้างหน้าจีนอาจก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาด Smart Home ของโลกแทน

6 อันดับประเทศที่เป็นเจ้าตลาด Smart Home (ข้อมูล ณ ปี 2022)
1. สหรัฐอเมริกา สร้างรายได้ 31,450 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
2. ยุโรป สร้างรายได้ 28,580 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
3. ประเทศจีน สร้างรายได้ 26,670 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
4. สหราชอาณาจักร สร้างรายได้ 8,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
5. เยอรมนี สร้างรายได้ 6,490 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
6. ประเทศญี่ปุ่น สร้างรายได้ 6,140 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
Source: Statista สำรวจและรวบรวมโดย Business+

ข้อมูลในปี 2022 สหรัฐฯ สร้างรายได้ในสินค้า Smart Home เป็นอันดับที่ 1 ของโลกด้วยรายได้ 31,450 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งห่างจากอันดับที่ 2 อย่างยุโรปอยู่ 2,870 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่เมื่อเทียบระหว่างจีนกับยุโรปจะเห็นว่าจีนมีรายได้ตามหลังยุโรปเพียงแค่ 1,919 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น ซึ่งอีกไม่นานจีนจะสามารถแซงหน้ายุโรปได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และยังมีการคาดการณ์กันว่าภายในปี 2026 ประเทศจีนจะขึ้นมาเป็นเจ้าตลาด Smart Home อันดับ 1 แทนที่สหรัฐอเมริกาได้อีกด้วย

ซึ่งการวิเคราะห์นี้เกิดขึ้นบนการคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของรายได้ของประเทศจีนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 14.36% (CAGR 2022-2027) ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ในปี 2027 แตะระดับ 54.63 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยที่การเติบโตของรายได้ในจีนมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงกว่าสหรัฐฯ ที่ถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตอยู่ที่ 10.22% ต่อปี (CAGR 2022-2027) ด้วยการเติบโตระดับนี้จึงทำให้จีนจะสามารถแซงหน้าสหรัฐฯได้ในปี 2027 เพราะรายได้ของสหรัฐในตลาด Smart Home จะอยู่ที่ 52.19 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (น้อยกว่าจีน 2.44 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) และจะถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของอุตสาหกรรม Smart Home โลกเลยทีเดียว

โดยการที่เทคโนโลยีของจีนได้เติบโตขึ้นมาอย่างก้าวกระโดด นั้น มีสาเหตุมาจากการที่รัฐบาลจีนได้ส่งเสริมด้านเทคโนโลยีอย่างเข้มงวด เพื่อเป้าหมายคือการเป็นเบอร์หนึ่งของโลกในด้านเทคโนโลยี โดยที่รัฐบาลจีนอาศัยการขับเคลื่อนทั้งจากภาครัฐและเอกชนไปพร้อม ๆ กัน ทั้งส่งเสริมการสร้างเทคโนโลยีในประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขัน สนับสนุนการศึกษา การเฟ้นหาบุคลากรและการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ สู่การเป็นผู้นำเทคโนโลยีระดับโลกภายในปี 2035 และเป้าหมายนี้ของจีนดูจะไม่ไกลเกินเอื้อม ดูได้จากปี 2020 ที่ผ่านมา มูลค่าราคาตลาด (Market Capitalization) ของบริษัทเทคโนโลยีจากจีนมีสัดส่วนสูงถึง 33% เมื่อเทียบกับบริษัทเทคโนโลยีทั้งโลก (source : Hang Seng Index Company, HKEX)

ความท้าทายของตลาด Smart Home
หันมามองอุตสาหกรรม Smart Home ของประเทศไทย เราจะเห็นว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ทั้งโลกและในประเทศไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่อุตสาหกรรมนี้ยังมีความท้าทายที่รออยู่ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเทคโนโลยีที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และต้องให้ความสำคัญกับความเข้ากันได้ระหว่างอุปกรณ์ต่าง ๆ ของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ทำให้ในปัจจุบันอุปกรณ์ Smart Home จะรองรับการใช้งานเพียงไม่กี่ระบบ อย่างเช่น Google Assistant, Amazon Alexa หรือ Homekit

ซึ่งความหวังของตลาด Smart Home โดยเฉพาะใน Segment อุปกรณ์สำหรับเชื่อมต่อและควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน คือการนำมาตรฐานใหม่อย่าง Matter ที่เริ่มมีการศึกษาตั้งแต่ปี 2019 และยังอยู่ระหว่างการพัฒนามาใช้ ซึ่งหากทำสำเร็จก็จะทำให้เกิดเป็นมาตรฐานกลางที่อุปกรณ์ Smart Home ทุกแบรนด์สามารถใช้ร่วมกับอุปกรณ์ของแบรนด์อื่นๆ ได้ทั้งหมด

แน่นอนว่าหากมาตรฐานนี้สำเร็จก็จะทำให้เกิดโอกาสสำหรับแบรนด์ใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเจาะตลาดมากขึ้น โดยปัจจุบันยังมีอุปกรณ์ Smart Home ที่รองรับมาตรฐานทั้งหมดเพียงไม่กี่ชนิด แต่ในอนาคตหากทุกอุปกรณ์ใช้งานมาตรฐาน Matter ทั่วโลก ก็จะทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้ออุปกรณ์ของแบรนด์ใดก็ได้บนโลก
.
ขณะเดียวกันอีกหนึ่งอุปสรรคคือ การเข้าถึงเครือข่าย 5G ทั่วโลกที่จะส่งผลต่อความสามารถของอุปกรณ์ Smart Home โดยที่เทคโนโลยีไร้สายรุ่นที่ 5 จะทำให้อุปกรณ์เหล่านี้เข้าถึงความเร็วได้เร็วกว่าเครือข่าย 4G ปัจจุบันได้ 10-50 เท่า ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะทำให้การรับส่งข้อมูล และส่งคำสั่งระหว่างอุปกรณ์ Smart Home เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น เสถียรมากขึ้น และสามารถเชื่อมต่อแอปพลิเคชันที่ต้องใช้ข้อมูลมากยิ่งขึ้นได้

ดังนั้น หากเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของประเทศที่มีความพร้อมมากกว่าก็จะทำให้ตลาด Smart Home เติบโตได้ดีมากกว่า ประกอบกับความสมบูรณ์ของมาตรฐาน Matter ที่กำลังจะเกิดขึ้นก็จะทำให้อุปกรณ์ Smart Home สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

3 ปัจจัยขับเคลื่อนอุตสาหกรรม Smart Home ไทย
สำหรับ 3 ปัจจัยสำคัญที่ Business+ มองว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของตลาด Smart Home ในประเทศไทย ได้แก่
– ความต้องการสำหรับระบบรักษาความปลอดภัย และระบบเฝ้าระวังอัจฉริยะที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้าน Security
– ความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับโซลูชั่นที่เน้นการปล่อยคาร์บอนต่ำและประหยัดพลังงาน ซึ่งจะทำให้ Segment ในส่วนของ Control & Connectivity เติบโตขึ้น เพราะระบบที่สามารถเชื่อมต่ออย่างอัจฉริยะจะทำให้สามารถประหยัดไฟฟ้าในพื้นที่ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าได้
– โครงสร้างสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะผลดีต่ออุปกรณ์ Control & Connectivity รวมไปถึง Smart Appliances ซึ่งเป็น 2 Segment ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุได้มากยิ่งขึ้น

ซึ่งต้องนำ 3 ปัจจัยนี้มาวิเคราะห์ร่วมกับกลุ่มลูกค้า โดยในระดับโลกแล้วนั้น เราพบการศึกษาจาก PwC บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกว่า ผู้บริโภค Millennials หรือ Gen Y เป็นกลุ่มที่ให้การตอบรับกับเทคโนโลยี Smart Home เป็นอย่างดีแต่ยังเป็นกลุ่มที่ไม่มีกำลังซื้อมากพอ จึงทำให้กลุ่มลูกค้าหลักกลายเป็นผู้บริโภค “กลุ่มวัยกลางคน” (อายุระหว่าง 30 ถึง 49 ปี) เป็นเพศชาย ส่วนใหญ่แต่งงานและมีบุตร มีรายได้สูง ซึ่งจะมีนิสัยชื่นชอบการใช้เทคโนโลยี และไม่มีเวลาในการจัดการดูแลบ้าน

ส่วนกลุ่มที่ปฏิเสธการใช้ Smart Home ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 50 ถึง 64 ปีขึ้นไป เป็นเพศหญิง ไม่มีเด็กในบ้าน มีความลังเลที่จะใช้เทคโนโลยี หรือมีรายได้ต่ำ และมีเวลาในการดูแลบ้านด้วยตนเอง

โดยสินค้า Smart Home ที่ปัจจุบันผู้บริโภคเลือกใช้คือ กลุ่ม สมาร์ทไลท์ (Smart lights) และกล้องวงจรปิด รวมไปถึงอุปกรณ์เกี่ยวกับความปลอดภัย และอุปกรณ์ที่สามารถใช้เซนเซอร์ในการควบคุมได้ เพราะเป็นสินค้าในกลุ่มที่ราคาไม่แพง และมีคุณภาพสูง ขณะที่ A.T. Kearney ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการชั้นนำระดับโลก เปิดเผยว่า Smart home ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ใน 2 หมวดหลักๆ คืออุปกรณ์ที่เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต และอุปกรณ์ที่ตอบสนองความต้องการด้านความปลอดภัย

ที่มา : Statista

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

#Businessplus #Business #นิตยสารBusinessplus #SmartHome #บ้านอิจฉริยะ