Silver Gen

เจาะ 5 เทรนด์ธุรกิจมาแรง รับ ‘กลุ่มสูงวัย’ อีก 7 ปี Silver Economy แตะ 2.6 ล้านล้าน

Silver Generation หรือ Silver Gen เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่ม ‘ผู้สูงอายุ’ มาจากลักษณะสีผมของคนกลุ่มนี้ที่เริ่มเปลี่ยนเป็นสีเงิน ในปัจจุบันกลุ่มสูงวัยไม่ใช่เรื่องใหม่และไกลตัวอีกต่อไป ด้วยหลายประเทศเริ่มมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น สวนทางอัตราการเกิดที่น้อยลง โดยในปี 2565 ระดับการเกิดของประชากรโลก อยู่ที่ราว 134 ล้านคน ลดลง 6.6% เมื่อเทียบกับปี 2556 แม้ทางภาครัฐจะมีการออกนโยบายกระตุ้นแล้วก็ตาม อาทิ เพิ่มเงินอุดหนุนและสวัสดิการต่าง ๆ ซึ่งองค์กรสหประชาชาติ ได้ประเมินอายุคาดเฉลี่ย (Life Expectancy) ของคนทั่วโลกในปี 2565 อยู่ ที่ราว 71.7 ปี และคาดว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า หรือในปี 2595 อายุขัยเฉลี่ยของคนทั่วโลกจะอยู่ที่ 77.6 ปี

ล่าสุด ‘เศรษฐกิจสูงวัย’ หรือ Silver Economy ทั่วโลกมีมูลค่าราว 26.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 880-900 ล้านล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจโลก โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในปี 2573 ตลาด Silver Gen ของไทย จะมีมูลค่าอยู่ที่ราว 2.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 12% ของมูลค่าเศรษฐกิจไทย

สำหรับบ้านเราได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) มาตั้งแต่ปี 2545 และขยับขึ้นเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์เมื่อปี 2564 และอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ไทยก็จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด หรือ Super-Aged Society ในปี 2572 ซึ่งนี่ถือเป็นโจทย์ที่ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่อัตราการเกิดน้อยลง ก็จะส่งผลให้คนวัยทำงานลดลง และในระยะยาวก็จะทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งก็จะส่งผลกระทบไปหลายไปมิติ อย่าง เรื่องเศรษฐกิจที่อาจเกิดการชะลอการเติบโต เป็นต้น

แต่ทั้งนี้หากดูในแง่ของภาคธุรกิจของกลุ่มสูงวัยช่องทางการเติบโตยังมีอีกมาก ด้วยปัจจุบันธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มสูงวัยยังมีจำกัด และการตอบโจทย์ยังไม่ครอบคลุมความต้องการ ซึ่งกลุ่มคนสูงวัยมักต้องการความคุ้มค่า ความมีคุณภาพ และความน่าเชื่อ รวมถึงความแปลกใหม่ โดยไม่เกี่ยงในเรื่องค่าใช้จ่าย นั่นเป็นเพราะว่า ส่วนใหญ่เป็นวัยเกษียณที่มีความมั่งคั่ง และในอนาคตคนกลุ่มสูงวัยก็จะมีบทบาทในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น โดยถือเป็นข้อได้เปรียบของผู้ประกอบการที่เริ่มต้นเจาะตลาดกลุ่มสูงวัยตั้งแต่แรกเริ่ม

ซึ่ง ‘Business+’ จะพามาดู 5 เทรนด์ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย ดังนี้

1.อาหารสำหรับผู้สูงอายุ เช่น ธุรกิจผลิตอาหาร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร : เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ร่างกายจะมีการเผาผลาญลดลง แต่คนในวัยนี้ต้องการสารอาหารที่มีคุณภาพสูง อย่างโปรตีนเพื่อลดการเสียมวลกล้ามเนื้อ และความต้องการรักษาการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย อาหารเสริมจึงถือเป็นสิ่งที่ผู้สูงวัยให้ความสนใจมากที่สุดด้วยครอบคลุมทุกความต้องการดูแลสุขภาพ ทั้งนี้อ้างอิงข้อมูลจาก EuroMonitor ระบุว่า ในปี 2566 อุตสาหกรรมเสริมอาหารในไทยมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 87,000 ล้านบาท

2.การท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ ทั้งบริการนำเที่ยว และโรงแรม : กลุ่มคนสูงวัยต้องการความสะดวกสบายในการท่องเที่ยว ความสุนทรีย์ในการพักผ่อน โดยไม่เกี่ยงในเรื่องของค่าใช้จ่าย เนื่องจากมีข้อจำกัดในด้านสุขภาพ ซึ่งแนวโน้มของกลุ่มอุตสาหกรรมนี้จะเติบโตอีกมากในอนาคต โดยไทยถือเป็นประเทศที่ผู้เกษียณอายุทั่วโลกต้องการมาใช้ชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลก และ อันดับ 1 ของเอเชีย จากการจัดทำดัชนีประเทศน่าอยู่หลังเกษียณประจำปี 2566 (2023 Annual Global Retirement Index) ของ International Living

3.การดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive Medicine) : การนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการแพทย์ที่ทันสมัย มาช่วยดูแลในเรื่องสุขภาพ และชะลอวัย ซึ่งในปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างมาก สังเกตได้จากคลินิกความสวยความงามที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งนี้จากข้อมูลของ Future Market Insights ประเมินว่า มูลค่าตลาดการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันทั่วโลก จะแตะระดับ 886.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 31 ล้านล้านบาท ในปี 2576

4.ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ : กลุ่มคนสูงวัยมักยึดติดกับการอยู่อาศัยในบ้านหลังเดิมจึงมักมีการปรับปรุงบ้านอยู่เสมอ เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต อย่างเช่น การติดตั้งราวเหล็ก จึงนับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการออกแบบที่อยู่อาศัย ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจ Wellness Residence ได้ สำหรับกลุ่มเป้าหมายไม่ได้มีเพียงแค่คนไทย แต่ยังมีชาวต่างชาติที่ต้องการมาเกษียณอายุที่ไทยด้วย

5.บริการทางการเงินเพื่อผู้สูงอายุ ทั้งการให้คำปรึกษาและผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ : ปัจจุบันกลุ่มผู้สูงอายุมักจะนำเงินออมส่วนใหญ่ไปจัดสรรอยู่ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเป็นหลัก เช่น ประกันออมทรัพย์/สุขภาพ และดอกเบี้ยเงินฝากประจำ เพื่อเก็บไว้สำหรับการเกษียณอายุ

สำหรับทั้ง 5 เทรนด์ธุรกิจที่นำมาเสนอนี้มีแนวโน้มเติบโตสูงในอนาคตหากไทยและทั่วโลกเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ แต่ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันธุรกิจที่ตอบโจทย์สังคมสูงวัยอาจจะยังไม่เพียงพอ อย่างในเรื่องการบริการ ความแปลกใหม่ของสินค้า ซึ่งก็ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่ต้องการต่อยอดธุรกิจเดิมมาเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่อย่าง Silver Gen ที่ในข้างหน้าจะมีบทบาทกับระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

.

ที่มา : Krungthai COMPASS

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #SilverGen #SilverGeneration #สังคมสูงวัย #เศรษฐกิจสูงวัย #AgingSociety #AgedSociety #SuperAgedSociety #ผู้สูงอายุ