stark

สรุป 6 เหตุการณ์สำคัญที่กระทบตลาดหุ้นไทย จนมูลค่าหายไป 3 หมื่นล้านบาท!

ตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปี 2566 ปรับลดลงมากถึง 16.49% ทำจุดต่ำสุดในรอบ 3 ปีนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งขณะนั้นดัชนีลงไปแตะจุดต่ำสุดที่ 969.08 จุด และเริ่มฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับ 1,600 จุด แต่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) เริ่มซึมตัวลงอย่างหนักอีกครั้งโดยลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 1,399.35 จุด ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดในรอบ 3 ปี (เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2566) และสิ่งที่น่ากังวลคือมูลค่าการซื้อขายรายวันที่ลดลงไปอย่างต่อเนื่อง

หากวิเคราะห์จากช่วงการปิดการซื้อขายวันที่ 27 พ.ย.2566 ซึ่งดัชนีอยู่ที่ 1,404.59 จุด แต่มีมูลค่าการซื้อขายรวมเพียง 27,388 ล้านบาทเท่านั้น เทียบกับช่วงต้นปี ซึ่ง SET มีมูลค่าการซื้อขายจะอยู่ที่ราว 56,002 ล้านบาท ซึ่งแตกต่างกันมากถึง 28,614 ล้านบาท

และยิ่งไปกว่านั้น หากมองในมุมของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market cap) จะพบว่า Market cap ของ SET ปรับตัวลดลงไปกว่า 3,436,302 ล้านบาท จากต้นปีมีมาร์เก็ตแคป 20,567,543 ล้านบาท ลงมาเหลือเพียง 17,131,241 ล้านบาท สาเหตุเป็นเพราะราคาหุ้นในแต่ละบริษัทลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม/ยานยนต์ และกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ/พาณิชย์ ที่ปรับตัวลดลงมากกว่าดัชนี

โดยสาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างหนักนั้น ‘Business+’ พบข้อมูลว่ามี 6 ประเด็นหลักๆ นั่นคือ

1. ความเชื่อมั่นในแง่ของความโปร่งใสของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน จากกรณีหุ้น MORE, STARK และ JKN โดยที่ 3 กรณีนี้ได้ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศลดลงอย่างมาก

โดยเฉพาะกรณีของ บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) ที่มีการซื้อขายหุ้นอย่างผิดปกติ จนสืบสาวราวเรื่องและกลายเป็นคดีฉ้อโกง/ปั่นหุ้น ซึ่งความผิดนี้คิดเป็นผลประโยชน์ที่กลุ่มผู้กระทำความผิดทั้งหมด 32 รายได้รับมูลค่าประมาณ 800 ล้าน

ส่วนประเด็นของ บมจ.สตาร์คคอร์เปอเรชั่น (STARK) เป็นการตรวจสอบพบความไม่โปร่งใสของงบการเงินด้วยการตกแต่งบัญชีจนมีรายได้ 1.7 หมื่นล้านบาทจากรายได้จริงเพียงแค่ 2 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการร่วมมือกันลงข้อความเท็จในบัญชีเอกสารของ STARK ของผู้บริหารและกรรมการรวม 10 ราย

และประเด็นของ JKN เป็นประเด็นของการบริหารการเงินของบริษัทที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดภาวะขาดสภาพคล่อง ส่งผลกระทบต่อลูกหนี้ จนต้องยื่นฟื้นฟูกิจการ และประเด็นร้อนแรงคือ การไม่ส่งหนังสือเชิญคณะกรรมการเข้าร่วมประชุมจนทำให้กรรมการลาออกไปถึง 5 คนพร้อมกัน

2. เงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ไหลออก โดยนับตั้งแต่ต้นปีเราพบข้อมูลว่า เม็ดเงินจากหุ้นไทยไปแล้วกว่า 186,07 ล้านบาท (YTD) ซึ่งสาเหตุเกิดจากช่วงการเลือกตั้ง ประเทศไทยเกิดสูญญากาศทางการเมือง เพราะใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนรัฐบาลนานเกินกว่า 100 วัน ซึ่งจะมีผลต่อการเบิกจ่ายงบเพื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนชั่วคราว เป็นสาเหตุที่ทำให้มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง

3. ไทยขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง โดยกนง.ได้ขึ้นดอกเบี้ยมา 8 ครั้งติดต่อกันในรอบ 12 เดือน จาก 0.5% สู่ 2.50% ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยก็จะทำให้บริษัทจดทะเบียนที่เป็นลูกหนี้กับสถาบันการเงินมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น (ดอกเบี้ยสูงขึ้น) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะบริษัทที่มีหนี้สินสูง และการที่กำไรสุทธิมีโอกาสปรับตัวลดลงก็ทำให้หุ้นไทยไม่น่าเข้าลงทุน

4. หุ้น IPO ซบเซา ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปี 66 ถึงปัจจุบัน มีบริษัทจดทะเบียนที่เสนอขาย IPO ทั้งหมด 37 บริษัท ด้วยมูลค่าระดมทุน 30,000.47 ล้านบาท ซึ่งในการซื้อขายวันแรกราคาต่ำกว่า IPO จำนวนมาก และมีหุ้นที่ยืนเหนือราคา IPO ได้เพียง 10 บริษัท และอีก 27 บริษัท ราคาอยู่ระดับต่ำกว่า IPO ซึ่งสาเหตุเกิดจากความไม่เชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทย ทั้งกรณีของ นักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุนหุ้นไทย รวมไปถึงความเชื่อมั่นผู้บริหารบริษัทในตลาดหุ้นไทยที่พบความไม่โปร่งใสติดต่อกัน

5. เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยเกิดจากนักท่องเที่ยวจีนที่ไม่ฟื้นตัว ซึ่งสาเหตุคือรัฐบาลจีนออกมาตการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และภาคอสังหาฯมีหนี้สูง และล่าสุดยังประกาศยกเลิกเที่ยวบินไปมากกว่า 5 พันเที่ยว รวมไปถึงภาวะภัยแล้งที่อาจจะรุนแรงกว่าที่ผ่านมา ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้ส่งผลกระทบต่อตัวเลข GDP ไทย และทำให้หุ้นไทยยังไม่น่าสนใจในสายตานักลงทุน

6. ข่าวการทำ Short Sell แบบผิดกฏหมาย หรือ Naked Short Sell ซึ่งหากเป็น Short Sell แบบปกติจะถือว่าไม่มีความผิด และไม่ได้ทำให้ตลาดหุ้นผันผวนอย่างรุนแรง แต่ Naked Short Sell มีความแตกต่างจาก Short Sell ปกติตรงที่มีการขายหุ้นออกไปโดยที่ไม่ได้มีการยืมหุ้นมาก่อน (Short Sell ปกติคือการยืมหุ้นจากโบรกเกอร์มาขาย และเมื่อราคาหุ้นลงมาต่ำกว่าต้นทุนก็ทำการซื้อคืนให้กับโบรกเกอร์ และได้รับเป็นกำไรส่วนต่าง) ซึ่งการทำ Naked Short Sell มีความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ โดยเฉพาะตัวการคือโบรกเกอร์ และผู้ดูแลบัญชี ซึ่งการกระทำนี้มีมูลค่าการซื้อขายสูง จึงกระทบต่อตลาดหุ้นจำนวนมาก และนักลงทุนรายย่อยในไทยได้หยุดเทรดในวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา ถึงแม้ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์จะชี้แจงว่ายังไม่พบข้อมูลแต่ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้กระทบต่อความเชื่อมั่นเป็นอย่างมาก

โดยทั้ง 6 ประเด็นนี้ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจน้อยลงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ถึงแม้ว่าตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงไปคล้ายกัน จากภาวะสงครามและการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเป็นผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนไปในระยะยาว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลาดหุ้นไทยติดลบมากกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ โดยเฉพาะในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ต้องบอกว่าตลาดหุ้นบ้านเรากำลังปั่นป่วนอย่างหนัก จน ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงการคลัง ต้องออกมา สั่งให้ไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เร่งดำเนินการไปถึงหัวขบวนรายใหญ่ เกี่ยวกับการทุจริตหุ้น STARK และหุ้นMORE อย่างเร่งด่วน เพราะมองว่าขณะนี้ความไว้วางใจในตลาดมีน้อยจึงต้องเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่น

และในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ฯ เราพบข้อมูลว่า ตลท.ได้อยู่ระหว่างการพิจารณานำหลักเกณฑ์ต่างๆที่จะดึงดูดนักลงทุนให้หันกลับมาลงทุนตลาดหุ้นไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์เพิ่มความเชื่อมั่นอย่างทบทวนเงื่อนไขเกณฑ์ Short Sell และโปรแกรมเทรด รวมไปถึงการเพิ่มความได้เปรียบในเชิงแข่งขันของตลาดอย่างการทบทวนเกณฑ์การซื้อขายด้วยเงินสด (cash account) ในกรณีการวางหลักประกันก่อนซื้อหลักทรัพย์ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ลงทุนรายย่อยและนิติบุคคลต่างประเทศที่ชำระราคาซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านคัสโตเดียนที่เป็นสมาชิกของสำนักหักบัญชี รวมทั้งจะพิจารณาปรับเกณฑ์ระยะเวลาส่งมอบหลักทรัพย์เป็นภายในวันที่ 2 ถัดจากวันขายหลักทรัพย์ (T+2) ให้เป็นเช่นเดียวกันสำหรับผู้ลงทุนทุกประเภท

โดยที่ Business+ มองว่า อีกหนึ่งเกณฑ์ปกป้องตลาดหุ้นที่น่าสนใจจากประเทศจีน คือ การออกนโยบายห้ามผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทจดทะเบียนขายหุ้น ซึ่งไม่กี่วันที่ผ่านมา สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ตลาดหุ้นปักกิ่ง (Beijing Stock Exchange) ได้บังคับใช้นโยบายใหม่ โดยห้ามไม่ให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นปักกิ่ง ทำการขายหุ้นที่ตนเองถือครองอยู่ เนื่องจากมีความกังวลว่าการเทขายหุ้นของผู้ถือหุ้นรายใหญ่เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อภาวะการซื้อขายในตลาด

ซึ่งเกณฑ์นี้จะถูกใช้กับผู้ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 5% หรือมากกว่า และต้องการจะขายหุ้นเหล่านี้ออกมาจะต้องทำการยื่นเอกสารเพื่อแจ้งให้คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์รับทราบ โดยคาดหวังว่าการเพิ่มขั้นตอนดังกล่าวนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการเทขายในหมู่ผู้ที่ถือหุ้นรายใหญ่ และเป็นการกระตุ้นการซื้อขายในตลาดหุ้นปักกิ่งให้คึกคักขึ้น

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : SETSMART
ติดตาม Business+ ได้ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
#thebusinessplus #BusinessPlus #SET #ตลาดหลักทรัพย์ #ตลาดหุ้นไทย #ตลาดหุ้น #STOCK