เช็คด่วน! เสพติดช้อปปิ้งจนเป็นโรค ‘Shopaholic’ หรือเปล่า?

คนเราทุกคนต่างก็มีเรื่องเครียดเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียน, การทำงาน, ความรัก, ครอบครัว หรือเรื่องเงิน ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีจัดการกับความเครียดในรูปแบบที่แตกต่างกันไป โดยบางคนอาจจะเลือกการท่องเที่ยวเพื่อให้ร่างกายและจิตใจได้พัก หรือบางคนก็อาจจะเลือกทำกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบ เช่น การออกกำลังกาย, ร้องเพลง, ฟังเพลง, อ่านหนังสือ, เล่นกับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ในขณะที่บางคนก็เลือกที่จะ ‘ช้อปปิ้ง’ เพื่อเป็นการระบายความเครียดผ่านการซื้อของต่าง ๆ ที่คนเองชื่นชอบ ซึ่งหากเป็นแค่นาน ๆ ครั้ง ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร แต่รู้หรือไม่ว่าหากคุณใข้วิธีช้อปปิ้งเป็นวิธีแก้เครียดบ่อย ๆ อาจจะส่งผลให้คุณเป็นโรค ‘Shopaholic’ ได้ โดยในวันนี้ Business+ จะพาไปรู้จักกับโรคนี้ รวมถึงเช็คลิสต์อาการที่บ่งบอกว่ากำลังเสี่ยงเป็นโรคนี้หรือไม่ และควรแก้ไขอย่างไร

 

รู้จักโรค ‘Shopaholic’

ข้อมูลจาก ‘โรงพยาบาลเพชรเวช’ ได้ให้คำนิถามถึงโรค ‘Shopaholic’ หรือโรค ‘เสพติดการช้อปปิ้ง’ ไว้ว่าเป็นโรคทางจิตชนิดหนึ่ง ใช้เรียกบุคคลที่มีการใช้จ่ายเงินในการซื้อของ หรือ ‘ช้อปปิ้งเกินตัว’ จนทำให้เกิดปัญหาตามมา โดยคนในกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมชอบช้อปปิ้งเป็นชีวิตจิตใจ และรู้สึกดีทุกครั้งที่ได้จับจ่ายซื้อของ โดยไม่คำนึงถึงความจำเป็น อีกทั้งยังรู้สึกอ่อนไหวง่ายกับเรื่องช้อปปิ้ง และหมกมุ่นกับการช้อปปิ้ง อาทิเช่น เมื่อเห็นของลดราคา คนกลุ่มนี้จะสวมวิญญาณสัตว์ล่าเนื้อวิ่งเข้าตะครุบเหยื่อทันที ซึ่งการกระทำดังกล่าวมักส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้สิน ไปจนถึงปัญหาครอบครัว โดยพบว่าผู้หญิงมักเสี่ยงต่อพฤติกรรมดังกล่าวได้มากกว่าผู้ชาย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายจะไม่เป็นโรคนี้ เพราะผู้ชายเองก็มีสิ่งเร้าเช่นเดียวกัน

 

ส่วนสาเหตุของโรค ‘Shopaholic’ นั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะมาจากตัวบุคคลเอง หรือจากสิ่งเร้าภายนอก เช่น

 

– ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โดยผู้ป่วยอาจมีความวิตกกังวล เกิดภาวะเครียดจึงต้องช้อปปิ้งเพื่อคลายเครียด หรือหาทางระบายอารมณ์ด้วยการช้อปปิ้ง

 

– ไม่มีความภาคภูมิใจในตนเอง ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจต้องการสร้างตัวตนเพื่อให้เกิดการยอมรับในการเข้าสังคม เช่น การแต่งตัวตามแฟชั่นเพื่อให้ตัวเองดูด, ซื้อกระเป๋าแบรนด์เนม หรือซื้อเสื้อผ้าราคาแพงเพื่อให้เหนือกว่าคนอื่น เป็นต้น

 

– สื่อโฆษณา การได้เห็นสินค้าที่สนใจบ่อยครั้งในอินเทอร์เน็ต หรือเห็นรีวิวตามช่องทางต่าง ๆ อาจทำให้เกิดความอยากได้ และตัดสินใจซื้อในที่สุด

 

– ความสะดวกในการซื้อ ปัจจุบันมีเว็บไซต์และแอปพลิเคชันช้อปปิ้งออนไลน์มากมาย ทำให้เอื้ออำนวยต่อการซื้อ ซึ่งผลจากความสะดวกสบายในการซื้อนี้ อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการเสพติดช้อปปิ้งได้

 

หลังจากทำความรู้จักและทราบถึงสาเหตุของโรคกันไปแล้ว ทีนี้ก็ถึงเวลาเช็คว่ากำลังเสี่ยงเป็นโรค ‘Shopaholic’ หรือไม่ โดยสามารถสังเกตอาการได้จากพฤติกรรมดังต่อไปนี้

– ซื้อของเป็นประจำทุกวัน หรือทุกสัปดาห์

 

– คิดว่าการช้อปปิ้งคือกิจกรรมคลายเครียด และมีความรู้สึกตื่นเต้น หรือมีความสุขอย่างมากหลังได้ช้อปปิ้ง

 

– ใช้บัตรเครดิตเต็มวงเงิน และเปิดใบใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ โดยไม่ได้ชำระหนี้ของบัตรใบเก่า

 

– ซื้อของโดยไม่คำนึงถึงความจำเป็น จึงทำให้มีของที่ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้

 

– แม้จะรู้สึกผิดหลังได้ช้อปปิ้ง แต่จะยังคงทำต่อไป เพราะไม่สามารถควบคุม และยับยั้งพฤติกรรมการช้อปปิ้งของตนเองได้

 

– โกหก หรือลักขโมยเพื่อให้ได้ช้อปปิ้งต่อ

 

สำหรับผลกระทบที่เกิดจากโรค ‘Shopaholic’ ก็มาจากพฤติกรรมการที่ใช้จ่ายที่เกินตัวอย่างสม่ำเสมอ อาทิ

 

– ช้อปสนุกแต่ทุกข์เมื่อต้องจ่าย พฤติกรรมเสพติดการช้อปปิ้งที่เกินตัวอาจทำให้เกิดการหยิบยืม หรือกู้ยืมเงินเพื่อมาจ่ายค่าสิ่งของที่ซื้อไป ส่งผลให้เกิดภาระหนี้สินเพิ่มพูนมากขึ้น

 

– ปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด เพราะต้องโกหกว่าของที่ซื้อมานั้นมีคนให้มา หรือซื้อในราคาที่ถูกกว่าความเป็นจริง เมื่อคนใกล้ชิดรู้ความจริงอาจส่งผลให้สูญเสียความเชื่อใจจากคนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิด

 

– สุขภาพจิตเสื่อม หากมีหนี้สินแล้วไม่สามารถจัดการกับหนี้สินได้ ย่อมส่งผลให้เกิดภาวะเครียด ซึมเศร้า เมื่อหาทางออกของปัญหาไม่ได้อาจถึงขั้นก่อเหตุอาชญากรรม ซึ่งนำไปสู่การจับกุมและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

 

อย่างไรก็ดี ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางรักษา ‘Shopaholic’ ซะทีเดียว โดยสามารถแก้นิสัยได้ ดังนี้

 

– คำนึงถึงความจำเป็น ก่อนจะซื้ออะไรควรคิดถึงว่าซื้อแล้วได้ใช้หรือไม่ และต้องมั่นใจว่าไม่ได้ซื้อของซ้ำ ไม่ซื้อของตามความอยากได้ของตัวเอง

 

– ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ช่วยวางแผนการใช้จ่ายเงิน และยังเป็นการสร้างวินัยทางการเงินให้กับตัวเองอีกด้วย

 

– จัดการอารมณ์ตนเอง ปรับเปลี่ยนทัศนคติ ปรับการรับรู้ และจัดการอารมณ์เพื่อรู้เท่าทันภาวะอารมณ์ของตนเอง

 

อย่างไรก็ตาม ‘Shopaholic’ เป็นภาวะทางจิตที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากพบว่าตนเอง หรือคนใกล้ตัวมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็น Shopaholic ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม และเพื่อป้องกันอาการรุนแรง หรือผลกระทบอื่น ๆ ที่อาจตามมา

 

ที่มา : โรงพยาบาลเพชรเวช

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #Shopaholic #โรคShopaholic #โรคเสพติดการช้อปปิ้ง #ช้อปปิ้ง #ช็อปปิ้ง #Shopping