ในช่วงปี 2563 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เป็นภาวะที่ตลาดหุ้นผันผวนสูง และมูลค่าการซื้อขายหุ้นเฉลี่ยต่อวันเพิ่มสูงขึ้นเป็นวันละ 1 แสนล้านบาท จากเดิมมีการซื้อขายเฉลี่ยราว 5 – 6 หมื่นล้านบาท (ก่อนเกิดสถานะการณ์โควิด-19) ถึงแม้ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน 2564 มูลค่าการซื้อขายเริ่มย่อตัวลงมาเล็กน้อย แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 อยู่ดี
และมูลค่าที่ปรับตัวขึ้นส่งผลดีต่อรายได้ค่านายหน้าของธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ หรือ โบรกเกอร์ ที่เราเรียกกันว่าค่านายหน้าในการเทรดหุ้นนั่นแหละ
ซึ่งการแข่งขันของโบรกเกอร์ที่ผ่านมาเรียกได้ว่า ‘ดุเดือด’ สาเหตุเป็นเพราะปัจจุบันมีโบรกเกอร์หน้าใหม่เข้ามาในตลาดมากขึ้น ซึ่งเป็นทั้งบริษัทในไทย หรือมีทุนจากต่างประเทศ โดยผู้เล่นหน้าใหม่นี้ใช้รูปแบบของการซื้อขายออนไลน์เป็นตัวดึงลูกค้า นอกจากจะสะดวกรวดเร็วแล้ว ค่าธรรมเนียมในการซื้อขายยังต่างกันเกินครึ่งกับการซื้อขายผ่านนายหน้าในรูปแบบเดิม
ดังนั้น เมื่อลูกค้าเปลี่ยนการซื้อขายมาช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสการทำกำไร (รายได้-ต้นทุน = กำไร) จึงส่งผลให้ผู้เล่นหน้าเดิมในตลาด ต้องปรับกลยุทธ์ หรือปรับค่าธรรมเนียมลง เพื่อชิงส่วนแบ่งทางการตลาดคืน
มาดูกันที่แชมป์อย่าง ‘บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร’ ที่มีส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) เป็นอันดับที่ 1 ในปัจจุบัน โดยมีบริษัท เคเคพี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทยเป็นบริษัทใหญ่ และมีธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP เป็นบริษัทใหญ่สูงสุดของกลุ่มบริษัท
ถึงแม้การเปิดบัญชี (พอร์ต) ของ บล.เกียรตินาคินภัทร จะมีขั้นต่ำคือ 2 ล้านบาท แต่ค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านอินเทอร์เน็ตของ บล.เกียรตินาคินภัทร แบบวางเงินสดเต็มจำนวน (Cash Balance) นั้นถือว่าไม่ต่างกับรายอื่น
– หากต่ำกว่าหรือเท่ากับ 5 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 0.15%
– มากกว่า 5 ล้านบาท แต่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 0.13%
– มากกว่า 10 ล้านบาท แต่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 20 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 0.11%
เทียบกับค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านเจ้าหน้าที่การตลาด
– หากต่ำกว่าหรือเท่ากับ 5 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 0.25%
– มากกว่า 5 ล้านบาท แต่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 0.22%
– มากกว่า 10 ล้านบาท แต่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 20 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 0.18%
โดยในปี 2563 บล.เกียรตินาคินภัทร มีกำไรสุทธิที่ระดับ 1,217 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 291.58 ล้านบาท (+31.49%) จากปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 925.68 ล้านบาท
มาดูกันว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้กำไรสุทธิ บล.เกียรตินาคินภัทร โตกระฉูด
สาเหตุมาจากมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันในตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ MAI เท่ากับ 68,607 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งเท่ากับ 53,192 ล้านบาท ส่งผลให้ บล.เกียรตินาคินภัทร มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน (ไม่รวมบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท) เพิ่มขึ้นเป็น 13,323 ล้านบาทในปี 2563 (เพิ่มขึ้น 50.82% จากปีก่อน) และมีรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ 1,421.51 ล้านบาทในปี 2563
อีกทั้งมีรายได้ค่านายหน้าจากการเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจำนวน 225.82 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 147.69 ล้านบาทในปีก่อน
รวมถึงมีรายได้ค่านายหน้าอื่น 10.55 ล้านบาท ซึ่งมาจากรายได้จากการเป็นตัวแทนในการรับซื้อหลักทรัพย์ (Tender Offer Agent) 7.39 ล้านบาท และรายได้ค่านายหน้าอื่นๆ 3.16 ล้านบาท
หนึ่งในความสำเร็จสำหรับการขึ้นเป็นผู้นำกลุ่ม ที่มีส่วนแบ่งการตลาดที่ 10.85% เป็นอันดับที่ 1 จากหลักทรัพย์ทั้งหมด 38 แห่ง มาจากความน่าเชื่อถือ ในแง่ของความหลากหลายของธุรกิจ โดยมีธุรกิจหลักทั้งหมด 6 ขาคือ
– วานิชธนกิจ (ทำหน้าที่ระดมเงินทุน, ซื้อขายหลักทรัพย์, บริหารการควบรวมและซื้อกิจการให้กับบริษัทต่างๆ )
– หลักทรัพย์สถาบัน (ซื้อขายและปฏิบัติการหลักทรัพย์สถาบัน เช่น สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ยืมและให้ยืมหลักทรัพย์)
– ลูกค้าบุคคล (ให้บริการที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล เพื่อช่วยดูแลและบริหารความมั่งคั่งให้กับลูกค้า)
– บริหารเงินลงทุน (บริหารการลงทุนให้ผลตอบแทนลูกค้าดีอย่างสม่ำเสมอ สอดคล้องไปกับวัตถุประสงค์ลงทุน)
– การลงทุนและค้าหลักทรัพย์ (เป็นหน่วยงานจัดการการลงทุนระยะยาว โดยยึดหลักการในการลงทุนที่เน้นถึงปัจจัยพื้นฐานระยะยาวของบริษัทที่จะเข้าทำการลงทุน)
– งานวิจัย (ภัทรเผยแพร่บทวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจมหภาคและหุ้นรายตัว รวมทั้งให้คำแนะนำการลงทุน)
และมีใบอนุญาต 8 ประเภท ได้แก่ การค้าหลักทรัพย์ ,การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน ,การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ,การจัดการกองทุนส่วนบุคคล (กองทุนส่วนบุคคล) ,กิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (เฉพาะ Principal) ,การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ,การเป็นผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และการเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
โดยความโดดเด่นในช่วงที่ผ่านมาคือ ช่วงปี 2546-2547 (18 ปีที่ผ่านมา) ประสบความสำเร็จในธุรกรรมสำคัญหลายธุรกรรมด้วยกัน โดยเป็นผู้ระดมทุนให้กับบริษัทใหญ่ ระดับท็อปของตลาดหุ้นไทย ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ,บริษัท ซีพี เซเว่น อีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ ยังเป็นผู้เสนอขายหุ้นของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แก่ประชาชนทั่วไปอีกด้วย นั่นทำให้ บล.เกียรตินาคินภัทร มีชื่อเสียงที่ดีมาโดยตลอด
นอกจากนี้ อีกสิ่งที่ดึงดูดให้เทรดเดอร์มาเปิดพอร์ตซื้อขายหุ้นกับ บล.เกียรตินาคินภัทร คือ โอกาสในการเข้าลงทุนในหุ้นที่บริษัทเป็นผู้จัดจำหน่าย เช่น IPO/PO/AGT (เพราะเคยทำดีล หรือส่งบริษัทรายใหญ่เข้าตลาดมาก่อน ความเชื่อมั่นจึงสูง โอกาสได้รับหุ้นจากบริษัทพื้นฐานดีจึงสูงตาม)
และอีกสิ่งที่สำคัญคือ การเปิดพอร์ตกับ บล.เกียรตินาคินภัทร จะได้รับบทวิเคราะห์จากนักวิเคราะห์ชั้นนำของบริษัท และสามารถเข้าถึงบทวิเคราะห์จากนักวิเคราะห์ทั่วโลกของ Bank of America – Merrill Lynch
นอกจากนี้ บทวิเคราะห์จาก บล.เกียรตินาคินภัทร ถูกพูดถึงกันเป็นจำนวนมากจากวิจัยหลายๆ เรื่อง ซึ่งถือว่ามีความโดดเด่น ในแง่ของการวิเคราะห์เศรษฐกิจทั้งภาพรวม และรายกลุ่ม นั่นเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ บล.เกียรตินาคินภัทร มีมาร์เก็ตแชร์สูงสุดขึ้นมาได้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2562-2564)
อีกหนึ่งรายที่เห็นภาพได้อย่างชัดเจนคือ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI โดยข้อมูลล่าสุด (สิงหาคม 2564) ทาง เคจีไอ มีมาร์เก็ตแชร์ 7.85% เป็นอันดับ 2
ล่าสุด ในไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทมีรายได้ไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ 1,702.54 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 713.73 ล้านบาท (จากปีก่อนขาดทุนสุทธิ 507.728)
ซึ่งรายได้ที่เติบโตขึ้นมาจากรายได้ค่านายหน้า 344 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงถึง 45% เทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน สาเหตุมาจากรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ 265 ล้านบาท และค่านายหน้าจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 79 ล้านบาท ซึ่งการเติบโตมาจากมูลค่าการซื้อขายรายวันเฉลี่ยของ SET และ TFEX เพิ่มขึ้น และส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
โดย เคจีไอ ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ และมีใบอนุญาต 5 ประเภท ได้แก่
1) ธุรกรรมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์
2) ธุรกรรมค้าหลักทรัพย์
3) ธุรกรรมที่ปรึกษาการลงทุน
4) ธุรกรรมการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และ
5) ธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์
สำหรับค่าธรรมเนียมรวมที่เก็บจากลูกค้า (ค่านายหน้า+ค่าธรรมเนียม) ผ่านอินเทอร์เน็ตของ บล.เคจีไอ บัญชี Cash Balance หรือแบบที่ต้องวางเงินไว้ก่อน 100% มีเรทดังนี้
– หากต่ำกว่าหรือเท่ากับ 5 ล้านบาท ค่านายหน้าอยู่ที่ 0.157%
– มากกว่า 5 ล้านบาท แต่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 0.137%
– มากกว่า 10 ล้านบาท แต่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 20 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 0.117%
– มากกว่า 20 ล้านบาทขึ้นไป ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 0.107%
เทียบกับค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านเจ้าหน้าที่การตลาด
– หากต่ำกว่าหรือเท่ากับ 5 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 0.257%
– มากกว่า 5 ล้านบาท แต่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 0.227%
– มากกว่า 10 ล้านบาท แต่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 20 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 0.187%
– มากกว่า 20 ล้านบาทขึ้นไป ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 0.157%
โดยจุดแข็งของ เคจีไอ คือการบริษัทเป็นบริษัทหลักทรัพย์แห่งแรกในประเทศไทยที่ให้บริการธุรกรรมยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ ทั้งในฐานะตัวการ (Principal) และในฐานะนายหน้าหรือตัวแทน (Agent) อีกทั้งบริษัทเป็นบริษัทหลักทรัพย์แห่งแรกในประเทศไทยที่ให้บริการธุรกรรมด้านอนุพันธ์นอกตลาด (OTC Derivatives)
และเป็นบริษัทหลักทรัพย์แห่งแรกและแห่งเดียวที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลสภาพคล่อง และเป็นผู้ร่วมค้าหน่วยลงทุนของกองทุนอิควิตี้อีทีเอฟกองแรกของประเทศไทย (ไทยเด๊กซ์ เซ็ท 50 อีทีเอฟ) อีกทั้งเป็นบริษัทหลักทรัพย์รายแรกในประเทศไทยที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrants: DW) และเป็นบริษัทหลักทรัพย์แห่งแรกที่เป็นผู้บุกเบิกการทำธุรกรรมซื้อคืนตราสารหนี้ภาคเอกชน (Private Repo)
จะเห็นว่า เคจีไอ มีจุดแข็งคือการเป็นบริษัทหลักทรัพย์แห่งแรกที่บุกเบิกการทำธุรกรรมต่างๆ มากมาย ทำให้มีความเชื่อถือสูง และมีนักลงทุนที่เป็นลูกค้าเดิมจำนวนมาก แถมค่าคอมฯ ของ เคจีไอ ก็ไม่ต่างกับรายอื่นมากนัก
มาดูค่าคอมฯ ของ บล.บัวหลวง ซึ่งมีมาร์เก็ตแชร์อันดับที่ 3 กันบ้าง สำหรับการซื้อขายบัญชีประเภท Cash Balance (ไม่กำหนดขั้นต่ำในการลงทุน) อัตราค่าธรรมเนียม 0.15% (ไม่รวม VAT) และไม่มีค่าธรรมเนียมขั้นต่ำจำนวน 100 บาท หากส่งคำสั่งเองทาง internet และใช้บริการ E-Services (รับใบยืนยันการซื้อขายผ่านทาง Email) แต่หากไม่เข้าเงื่อนไข 2 ข้อดังกล่าว จะคิดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ 100 บาท/วัน
สำหรับบัญชีประเภท Cash Collateral อัตราค่าธรรมเนียม 0.20% (ไม่รวม VAT) และมีค่าธรรมเนียมขั้นต่ำจำนวน 100 บาท/วัน
กรณีส่งคำสั่งผ่านทางเจ้าหน้าที่การตลาด ทั้งบัญชีประเภท Cash Balance และ Cash Collateral อัตราค่าธรรมเนียม 0.25% (ไม่รวม VAT) และมีค่าธรรมเนียมขั้นต่ำจำนวน 100 บาท/วัน
โดยอัตราดังกล่าวยังไม่รวมค่าธรรมเนียมตลาดหลักทรัพย์ฯ (Trading Fee) 0.005%, ค่าธรรมเนียมการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ (Clearing Fee) 0.001% และค่าธรรมเนียมการกำกับดูแล (Regulatory Fee) 0.001% รวม 0.007% ของมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ต่อวัน
ทั้งนี้จะเห็นว่าทั้ง 3 บริษัทหลักทรัพย์ที่ถือว่ามีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด 3 อันดับแรก มีค่าธรรมเนียม ค่านายหน้าที่ไม่แตกต่างกันมากนัก แต่หากเมื่อเทียบกับโบรกเกอร์หน้าใหม่
อย่าง บริษัทหลักทรัพย์จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) จำกัด (ZCOM) ซึ่งค่านายหน้าซื้อขายผ่านออนไลน์เพียง 0.065% และบริษัทหลักทรัพย์ เอสบีไอ ไทย ออนไลน์ จำกัด (SBITO) เพียง 0.075% และไม่มีขั้นต่ำในการเข้าลงทุน จะเห็นความแตกต่างค่อนข้างมาก
“ซึ่งจุดนี้จะทำให้เทรดเดอร์ต้องเลือกที่จะใช้บริการ เพราะค่าธรรมเนียม และค่านายหน้าที่ต่ำก็เป็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นสำหรับการลงทุนได้เช่นกัน และหากการแข่งขันของโบรกเกอร์ในอนาคตยังคงดุเดือดต่อไป บริษัทโบรกเกอร์รายใหญ่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อเหนี่ยวรั้ง และดึงดูดลูกค้าเอาไว้ เพราะหากถูกชิงส่วนแบ่งการตลาดไปก็จะทำให้ความได้เปรียบในการแข่งขันลดลงไป”
ที่มา : https://wealthmanagement.kkpfg.com/landingpage/AccountDetails
https://www.kgieworld.co.th/corporate/openaccount/commission
ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHC