ปัจจุบัน มีร้านอาหารญี่ปุ่นจำนวนมากเปิดใหม่ในแต่ละปี ทำให้สภาพการแข่งขันในตลาดเรียกได้ว่าดุเดือดอย่างมาก แต่รู้หรือไม่ว่า มีเชนร้านอาหารญี่ปุ่นแห่งหนึ่งที่เปิดมาเป็น 10 ปีแล้ว และยังคงยืนหยัดอยู่ในตลาดได้ แถมยังสามารถทำรายได้ในปี 2567 ไปได้ถึง 2,100 ล้านบาท จากการขายซูชิเริ่มต้นเพียงคำละ 10 บาท ไปจนถึงอาหารชุดราคาประมาณ 200 – 500 บาท โดยเชนร้านอาหารดังกล่าวก็คือ “Shinkanzen Sushi”
หลาย ๆ คนน่าจะรู้อยู่แล้วว่าจุดเริ่มต้นของร้านอาหารญี่ปุ่นแห่งนี้มาจากการที่คุณศุภณัฐ สัจจะรัตนกุล และคุณชนวีร์ หอมเตย ต้องการเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นบริเวณใกล้ ๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมัยที่ทั้งสองยังเป็นนักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี Shinkanzen Sushi สาขาแรกจึงได้ถือกำเนิดขึ้นมาในปี 2557
ในช่วงที่ร้านเปิดนั้น ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นยังไม่ค่อยบูมในไทยเท่าไรนัก ในขณะที่ร้านอาหารญี่ปุ่นส่วนใหญ่ตอนนั้นก็จะราคาแพง ทางชินคันเซ็นจึงวางโพสิชันตัวเองเข้าไปเล่นในตลาด Mass ที่ขายอาหารญี่ปุ่นในราคาไม่แพง สามารถกินได้ทุกวัน ซึ่งก็สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักในตอนนั้นซึ่งก็คือกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยด้วย
เมนูของร้านในช่วงเริ่มต้นยังมีไม่เยอะและก็จะเป็นอาหารญี่ปุ่นที่ทำได้ไม่ยากนัก ยกอย่างเช่น ซาชิมิ ซูชิ และโรลข้าว โดยเมนูจุดเด่นของร้านก็จะเป็นซูชิที่มีราคาเริ่มต้นเพียง 10 บาท เท่านั้น ซึ่งด้วยความที่ในช่วงนั้นยังไม่ค่อยมีร้านอาหารญี่ปุ่นไหนที่ขายราคาถูกขนาดนี้ ร้าน Shinkanzen Sushi จึงได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะจากนักศึกษาในระแวกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต
ถึงแม้ร้านจะได้รับความนิยม แต่การเปิดข้างมหาวิทยาลัยก็มีจุดอ่อนตรงที่เมื่อนักศึกษาปิดเทอม ร้านก็จะขาดแคลนรายได้ไปทันที ในขณะที่การขายในราคาถูกจะทำให้อัตรากำไรบาง จึงต้องเน้นขายให้ได้ในปริมาณมาก ๆ ด้วยเหตุนี้ทางเจ้าของจึงตัดสินใจขยายร้านเข้ามาในเมือง โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือพนักงานออฟฟิศที่เพิ่งเริ่มทำงาน ที่มีกำลังจ่ายไม่สูงมากนัก
ซึ่งแน่นอนว่าการขยายสาขาก็มีข้อดีข้อเสียที่ตามมา โดยข้อดีก็อย่างเช่น พอสาขาเยอะขึ้น ร้านก็จะสามารถมีการประหยัดต่อขนาดมากขึ้น และยังสามารถเก็บข้อมูล data ลูกค้าเพื่อนำมาต่อยอดต่อไปได้ แต่ขณะที่ข้อเสียหรือความท้าทายก็จะมีการที่จะต้องตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมถึงการปรับเปลี่ยนการบริหารเป็นการดูภาพรวม และการควบคุมต้นทุนในหลาย ๆ ด้านที่มีความยากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ร้าน Shinkanzen Sushi ภายใต้บริษัทเดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป ก็สามารถต่อยอดความสำเร็จจากร้านแห่งแรกข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนสามารถขยายสาขาได้ต่อเนื่องโดยที่ไม่ใช้ระบบแฟรนไชส์ โดยบริษัทได้ก่อตั้งครัวกลางขึ้นมาเพื่อรักษาคุณภาพอาหารให้คงที่ในทุก ๆ สาขา และมีการวิจัยและพัฒนาเมนูใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคเสมอ จนมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของบริษัทคือวันที่ “เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป” หรือ CRG เข้ามาซื้อกิจการ
ในปี 2565 CRG ตัดสินใจลงทุนเป็นจำนวน 520 ล้านบาท เพื่อแลกกับการถือหุ้น 51% ของเดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป ซึ่งขณะนั้นมีกิจการคือ Shinkanzen Sushi และ Senma Sushi หมายความว่า CRG มองว่า บริษัทมีมูลค่าประมาณ 1,020 ล้านบาท
พอหลังจากได้ CRG เข้ามาร่วมทุน บริษัทเดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป ก็ได้ขยายกิจการเปิดไลน์ร้านอาหารใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อจับกลุ่มผู้บริโภคที่แตกต่างกัน ท่ามกลางการแข่งขันตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นที่ดุเดือด โดยปัจจุบัน บริษัทมีร้านในเครือ ได้แก่
– Shinkanzen Sushi ร้านอาหารญี่ปุ่นราคาไม่แพงเน้นลูกค้ากลุ่มนักเรียนนักศึกษาและคนทำงาน จำนวน 58 สาขา
– นักล่าหมูกระทะ หมูกระทะราคาไม่แรง เน้นกลุ่มที่กำลังจ่ายไม่สูง จำนวน 14 สาขา
– NAMA Japanese and Seafood Buffet บุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่นและซีฟูด เน้นกลุ่มลูกค้าพรีเมียม จำนวน 1 สาขา
– Katsu Midori Sushi ร้านซูชิที่ซื้อสิทธิ์จากญี่ปุ่นมาเปิดในไทย เจาะตลาด Premium Mass จำนวน 1 สาขา
ทีนี้ลองมาดูรายได้และกำไรของบริษัทเดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป กันบ้าง
ปี 2565 รายได้ 797 ล้านบาท กำไร 64 ล้านบาท
ปี 2566 รายได้ 1,415 ล้านบาท กำไร 116 ล้านบาท
ปี 2567 รายได้ 2,100 ล้านบาท
ในขณะที่สัดส่วนรายได้ในปี 2567 จะประกอบไปด้วย
Shinkanzen Sushi มีรายได้คิดเป็น 75% ของรายได้รวม
นักล่าหมูกระทะ มีรายได้คิดเป็น 17% ของรายได้รวม
NAMA Japanese and Seafood Buffet มีรายได้คิดเป็น 5.5% ของรายได้รวม
Katsu Midori Sushi มีรายได้คิดเป็น 1% ของรายได้รวม
และรายได้อื่น ๆ คิดเป็น 1.5% ของรายได้รวม
ซึ่งถ้าเรานำเปอร์เซ็นต์รายได้เฉพาะของร้าน Shinkanzen Sushi มาคูณกับรายได้รวมแล้วหารกับจำนวนสาขาของทางร้านแล้ว เราก็จะได้ว่า Shinkanzen Sushi แต่ละสาขาสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทมากถึง 27 ล้านบาทต่อสาขาในปีที่แล้ว
กรณีศึกษาความสำเร็จของ Shinkanzen Sushi จึงถือว่าน่าสนใจ ในโลกธุรกิจ การมองเห็นช่องว่างในตลาดและรีบโดดเข้ามาเล่นก่อนคู่แข่งจะทำให้เรามีความได้เปรียบอย่างมาก แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะทำให้เราเป็นผู้ชนะตลอดไป เพราะก็มีหลายกรณีที่ผู้เล่นคนแรกแพ้คู่แข่งที่มาทีหลัง ดังนั้นการพัฒนาปัจจัยต่าง ๆ เพื่อต่อยอดความสำเร็จตั้งแต่วันแรกเพื่อนำหน้าคู่แข่ง ก็จะทำให้เรากลายเป็นผู้ชนะเสมอ
ที่มา: บริษัทเดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป, กรมธุรกิจการค้า
ผู้เขียนและเรียบเรียง: พรบวร จิรภัทร์วงศ์
ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS