เติมทักษะแกร่ง ถ้าไม่อยากพลาดโอกาสในการทำงาน

ตลาดแรงงานทั่วโลกยังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และความท้าทายของนักศึกษา ปี 2566 นี้ คือ การฝึกฝนหาทักษะแกร่ง เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงานมากขึ้น หลังนายจ้างจะมองถึง “ทักษะ” เป็นอันดับแรกในการรับเข้าทำงาน

ปัจจุบันการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการดำเนินงานของธุรกิจมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลง ชนิดที่เรียกว่าสามารถพลิกกระดานได้อยู่ตลอดเวลา ทำให้เรื่องกลยุทธ์ด้านการบริหารจัดการต่าง ๆ ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปด้วย

 

เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเงื่อนไขรอบตัวต่าง ๆ มีการพัฒนาก้าวกระโดด ประกอบกับการที่เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง ทุกองค์กรมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมความพร้อมในการแข่งขัน ด้วยการคัดสรร พัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถ นั่นหมายความว่า “คนเป็นปัจจัยหลักที่จะผลักดันให้การดำเนินธุรกิจประสบความสำเร็จ”

 

นี่คือคำกล่าวที่เรียกได้ว่าเป็นบทสรุปที่ชัดเจนที่สุดที่สะท้อนถึงสถานการณ์การบริหารทรัพยากรบุคคลในยุคปัจจุบัน เพราะคนคือทรัพยากรสำคัญอันทรงคุณค่าที่สุดในการสร้างสรรค์แนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค เพื่อให้สอดคล้องกับแผนนโยบายการพัฒนาชาติ

 

ทุกอาชีพต้องเจอ แล้วเราจะทำอย่างไร ?
ปฎิเสธไม่ได้ว่า ยุคนี้จะมีคนจำนวนมากที่ถูกหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ในการทำงาน หลาย ๆ อาชีพจะหมดไป ตัวอย่างเช่น อาลีบาบา (Alibaba) พัฒนาและทดลองระบบสมองกล Artificial Intelligence (AI) ในวงการแพทย์ โดยให้ AI ศึกษากรณีของโรคต่าง ๆ ทั่วโลกมากกว่า 2 ล้านราย เพื่อดำเนินการให้คำปรึกษาและวินิจฉัยทางการแพทย์ที่มีความแม่นยำสูง หรือตอนนี้มีการพัฒนาโดยให้สมองกล (AI) วิเคราะห์กองทุนที่น่าสนใจและมีโอกาสรับผลตอบแทนในประเทศสหรัฐอเมริกา

 

McKinsey ออกมาเปิดเผยผลการศึกษาว่าภายในปี 2030 หุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์มากถึง 800 ล้านตำแหน่งทั่วโลก โดยเฉพาะสายงานด้านการผลิต-ประกอบเครื่องจักรต่าง ๆ ในโรงงาน

 

เนื่องจากสามารถให้ผลผลิตในจำนวนที่มากกว่า เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับคน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันหุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทในโลกการทำงานมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าหุ่นยนต์จะสามารถทำงานแทนมนุษย์เราได้ทั้งหมด เพราะมีทักษะอีกหลายอย่างที่เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ยังไม่สามารถทำได้ดีในระดับเทียบเท่า แม้การพัฒนาของเทคโนโลยีจะมีความก้าวหน้ามากขึ้นก็ตาม

 

เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้เราเห็นว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทุกวินาที เราในฐานะมนุษย์ถึงเวลาแล้วที่ต้องเพิ่มศักยภาพและใช้นวัตกรรม เพื่อต่อยอดการดำเนินธุรกิจและความมั่นคงในอาชีพให้เกิดประสิทธิภาพสูง

 

ในฐานะที่ฟลุ๊ค คลุกคลีในแวดวงการศึกษา ดูแลโรงเรียนนานาชาติ BROMSGROVE INTERNATIONAL SCHOOL Thailand มาก่อน อยากแนะนำว่า “โลกหมุนรอบตัวเอง 24 ชั่วโมง เช่นเดียวกับโลกธุรกิจ มีการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ วินาที”

 

ประเด็นนี้ชี้ให้เห็นว่า ความเร็วของการเปลี่ยนแปลงไม่ได้คงที่ หรือมีช่วงเวลาให้ได้ตั้งหลักเหมือนโลกยุคก่อน ดังนั้นทุกคนต้องพร้อม และตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วอย่างยิ่งยวดและคาดไม่ถึง

แล้วคำถามคือ เราต้องเตรียมตัวอย่างไร?
ฟลุุ๊คขอแชร์เนื้อหาที่ชื่นชอบจากคำพูดของ Ryan Roslansky CEO จาก LinkedIn ที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า แม้ว่าปริญญาในระดับวิทยาลัยจะเป็นใบเบิกทางขั้นแรกในการก้าวเข้าสู่องค์กรมาอย่างเนิ่นนาน แต่ในขณะเดียวกันบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาหลายแห่งในตอนนี้ อาทิ Google, EY, Microsoft หรือแม้แต่  Apple ได้มีการจ้างงานแบบ Skills-over-degree หรือคนที่มีทักษะสูงเป็นจำนวนมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นั่นเพราะองค์กรชั้นนำเหล่านี้มองเห็นถึงลักษณะการจ้างงานที่ “เน้นทักษะ” มากขึ้น เพื่อตอบโจทย์การทำงานขององค์กรที่ยืดหยุ่นตลอดเวลานั่นเอง

 

ฟลุ๊คว่า คำพูดของ Ryan มีจุดที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่ว่า “เมื่อยุคสมัยของนายจ้างเปลี่ยนไปในทิศทางเน้นการทำงานที่เกิดขึ้นจากทักษะของลูกจ้างมากขึ้น นั่นแสดงให้เห็นว่า นายจ้างมองไปที่ Output หรือ Outcome จากการทำงานของพนักงานมากขึ้น

 

ดังนั้นพนักงานรุ่นใหม่ ๆ โดยเฉพาะ Gen Z น้องใหม่มาแรงที่กำลังทยอยเข้าสู่ตลาดแรงงานยุคใหม่ แน่นอนว่าองค์กรต้องสำรวจความคิด ปรับกลยุทธ์ ปรับการทำงาน และจัดฝึกอบรมทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการของคนกลุ่มนี้ เพื่อให้คนรุ่นใหม่และองค์กรสามารถช่วยผลักดันซึ่งกันและกันให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

หากเราพิจารณาว่าทักษะใดที่จำเป็น กลุ่มคนใดบ้างที่มีทักษะเหล่านั้น เราก็จะสามารถช่วยเพิ่มทักษะ 2-3 ทักษะเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถทำงานได้ และท้ายที่สุด องค์กรก็จะได้คนที่มีทักษะช่วยในการดำเนินธุรกิจ ส่วนพนักงานก็จะได้ทั้งทักษะและงานเพื่อสร้างรายได้ หลังจากนั้นเราจะพบว่า ตัวเองอยู่ในตลาดแรงงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ฟลุ๊คเชื่อว่า ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทิศทางของการเรียนเพื่อให้ได้ทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการ หรือหากเข้าไปทำงานแล้ว ทุกคนก็ต้องปรับตัวเพื่อรองรับความคาดหวังขององค์กรที่เปลี่ยนไปเช่นกัน

เขียนและเรียบเรียง : คุณกาญจนา ภวัครานนท์ ลูกสาวผู้ก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติ BROMSGROVE INTERNATIONAL SCHOOL Thailand
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ทักษะ #ทักษะในการทำงาน #skills