หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่กระทบความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ที่พบการตกแต่งบัญชีและทุจริตทางการเงินก็ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์แหละตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มองหาแนวทางการกำกับที่รัดกุมขึ้น ซึ่งมีอยู่ 5 แนวทางที่ตลท.ได้หยิบขึ้นมานำเสนอกับนักลงทุน และเปิดรับฟังความคิดเห็น (Hearing) ซึ่งทั้ง 5 ข้อนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงจริง จะถือว่าเป็นการปรับหลักเกณฑ์กำกับดูแลครั้งใหญ่ของตลาดหุ้นไทยเลยทีเดียว
โดยเฉพาะกับหลักเกณฑ์การเข้าตลาดด้วยวิธี Backdoor Listing ซึ่งจะถูกปรับเปลี่ยนให้ต้องผ่านการพิจารณาในลักษณะเดียวกันกับการเข้าตลาดด้วยวิธีปกติ จากปัจจุบัน Backdoor Listing ไม่ต้องผ่านการพิจารณาของ ก.ล.ต.
โดยเนื้อหาฉบับเต็มนั้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ชี้แจงรายละเอียดว่า ในบริบทของการกำกับดูแลตลาดทุนไทยนั้น ตลท. มีบทบาทเป็น Frontline Regulator ซึ่งมีหน้าที่ดูแลให้การซื้อขายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นธรรม และโปร่งใส โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีกรณีที่เกี่ยวข้องกับฐานะของบริษัทจดทะเบียนและการซื้อขายจึงเป็นเหตุหนึ่งที่ตลท.ยกระดับการกำกับดูแล
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ตลท.อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์ซึ่งต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับผู้ลงทุน บริษัทจดทะเบียน บริษัทสมาชิก และผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงสภาพการณ์ในปัจจุบัน
ซึ่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดกรณีการตกแต่งงบการเงินและเปิดเผยข้อมูลอันเป็นเท็จของบริษัทจดทะเบียน ส่งผลกระทบต่อฐานะของบริษัทจดทะเบียนและสิทธิประโยชน์ของผู้ลงทุน และกรณีสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ส่งผลเสียหายต่อผู้ลงทุนและบริษัทสมาชิกในวงกว้าง จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุนหลายภาคส่วนได้มีการหารือและร่วมมือกันในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ แนวปฏิบ้ติ และการดำเนินการต่างๆ ของตน เพื่อยกระดับการกำกับดูแลให้เหมาะสมและเท่าทันกับเหตุการณ์ ซึ่งรวมถึงตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย
ทั้งนี้หากเจาะลึกลงในส่วนของการกำกับดูแลของ ตลท.ซึ่งเป็น Frontline Regulator ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการซื้อขายให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นธรรม และโปร่งใส 3 ด้าน คือ
Listing and Disclosure: รับบริษัทที่มีคุณสมบัติเหมาะสม กำกับดูแลให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลให้ถูกต้อง เพียงพอ และทันเวลา เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลอย่างเท่าเทียมในการประกอบการตัดสินใจลงทุน รวมทั้งดำเนินการเมื่อบริษัทไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด และเพิกถอนหากมีคุณสมบัติไม่เหมาะสม
Market Surveillance: ติดตามดูแลให้การซื้อขายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ป้องปรามและดำเนินการกับบริษัทสมาชิกหากพบการส่งคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสม และตรวจสอบเบื้องต้นกรณีที่อาจมีการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ก่อนส่งเรื่องให้กับสำนักงาน ก.ล.ต.พิจารณาดำเนินการต่อไป
Member Supervisor: การรับสมาชิก (โบรกเกอร์) ที่มีฐานะมั่นคงและมีความพร้อมในการประกอบธุรกิจ และตรวจสอบให้สมาชิกปฏิบัติตามเกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงดำเนินการเพิกถอนสมาชิกที่ขาดคุณสมบัติ
ซึ่ง นางสาวปวีณา ศรีโพธิ์ทอง รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกำกับตลาด ตลท.กล่าวในฐานะวิทยากรในโครงการอบรมความรู้เกี่ยวกับตลาดทุนไทยเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 ว่า ในการทำหน้าที่เป็น Frontline Regulator นั้น ตลท. ได้วางแนวทางการยกระดับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ทั้งในส่วนของบริษัทจดทะเบียนและการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งเหตุการณ์เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 เป็นเหตุที่ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนทั้งหมด อาทิ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. และบริษัทหลักทรัพย์ ต้องหันกลับมาพิจารณาว่า สิ่งที่กำกับดูแลอยู่เพียงพอหรือไม่ มีอะไรต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติม
ยกระดับการกำกับดูแลผ่าน 5 มิติ
ทั้งนี้ ตลท.อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น (Hearing) สำหรับการยกระดับเกณฑ์กำดับดูแล โดยการบังคับใช้จะพิจารณาจากความจำเป็นเร่งด่วนและสภาพการณ์ โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการ ดังต่อไปนี้
1. กระบวนการ Listing: ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะปรับคุณสมบัติบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนทั้ง SET และ mai หลังจากที่ได้ปรับเกณฑ์เข้า SET ไปครั้งล่าสุดในช่วงปลายปี 2548 ส่วนเกณฑ์เข้า mai ปรับไปเมื่อปี 2560 ประกอบกับมี LIVEx เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา จึงถึงเวลาที่ต้องกลับมาทบทวน
นอกจากนี้ จะปรับให้การเข้าจดทะเบียนไม่ว่าจะเป็น New Listing, Backdoor Listing รวมถึงการย้ายกลับมาซื้อขาย (Resume Trading) จากการเข้าเหตุที่อาจถูกเพิกถอน จะต้องผ่านการพิจารณาในลักษณะเดียวกัน จากปัจจุบัน Backdoor Listing ไม่ต้องผ่านการพิจารณาของ ก.ล.ต.
“สำหรับการปรับปรุงในส่วน New Listing เกณฑ์ของ mai กำไรสุทธิที่กำหนดเพียงปีเดียว ควรจะมีการพิจารณาด้วยระยะเวลาที่เพิ่มมากกว่านั้น โดยจะเพิ่มการพิจารณากำไรสุทธิรวม 2-3 ปี เพื่อให้เห็นความต่อเนื่องของความยั่งยืนของกำไร รวมถึงฐานะการเงินจากส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) ควรจะมากกว่าปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 50 ล้านบาท สำหรับ mai และ 300 ล้านบาท สำหรับ SET”
และในส่วนของทุนชำระแล้ว (Paid-up Capital) ซึ่งปัจจุบันบางธุรกิจอาจไม่จำเป็นต้องใช้ทุนจำนวนมาก ดังนั้นจึงอาจมีการปรับลด โดยเฉพาะใน SET ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น
รวมถึง การทบทวนเปอร์เซ็นต์ฟรีโฟลท โดยกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาว่าในตลาด mai ที่ฐานทุนค่อนข้างต่ำ ขนาดค่อนข้างเล็ก ควรจะเพิ่มสัดส่วนตรงนี้ จากเดิมที่กำหนดสัดส่วนฟรีโฟลทไว้ประมาณ 25% เพื่อให้มีจำนวนหรือปริมาณขั้นต่ำในจำนวนที่พอจะหมุนได้มากขึ้น
2. กระบวนการ Ongoing Obligations: ตลท.จะดูแลให้มีความเข้มงวดขึ้น แต่ไม่เป็นภาระกับบริษัทจดทะเบียนมากเกินไป โดยจะเพิ่มสัญญาณเตือนให้ผู้ลงทุนที่มากขึ้น จึงปรับปรุงเงื่อนไขการขึ้นเครื่องหมาย C บริษัทที่มีรายได้น้อย ขาดทุนติดต่อกันหลายปี ผิดนัดชำระหนี้ ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน และมีฟรีโฟลทน้อย
“สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่มีปัญหาฟรีโฟลทน้อยเป็นระยะเวลานาน ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้เกณฑ์กำกับในลักษณะที่เก็บค่าธรรมเนียมในอัตราที่เพิ่มขึ้นทุกปี แต่พบว่าไม่ค่อยมีความคืบหน้าในการแก้ปัญหา ในขณะที่บริษัทส่วนใหญ่จะแก้ได้ในช่วง 2 ปี ซึ่งปัจจุบัน บริษัทจดทะเบียนกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 20 บริษัท” ปวีณากล่าว
3. กระบวนการ Trade Surveillance: ตลท.ได้เพิ่มระบบตรวจจับการซื้อขายที่ผิดปกติ และอยู่ระหว่างการดำเนินการเพิ่มเติม โดยขณะนี้ ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) อยู่ระหว่างร่วมกันจัดตั้ง “Securities Bureau” เพื่อให้รู้ว่าสถานะของลูกค้าแต่ละคน เช่น วงเงินโดยรวมของทุกสมาชิก ซึ่งจะช่วยให้โบรกเกอร์สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงของตนได้ดีขึ้น
4. กระบวนการ Delisting: ตลท.จะเพิ่มเหตุในการถูกเพิกถอน และความเข้มงวดการกำกับดูแลบริษัทที่เข้าเหตุดังกล่าว
5. กระบวนการ Escalation to Public: ตลท. จะเพิ่มเหตุของการเตือนผู้ลงทุนด้วยเครื่องหมาย C (Caution) และอยู่ระหว่างพิจารณาเพิ่มเติมในการแยกเครื่องหมาย C ตามเหตุที่แตกต่างกันที่จะช่วยบ่งบอกถึงความเข้มข้น
สำหรับการกำกับซื้อขาย ปัจจุบัน ตลท.จะพยายามจะใช้มาตรการที่มีดีกรีจากอ่อนไปเข้ม เพราะการใช้ยาแรงตั้งแต่ต้นอาจจะไม่เหมาะ ซึ่งผู้ลงทุนน่าจะเห็นสัญญาณนี้จากการทำงานของ ตลท. เมื่อช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเคสหุ้นไอพีโอ หรือเคสที่มีความผิดปกติ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้วิธีการให้ข้อมูลกับผู้ลงทุน เพื่อให้ใช้ข้อมูลนั้นในการตัดสินใจซื้อขาย
อีกด้านหนึ่งคือ สัญญาณเตือนภัยที่เห็นจากข้อมูลบางอย่าง ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะให้บริษัทจดทะเบียนชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมกรณีมีข้อสงสัย และออกข่าวเตือนกรณีหุ้นมีการซื้อขายไม่ตรงตามสภาพปกติ ทั้งนี้เมื่อเดือนเมษายน 2565 ได้มีการปรับมาตรการกำกับการซื้อขายที่ผิดไปจากสภาพปกติ ซึ่งรวมถึงการหยุดพักการซื้อขายชั่วคราว (P – Pause) 1 วันทำการ ซึ่งหลังจากบังคับใช้ไปแล้วเห็นว่ามีประสิทธิภาพที่ดี จำนวนหลักทรัพย์ที่เข้ามาตรการลดลง
“ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังยกระดับการกำกับดูแลทั้งกระบวนการ เพราะฉะนั้นเวลาที่จะพิจารณาความเพียงพอของมาตรการ ไม่ได้ดูแค่เรื่องการสั่งหยุดพักการซื้อขายชั่วคราว 1 วันทำการ แค่เรื่องเดียว”
ที่มา : ก.ล.ต. , SET
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
#thebusinessplus #BusinessPlus #SET #ตลท #STARK #ตลาดหุ้น